ข้าวโพดกับวิกฤติฝุ่นควันนรก pm2.5 แม่สาย จ.เชียงราย

ข้าวโพดกับวิกฤติฝุ่นควันนรก pm2.5 แม่สาย จ.เชียงราย

วิกฤติฝุ่นควันนรก pm2.5 อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไม่ใช่แค่การเผาในจังหวัดชายแดน ยังโยงไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ต้นตอการปลูกข้าวโพด พืชเศรษฐกิจและการเมือง

แม่สาย เป็นเมืองที่น่าสงสารน่าเห็นใจที่สุด เพราะตัวเองไม่มีแหล่งกำเนิดความร้อนใดๆ แต่รับผลกรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อมากกว่าใครเพื่อน เพราะเป็นเมืองหน้าด่านชายแดนของจังหวัดเชียงราย ลมเปลี่ยนทิศมากลางมีนาคมรับผลกระทบทันที...และแบบจั๋งหนับด้วย

ค่าอากาศนรกแตกของแม่สายในปีนี้ เริ่มไต่ขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2566  พอวันที่ 25 มี.ค.ค่าเฉลี่ยขึ้นไป 547 ไมโครกรัม/ลบ.ม. นั่นว่ามากแล้ว

พอวันที่ 26 มี.ค.ขึ้นไปอีกที่ 754 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และยืนอยู่บนนรกแถวๆ นั้นจนถึง 28 มี.ค. ค่อยๆ ลดลงมาหน่อย ซึ่งต่อให้ลดลงหากค่าฝุ่น pm2.5 เกิน 200 ไมโครกรัมมันก็แสบปากแสบคออยู่แล้ว รวมๆ ที่แม่สายอยู่ในสภาพสาหัสเกิน 10 วันในเดือนมีนาคม

 

ข้าวโพดกับวิกฤติฝุ่นควันนรก pm2.5 แม่สาย จ.เชียงราย เมืองกลางฝุ่นควัน pm2.5 ที่จังหวัดเชียงราย 

ทิศทางลมบ่งบอกว่า ควันไฟ ที่พัดลมมายังแม่สาย มาจากทิศตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่แหล่งกำเนิดฝุ่นแหล่งไฟละแวกที่ว่า เกิดบนภูเขาสูงของที่ราบสูงของฉานโยมา ในเขตรัฐฉานตะวัน ออกคลุมไปถึงเมืองต่วน เมืองสาด เมืองเปง และชายเขตเชียงตุง

ในช่วงปลายเดือนมีนาคม รัฐฉานตะวันออกระดมเผากันมาก เดือนมีนาคมเป็นเดือนเผาสูงสุดซึ่งทันทีที่ลมตะวันตกเริ่มพัดแม่สายที่เป็นด่านหน้าจะอยู่ภายใต้หมอกควันขาวปกคลุมมองไม่เห็นท้องฟ้าแม้ภาพถ่ายยังเหลืองขุ่น

ในช่วงนั้นมีผู้ได้รับผลกระทบมากมีภาพข่าวเด็กเลือดกำเดาไหล ผู้ป่วยแน่นโรงพยาบาล ถึงขนาดมีการรวมกันประท้วงขอให้รัฐเร่งจัดการปัญหาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่บริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 

คนที่สนใจปัญหา อย่างชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแม่สาย ระบุว่า แหล่งกำเนิดมลพิษแม่สายคือ การเผาไร่ข้าวโพดข้ามแดนมา คนท้องถิ่นทราบดีว่าข้าวโพดเป็นพืชสำคัญราคาดีที่เขาปลูกและส่งออกกลับมายังประเทศไทย ถ้าจะแก้ปัญหาให้ตรงต้องแก้จุดนี้

แม้คนท้องถิ่นจะรู้ทั้งรู้ว่าสาเหตุปัญหาคืออะไร ... แต่ดูเหมือนเรื่องจะไม่ง่ายเลย !

  • ดอยหัวโล้นเพราะปลูกข้าวโพด

ปลูกข้าวโพด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าสำคัญวัตถุดิบที่ธุรกิจอาหารสัตว์ และสัตว์แช่แข็งส่งออกที่มีขนาดมูลค่าตลาดรวมกันเกิน 3 แสนล้านบาท /ปี  แต่ละปีประเทศไทยผลิตข้าวโพดไม่พอต้องนำเข้า

แม้ว่าจะมีวัตถุดิบทดแทนได้เช่นข้าวสาลี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกการปลูกข้าวโพดเพราะข้าวสาลีก็มีวงจรราคา บางปีราคาสูงก็ต้องหันไปใช้ข้าวโพด ยิ่งตลาดส่งออกยิ่งเติบโต ความต้องการข้าวโพดก็ยิ่งเพิ่ม

ข้าวโพดกับวิกฤติฝุ่นควันนรก pm2.5 แม่สาย จ.เชียงราย ข้าวโพด พืชเศรษฐกิจ ที่มีการปลูกที่แม่สายและประเทศเพื่อนบ้าน

หลายปีก่อนราคาข้าวโพดอยู่แค่กิโลกรัมละ 5 บาทก็ขยายพื้นที่ปลูกจนดอยหัวโล้นไปหมดแต่นี่ราคาก็ยังเพิ่มขึ้นๆ ต่อเนื่องจนล่าสุดปีนี้ เป็นนิวไฮ ราคาหน้าโรงงานเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเกิน 12 บาท/ก.ก. นั่นยิ่งส่งสัญญาณให้การปลูกขยายตัวเพิ่มทั้งในและนอกประเทศ

ข้าวโพดเป็นสินค้าเกษตรนำเข้าลำดับหนึ่งของด่านแม่สอด (ตาก) และด่านแม่สาย (เชียงราย) ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคมของทุกปี  เพราะช่วงดังกล่าวเป็น 7 เดือนที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าเกษตรภายใต้ข้อตกลง AFTA   รถบรรทุกมากมายแน่นด่านเพื่อรอส่งข้าวโพดมายังประเทศไทย

การขยายพื้นที่ปลูกในรัฐฉานเกิดขึ้นจริงจังนับจากปี 2011 ที่เริ่มมีนโยบายเจรจากับชนกลุ่มน้อยปฎิรูปการเมืองให้มีการเลือกตั้ง แม้ว่าบัดนี้รัฐฉานยังไม่สงบเรียบร้อยทั้งหมด แต่โซนฉานตะวันออกก็มีความมั่นคงเพียงพอให้เกิดการขยายพื้นที่ทำกินอย่างขนาดใหญ่ พร้อมๆ กับสถิตการส่งออกข้าว /ข้าวโพด ไปประเทศจีน และข้าวโพดมายังไทย

เมื่อปี 2563/64 จีนปิดด่านเพราะโควิด งดรับซื้อข้าวโพดในปีนั้น ข้าวโพดพม่าแทบทั้งหมดถูกส่งเข้ามายังชายแดนไทย

ปลูกข้าวโพด ขยายการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน

ข้าวโพดเป็นพืชการเมือง การที่จู่ๆ จะอ้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพให้ยกเลิกนำเข้าเลยนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะผลกระทบด้านการส่งออกและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องก็ยันอยู่ ใครๆ ก็รู้ว่าวงการนี้ต้องมีอิทธิพลการเมืองหนุน

การต่อรองโควตานำเข้า นอก AFTA   ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่น หากบางปีมีความต้องการสูง ราคาข้าวโพดเพื่อนบ้านต่ำกว่าราคาข้าวสาลี ก็จะมีการต่อรองกับกระทรวงพาณิชย์อ้างเรื่องอาหารสัตว์ขาดแคลนกระทบต้นทุนการส่งออกขอนำเข้าข้าวโพดนอก AFTA ก็มีให้เห็น ความต้องการข้าวโพดยังเป็นช่วงขาขึ้น ยังต้องการเพิ่มเรื่อยๆ และราคาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ภาวะดังกล่าวก็ยิ่งมีผลต่อการขยายการเผาภาคเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าถึงขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขสถิติการปลูกข้าวโพดในรัฐฉานของปีนี้ออกมา แต่เชื่อแน่ว่า ด้วยระดับราคาที่สูงขึ้น ทำให้พื้นที่ปลูกขยายตัวแน่นอน และยังหมายความว่าสถิติจุดความร้อนและพื้นที่ไหม้ burnt scars ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ก็รู้ทั้งรู้ว่า สาเหตุหลักของควันข้ามแดนที่มาโจมตีแม่สาย คือ ไฟภาคเกษตรโดยเฉพาะข้าวโพด แต่เหตุไฉนหลายปีมานี้ จึงไม่มีการขยับตัวใดๆ ของภาครัฐที่เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากพอมีเวทีเล็กเวทีน้อย ก็เสนอเรื่องพอเป็นพิธีเข้าสู่ที่ประชุม

และทั้งๆ ที่มาตรการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาฝุ่นละอองปี 2562 ก็เขียนถึงฝุ่นข้ามแดนและให้มีการเจรจาระดับประเทศ และระดับอาเซียนเอาไว้แล้ว

นั่นก็เพราะยังไม่มี'ใคร' เคยเอาจริงในปัญหานี้ ทั้งภาคนโยบายฝ่ายการเมืองและภาคราชการประจำ !

ข้าวโพดกับวิกฤติฝุ่นควันนรก pm2.5 แม่สาย จ.เชียงราย

ปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ข้ามแดน

ปัญหาฝุ่นควันได้ยกระดับใหญ่ๆขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเป็นที่สนใจกว้างขวางขึ้นจากกลุ่มคนในภาคเหนือหรือแต่ในเมืองหลวง และระดับความรุนแรงของปัญหาก็ถูกนำเสนอต่อสาธารณะมากขึ้นจนเป็นวาระสำคัญด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ทุกวงต้องหยิบขึ้นมาเอ่ยถึง

อย่างไรเสียปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนก็จะต้องถูกยกขึ้นพิจารณา จากสภาพปัญหารุนแรงที่ปิดไม่ไหว ถามว่า แล้วจะแก้อย่างไร ?  

คำถามนี้เป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขนาดมหึมาในประเทศก็ภูเขาลูกหนึ่งแล้ว การจะไปทำอะไรๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งเป็นความยากระดับภูเขาอีกลูกหนึ่ง เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีอธิปไตยของตน

ความเป็นไปได้ที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็คือ กรณีควันข้ามแดนจากอินโดนีเซียไปยังสิงคโปร์มาเลเซียมีการฟ้องร้องเอกชนผู้ก่อมลพิษโดยรัฐบาลสิงคโปร์

ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียเองก็ฟ้องบริษัทในประเทศที่ปล่อยให้เกิดการเผาแปลงปาล์ม/สาคูของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต นั่นก็คือ มีความเอาจริงเอาจังในระดับนโยบาย หรือ Political Will เสียก่อน

ข้าวโพดกับวิกฤติฝุ่นควันนรก pm2.5 แม่สาย จ.เชียงราย เมืองที่เปลี่ยนไป แทบมองไม่เห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม เพราะปัญหาฝุ่นควันจ.เชียงราย

สำหรับประเทศไทยแรงกดดันทางสังคมคงต้องมากพอที่จะหนุนหลังฝ่ายนโยบายให้เกิดเจตจำนงทางการเมืองในระดับที่จะจัดการปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนเรื่องนี้ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ข้าวโพดเป็นพืชการเมืองและเป็นผลประโยชน์ GDP ระดับแสนๆล้านบาท

ส่วนจะเกิดมีมาตรการใดที่เป็นมรรคผล เพื่อกดดันให้เกิดการลดขนาดการเผา บรรเทาผลกระทบลงมา อันที่จริงมีตัวอย่างมากมายในโลกที่เขาทำกันไม่ใช่แค่กรณีควันข้ามแดนอินโดนีเซีย/สิงคโปร์เท่านั้น มาตรการกีดกันทางการค้าโดยอาศัยเงื่อนไขด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมีมากมายให้ศึกษาเป็นตัวอย่าง.