นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนทางการเมือง | เอื้อมพร พิชัยสนิธ

นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนทางการเมือง | เอื้อมพร พิชัยสนิธ

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในขณะที่เราเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แต่เกิน 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุยังมีฐานะยากจน ด้วยโครงสร้างประชากรที่คนทำงานวัยใกล้เกษียณมีสัดส่วนเกินครึ่งของคนทำงานทั้งหมด

 จึงมีแนวโน้มที่สูงกว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อนหน้านี้ที่สังคมจะหันมาเห็นพ้องต้องกันว่า สวัสดิการผู้สูงอายุเป็นสิทธิพึงได้ของประชาชน ไม่ใช่เป็นการสงเคราะห์

กระแสปัจจุบันในเรื่องนี้ได้สะท้อนออกมาอย่างเด่นชัด จากปรากฏการณ์ที่หลายๆ พรรคการเมือง ชูความสำคัญในการนำเสนอแนวนโยบายสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุให้เป็นหนึ่งในนโยบายลำดับต้น ๆ  

    ก่อนอื่น คงต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่า เรามีวัตถุประสงค์สำคัญร่วมกัน คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนสูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว มีอย่างน้อยสองเงื่อนไขที่จะขาดมิได้คือ

 

 (1) นโยบายต้องทำได้จริง ตามขีดความสามารถของประเทศ และ (2) ประชาชนต้องรับทราบความจริงว่าจะได้อะไร และจะเสียอะไร และยอมรับนโยบายนั้น

ในส่วนของนโยบายต่าง ๆ ที่แต่ละพรรคการเมืองได้นำเสนอเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุ  สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ (1) กลุ่มนโยบายการเพิ่มรายได้ของผู้สูงอายุ เช่น เบี้ยหรือบำนาญผู้สูงอายุ การออมระยะยาว การพัฒนาผลิตภาพประชากร ฯลฯ 

(2) กลุ่มนโยบายการลดค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ เช่น เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากภาครัฐ การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ การดูแลระยะยาว (Long-term care) และ การดูแลโดยครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่น ฯลฯ    

นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนทางการเมือง | เอื้อมพร พิชัยสนิธ

หากจะกล่าวถึงนโยบายบำนาญผู้สูงอายุ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนโยบายการเพิ่มรายได้ของผู้สูงอายุ ซึ่งก็มีคำถามตามมาคือเท่าไรถึงจะพอ ในการนี้ จำเป็นต้องพิจารณานโยบายในภาพรวมแบบบูรณาการ คือทั้งฝั่งนโยบายการเพิ่มรายได้ และนโยบายการลดค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุทั้งหมด ว่าสุทธิแล้ว เพียงพอหรือไม่  

    ทีนี้ ก็ต้องมาดูเรื่องขีดความสามารถของประเทศว่า เราจะหารายได้จากที่ไหนมาสนับสนุน มีข้อถกเถียงเรื่องการขึ้นภาษีต่าง ๆ

ซึ่งนำมาถึงจุดที่ผู้เขียนเน้นย้ำว่าสำคัญที่สุด คือประชาชนจะต้องได้รับทราบความจริงและยอมรับว่าจะได้อะไร และจะเสียอะไร เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ได้มาฟรี โดยในส่วนที่จะต้องเสียอะไร มีการกล่าวถึงกันไม่ชัดเจนเท่ากับในฝั่งของการจะได้อะไร 

    ในหลายๆประเทศ เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ เป็นที่ทราบกันดีว่า ประชาชนได้รับสวัสดิการมาก แต่ก็ต้องจ่ายภาษีมากเช่นกัน  งบประมาณการใช้จ่ายในเรื่อง old-age cash pension ของประเทศ OECD มีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6-8 ของ GDP หรือประมาณ ร้อยละ18-20 ของรายจ่ายรัฐบาล  (ในขณะที่ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.5 ของ GDP หรือ ประมาณร้อยละ 2 ของรายจ่ายรัฐบาล)

 รูปแบบดังกล่าวเป็นทางเลือกของประชาชนเองซึ่งยอมรับทั้งในฝั่งที่จะได้อะไรและจะเสียอะไร ซึ่งส่งสัญญาณผ่านกระบวนการทางเมืองที่เลือกผู้แทนมาทำหน้าที่บริหารประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  แต่ในทางกลับกัน อย่างเช่น เมื่อเร็วๆนี้ ในประเทศฝรั่งเศส มีการออกนโยบายด้านผู้สูงอายุ ซึ่งประชาชนไม่ได้สนับสนุน ก็เกิดการประท้วง การดำเนินนโบายไม่ราบรื่น    

นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนทางการเมือง | เอื้อมพร พิชัยสนิธ

    ย้อนกลับมาดูประเทศไทย ในการแถลงนโยบายการใช้จ่ายของแต่ละพรรคการเมืองในทุกเรื่อง ได้มีการกล่าวถึงแหล่งที่มาของเงินงบประมาณจากแหล่งเดียวกันหมด คือ (1) เพิ่มภาษี (2) ลดรายจ่าย หรือ (3) เพิ่มหนี้สาธารณะ

หากทุกนโยบายจะใช้เงินในถังเดียวกันตรงนี้ที่มีอยู่จำกัด แล้วจะเหลืองบประมาณสำหรับนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุได้มากน้อยเพียงใด เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนที่เหมาะสมที่สุดด้วย

    หากพิจารณาแบบบูรณาการ นโยบายแต่ละชุดย่อมมีต้นทุนที่แตกต่างกัน และในส่วนของนโยบายเพิ่มรายได้ ก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะการแจกเงินเสมอไป อาจจะมีนโยบายอื่น ๆ เช่น การเพิ่มศักยภาพและทางเลือกการทำงานหลังเกษียณ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกมากพอสมควร โดยใช้งบประมาณที่ต่ำกว่าในการสนับสนุนการทำงานของผู้สูงอายุที่อยากทำงาน

ดังนั้น หากพิจารณาทุกมาตรการในภาพรวม แล้วกลับมาดูในส่วนของบำนาญผู้สูงอายุในระดับที่เพียงพอ ก็อาจจะใช้งบที่สนับสนุนลดน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ได้  

    นอกจากนี้ การกล่าวถึงผลทวีคูณทางเศรษฐกิจจากนโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ประเด็นที่พึงระวังคือในบางสถานการณ์ เช่น กรณีที่มีความไม่แน่นอนสูง การจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นดังเช่นผลทวีคูณที่คาดการณ์ไว้เสมอไป

ประชาชนพึงควรรับทราบถึงต้นทุนที่แท้จริงและความไม่แน่นอนในการได้รับผลประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ด้วย

    สุดท้ายนี้ เพื่อให้นโยบายประสบความสำเร็จและยั่งยืน ฝ่ายการเมืองต้องทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายราชการผู้เข้าใจถึงปัญหาเชิงปฏิบัติ นักวิชาการในเชิงหลักการที่ถูกต้อง และที่สำคัญที่สุดคือประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เพื่อผลักดันให้นโยบายออกมาอย่างเป็นรูปธรรม.