'ปลาส้มวังธรรม' ความยั่งยืนครบวงจร มุ่งสู่ Namsom food & Herbland
การนำความรู้จาก 'โครงการพลังชุมชน' เอสซีจีมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาความรู้ การทำตลาด และแบ่งปันสู่ชุมชนโดยรอบ ส่งผลให้ กลุ่มวิสาหกิจวังธรรมผลิตและแปรรูปปลาครบวงจร อ.น้ำโสม จ. อุดรธานี (ปลาส้มวังธรรม) โดยการนำของ ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์ สามารถทำตลาดได้ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ
Key Point :
- ความฝันที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดให้เป็น Namsom food & Herbland เริ่มจากความรู้และวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีอย่างการทำปลาส้ม ชวนให้ ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์ ลาออกจากราชการในวัย 42 ปี
- 6 ปีของการกลับบ้านเกิด และเข้าปีที่ 5 ของการเข้าโครงการพลังชุมชน เอสซีจี พัฒนาให้ กลุ่มวิสาหกิจวังธรรมผลิตและแปรรูปปลาครบวงจร อ.น้ำโสม จ. อุดรธานี (ปลาส้มวังธรรม) สามารถทำตลาดได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
- อีกทั้ง มีการส่งเสริมให้ชุมชนเลี้ยงปลาเพื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาส้ม สร้างรายได้ให้ชุมชนเฉลี่ย 200,000-300,000 บาทต่อเดือน และถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชนรุ่นหลังต่อไป
เพราะความฝันคือการกลับมาอยู่บ้านเกิด ผลักดันให้ 'ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์ หรือพี่เก๋' ประธานกลุ่มวิสาหกิจวังธรรมผลิตและแปรรูปปลาครบวงจร อ.น้ำโสม จ. อุดรธานี (ปลาส้มวังธรรม) ในวัย 48 ปี อดีตทหารอากาศ ที่ตัดสินใจลาออกจากราชการ ตั้งแต่ในวัย 42 ปี เพื่อเติมเต็มความฝันของตัวเอง ด้วยเป้าหมายว่าอยากจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดให้ก้าวสู่ Namsom food & Herbland โดยเริ่มจากสิ่งที่ถนัด คือ การทำปลาส้ม
“ที่ผมตัดสินใจลาออก เพราะมีความฝันตั้งแต่เด็ก ผมไม่สามารถเป็นครูได้ เพราะว่าน้องชายต้องเรียนวิศวะฯ น้องสาวก็ต้องเรียนต่อ ทุนการศึกษาไม่พอ จึงต้องไปเป็นทหาร บรรจุที่กรมช่างโยธาทหารอากาศ ความฝันที่จะกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดไม่ได้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปี แต่มาจากวางแผนตั้งแต่อายุ 22 ปี เรารู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ เพราะต้นทุนชีวิตของเราอยู่ที่นี่”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- บ้านสาแพะ จ.ลำปาง เปลี่ยน 'ภัยแล้ง' เป็นทางรอด เพิ่มรายได้ชุมชน 5 เท่า
- เหยียบความกลัวไว้กับดิน ‘ครูอ้อ’ ผู้พลิกวิกฤติชีวิต ด้วยงาน 'หัตถกรรม'
- ‘แม่หนิงภูดอย’ เปลี่ยนชีวิตติดลบ ด้วย 'คุกกี้' กุ๊กไก่ไส้สับปะรด
ช่วงรับราชการ 16 ปี ในกรุงเทพฯ เรียกว่าเป็นชีวิตที่ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องทำทุกวิธีเพื่อหาทางรอดเนื่องจากเงินเดือนไม่พอใช้ โดนโกง ล้มละลาย ไม่มีใครให้ยืมเงิน เป็นหนี้หลักล้าน ทั้งนอกระบบและในระบบ กระทั่งเห็นว่าปลาส้มเป็นสินค้าที่ค่อนข้างได้รับความนิยม จึงเริ่มลองทำออกขายที่ตลาดในเวลาว่าง ความพิเศษของปลาส้มพี่เก๋ คือ คั้นด้วยมือเท่านั้น แต่ทุกอย่างก็ตามมาด้วยปัญหาสุขภาพ
“ตอนนั้นทำปลาส้มขาย แต่ยังไม่มีการทำการตลาด เราแค่อยากขาย โดยขายที่ตลาดนัด รายได้จากปลาส้มตอนนั้นวันละประมาณ 30,000 หมื่นบาท แต่เหนื่อยมาก ภรรยาต้องนอนโรงพยาบาลเพราะตื่นตี 3 ตี 4 ทุกวัน ทำให้เราคุยกันว่า กลับบ้านดีกว่า”
ธุรกิจอยู่ได้ ชุมชนอยู่รอด
หลังจากกลับมาอยู่ที่บ้าน พี่เก๋ มีเป้าหมายในการทำให้บ้านเกิดอย่าง อ.น้ำโสม จ. อุดรธานี ซึ่งมีภูมิประเทศในอ้อมกอดแห่งขุนเขา เทือกเขาสันภูพาน มีความอุดมสมบูรณ์เป็นดินภูเขาไฟ และมีวัดวาอารามตามเขาสวยงาม มุ่งพัฒนาสู่ Namsom food & Herbland โดยตัดสินใจเข้าร่วม ‘โครงการพลังชุมชน’ ของ เอสซีจี เพื่อพัฒนาความรู้ การทำตลาด และแบ่งปันสู่ชุมชนโดยรอบ
พี่เก๋ เผยว่า เวลากว่า 6 ปีในการกลับมาอยู่บ้านเกิด และเข้าปีที่ 5 กับการเป็นนักเรียนดีเด่นในโครงการพลังชุมชน ทำให้ได้ความรู้ทำการตลาดครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ (ผลิต) - กลางน้ำ (แปรรูป) - ปลายน้ำ (จัดจำหน่าย) มีแหล่งวัตถุดิบแปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม และควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพสูง กลายเป็น หลักการตลาดรอดจน ประกอบด้วย
1. ทำสิ่งที่ถนัด นำความชอบและความเชี่ยวชาญการทำอาหาร มาแปรรูปปลาส้มเพื่อเพิ่มมูลค่า
2. มัดใจลูกค้า คิดค้นปลาส้มหลากหลายสูตร เช่น สูตรโบราณ สูตรดั้งเดิม สูตรพริกไทยดำ สูตรอูมามิ (ไร้น้ำตาล) และนักเก็ตปลาส้ม เพื่อเสริฟของอร่อยให้ลูกค้าจนกลายเป็นขาประจำ ไม่ใส่ดินปะสิว ไม่คาว ได้คุณภาพและกลิ่นอายของอุดรธานีแบบแท้ ๆ
3. เน้นตลาดออฟไลน์ จำหน่ายสินค้าในตลาดรอบชุมชนรัศมี 45 กิโลเมตร จึงรู้จักลูกค้าเป็นอย่างดี นำพฤติกรรมการบริโภคมาปรับปรุงคุณภาพปลาส้มให้ดีขึ้น
ปัจจุบัน แม้จะสามารถส่งปลาส้มออกขายไปยังรัศมี 45 กิโลเมตร ไม่ว่าจะในตลาดนัด และ 73 ร้านค้าโดยรอบ แต่สิ่งที่ยังคงมาตรฐาน คือ การคั่นปลาส้มเองกับมือ เพราะการหมักปลาต้องมีการลงน้ำหนัก แรง องศา และอุณหภูมิ
ขณะเดียวกัน ก็มีการส่งเสริมให้ชุมชนเลี้ยงปลาเพื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาส้ม สร้างรายได้ให้ชุมชนเฉลี่ย 200,000-300,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดความรู้ด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นให้แก่นักเรียนโรงเรียนน้ำโสมวิทยาคม นำไปทำเป็นโครงงานวิชาการเข้าประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ
“อันดับแรก ต้องอยู่รอด มีข้าวกิน มีบ้านอยู่ พอกินพอใช้ และเราจะสามารถแบ่งปัน ตอนนี้ไม่ต้องอดนอนแล้วเพราะเราไม่ได้ทำเยอะ แต่ทำตามตลาด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หากทำใหญ่ขึ้นต้องเบาลง หากสวนทางกันจงอย่าทำ” พี่เก๋กล่าว
พลังชุมชน ความรู้ คู่คุณธรรม
สำหรับ โครงการพลังชุมชน ถือเป็นหลักสูตรเสริมสร้างความรู้ชุมชน สร้างอาชีพยั่งยืน ของ เอสซีจี ที่ขยายผลศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาพัฒนา พึ่งพาตนเอง ด้วยภูมิปัญญาและวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างอัตลักษณ์สินค้าให้โดดเด่น รู้จักตลาดก่อนผลิตและขาย สร้างแบรนด์ ทำการตลาด ขยายช่องทางการขาย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงวางแผนชีวิตเพื่อความยั่งยืน
วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี มุ่งแก้จน ลดความเหลื่อมล้ำสังคม ผ่านโครงการพลังชุมชน อบรมเสริมความรู้สร้างอาชีพยั่งยืน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต เน้นพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมชุมชนให้เห็นคุณค่า และพัฒนาศักยภาพตนเอง แปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เข้าใจลูกค้าและตลาดก่อนผลิตและจำหน่าย บริหารจัดการความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน ปัจจุบัน พลิกชีวิต 140 ชุมชน กว่า 10,000 คน ใน 14 จังหวัด ปลดหนี้ มีรายได้เพิ่ม อาชีพมั่นคง ทั้งต่อยอดความรู้จนสามารถพัฒนาเป็นการตลาดรอดจนซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัว พร้อมแบ่งปันความรู้ขยายเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง และเป็นต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
"เอสซีจี เชื่อมั่นว่า หากชุมชนลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง ใช้ความรู้คู่คุณธรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทำสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญ สร้างสรรค์สินค้าจากผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวที่หาได้ในท้องถิ่นให้ตรงใจลูกค้า ตามความต้องการของตลาด ช่วยสร้างอาชีพ รายได้เพิ่ม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน และลดเหลื่อมล้ำในสังคม” วีนัส กล่าวสรุป