เปิดวิธีรับมือ ‘น้ำท่วม’ โดยเฉพาะ กทม. ฝนตกต่อเนื่อง หลัง กอนช. ประกาศเตือน!
จากกรณี “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” ประกาศเตือนว่าในเดือนนี้มีหลายจังหวัดเสี่ยง “น้ำท่วมฉับพลัน” รวมถึงพื้นที่ กทม. และปริมณฑลอาจก็โดนด้วย เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง ประชาชนต้องเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง?
ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ทำให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาคตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง ส่งผลให้เกิดปัญหา “น้ำท่วม” ในหลายพื้นที่ ล่าสุด.. ทาง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. มีประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ทั้งหมด 34 อำเภอใน 12 จังหวัดภาคอีสาน ภาคตะวันออกและภาคใต้ ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค. นี้ รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก็เสี่ยงด้วยเช่นกัน
ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยามีรายงานว่า ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ทั้งนี้สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ตามที่ กอนช. ประเมินไว้ ได้แก่
1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จ.อุบลราชธานี (อ.โขงเจียม และสิรินธร)
จ.มุกดาหาร (อ.เมืองมุกดาหาร และหว้านใหญ่)
จ.นครพนม (อ.เมืองนครพนม และธาตุพนม)
2. ภาคตะวันออก
จ.ระยอง (อ.นิคมพัฒนา เขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย)
จ.จันทบุรี (อ.เมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว)
จ.ตราด (อ.บ่อไร่ และเมืองตราด)
3. ภาคใต้
จ.ระนอง (อ.เมืองระนอง และกะเปอร์)
จ.ตรัง (อ.หาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ ย่านตาขาว เมืองตรัง และห้วยยอด)
จ.กระบี่ (อ.เกาะลันตา)
จ.พังงา (อ.ตะกั่วป่า และกะปง)
จ.สตูล (อ.ทุ่งหว้า มะนัง ท่าแพ และควนกาหลง)
จ.พัทลุง (อ.ป่าบอน)
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2556 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก
สำหรับสภาพอากาศใน กทม. และปริมณฑล ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ นั้น มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในส่วนของการรับมือหากเกิดปัญหา "น้ำท่วม" ในเบื้องต้นนั้น สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
- ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ให้พ้นจากระดับน้ำท่วม
- อพยพสัตว์เลี้ยง รวมถึงเคลื่อนย้ายยานพาหนะไปยังพื้นที่ปลอดภัย
- ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตช์ไฟ สับคัตเอาท์ ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและแก๊ส
- เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น และอาหารสำรองที่รับประทานได้ง่าย รวมถึงน้ำดื่มสะอาด รวมถึงยาสำหรับผู้มีโรคประจำตัว
- เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน นำมาจัดเก็บไว้ในถุงพลาสติก หรือซองกันน้ำ เป็นต้น
ในกรณีที่น้ำท่วมสูงจนไม่สามารถอาศัยอยู่ภายในบ้านได้ ให้ล็อกประตูบ้านให้เรียบร้อยและอพยพขึ้นที่สูง เตรียมเบอร์โทรฉุกเฉินไว้หากเกิดเรื่องเร่งด่วน เช่น เบอร์การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 และเบอร์สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784 และคอยติดตามข้อมูลจากสื่อที่เชื่อถือได้อยู่เสมอ
อ้างอิงข้อมูล : กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ, กรมอุตุนิยมวิทยา, สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และ สินมั่นคงประกันภัย