Pride month : การรับรองเพศสภาพในประเทศไทย
ซีรี่ย์บทความร่วมเฉลิมฉลอง Pride month รอบนี้กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของประเทศไทย ที่ในอดีตมีการนําความรู้ทางการแพทย์และจิตเวชศาสตร์มาใช้อธิบายเรื่องเพศในความหมายของ “เพศสรีระ (Sex)”
โดยมองว่าเพศที่ถูกต้อง ได้แก่ เพศชายและเพศหญิง ส่วนบุคคลที่มีการแสดงออกทางเพศไม่ตรงตามเพศสรีระโดยกำเนิดคือ ผู้มีความเบี่ยงเบนหรือมีความผิดปกติ และคู่รักเพศเดียวกันเป็นความเจ็บป่วยทางจิตซึ่งต้องได้รับการรักษา
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมามุมมองของคนในสังคมยอมรับความหลากหลายของเพศวิถีของบุคคลมากขึ้น คำว่า “เพศ” มีความหมายที่กว้างขึ้น กล่าวคือ นอกจากเพศชายและหญิงซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตาม “เพศสรีระ (Sex)”
ยังมีคำว่า “เพศสภาพ (Gender)” และ “เพศวิถี (Sexuality)” ซึ่งเป็นการมองเรื่องเพศและชีวิตทางเพศของมนุษย์ว่าเป็นผลผลิตทางสังคม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน ล้วนมีเจตนารมณ์มุ่งที่จะคุ้มครองความเท่าเทียมกันของบุคคล คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลทุกคนไม่ว่าจะมีเพศใดหรือเพศสภาพใด
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการตะวันตกมีความเห็นว่าการยอมรับเพศที่สามของสังคมไทยอยู่ในลักษณะของการ “ทนได้ แต่ยอมรับไม่ได้ (Tolerance but not accepted)” และคนข้ามเพศในประเทศไทยมักต้องเผชิญการคุกคามและการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องดำเนินการและทำให้เกิดการรับรองเพศสภาพตามกฎหมาย
ในแง่นโยบายของรัฐ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557 - 2561) นับเป็นครั้งแรกที่ระบุให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย
และในแผนฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2566) มีการเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีผลใช้บังคับ รวมทั้งดูแลติดตามให้มีการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
เปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นว่าตนถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งเพศได้เข้าสู่กระบวนการของกฎหมายอย่างเสมอภาค ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง
รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด โดยมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาท
อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ ไม่อาจเป็นกลไกที่จะทำให้การคุ้มครองสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ครอบคลุมทุกประเด็น กรณีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติรับรองเพศสภาพของบุคคลแยกออกมาเป็นการเฉพาะ
ด้วยเหตุนี้องค์กรเอกชน ได้แก่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติิประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยและภาคีอื่น ๆ ได้ร่วมกันจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. ....” ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเมษายน 2566
หลักการและเหตุผล ประเทศไทยยังขาดมาตรการทางกฎหมายในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ คุณลักษณะทางเพศ เนื่องจากมีการรับรองสถานภาพทางกฎหมายของบุคคล ซึ่งจำแนกตามเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น
ทำให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวกลายเป็นกลุ่มเป้าหมาย จากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในพื้นที่สาธารณะอย่างกว้างขวาง อาทิ การจ้างงาน การเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข การได้รับสวัสดิการสังคม การศึกษา การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ตลอดจนได้รับการปฏิบัติจากบุคคลอื่นอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม
จึงสมควรให้มีกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครอง และรับรองผลทางกฎหมาย และเป็นไปตามหลักการแสดงเจตจำนงของบุคคล (Self -Determination) อันเป็นการสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฯ สรุปได้ดังนี้
บุคคลมีสิทธิในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามกฎหมาย โดยต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตลอดเวลา และจะไม่ถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการรักษาทางการแพทย์เพื่อเป็นเงื่อนไขในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามกฎหมาย
บุคคลที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิในการยื่นคำขอเพื่อระบุเพศและชื่อตัว รวมถึงเครื่องหมายระบุเพศสภาพในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจำนงของตนได้ โดยยื่นเอกสารประกอบการยื่นคำขอที่กฎหมายกำหนดต่อนายทะเบียนราษฎรได้
แต่ถ้าบุคคลนั้นอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
สำหรับเด็กที่เกิดมาเป็นบุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาที่หลากหลาย (หมายถึงบุคคลอินเตอร์เซ็กส์ - บุคคลที่มีทั้งอวัยวะเพศชายและเพศหญิงในคนเดียว) ให้ระบุว่าเป็นบุคคลที่มีลักษณะทางชีววิทยาที่หลากหลายในใบสูติบัตร จนกว่าบุคคลนั้นจะแสดงความยินยอมได้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ การระบุเพศของเด็กที่เกิดมามีลักษณะเพศทางชีววิทยาที่หลากหลายในบัตรประจำตัวประชาชนและเอกสารทางราชการเพื่อแสดงตนอื่น ๆ ให้ระบุว่าเป็นเพศกรณีอื่น (Other/X)
เมื่อเด็กผู้นั้นอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ก็มีสิทธิในการยื่นคำขอเพื่อระบุเพศและชื่อตัวในใบสูติบัตร รวมถึงเครื่องหมายระบุเพศสภาพในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจำนงของตนได้
สำหรับผลของการจดทะเบียนฯ เช่น มีสิทธิใช้คำนำหน้านามที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน ตลอดจนมีสิทธิและหน้าที่ตามอัตลักษณ์ทางเพศนั้น หรือกรณีที่ผู้นั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาที่หลากหลาย รวมถึงบุคคลซึ่งมีเพศสภาพที่ไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศให้ระบุเป็นเพศกรณีอื่น (Other/X) โดยไม่ต้องระบุคำนำหน้านาม
การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคลย่อมไม่กระทบกระเทือนต่อสถานะของบุคคล เช่น สถานะคู่สมรส สถานะบิดามารดา และสิทธิหน้าที่ของบุคคลตามที่ได้กำหนดในกฎหมาย เช่น การคุ้มครองแรงงาน สวัสดิการ การจดทะเบียนสมรส และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
น่าจับตาว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นไปในทิศทางใด ความพยายามในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อรับรองเพศสภาพของไทยจะสำเร็จในเร็ววันหรือไม่ โปรดติดตาม!