เมืองในฝันของผู้สูงวัย

เมืองในฝันของผู้สูงวัย

ดิฉันไปจังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น และได้มีโอกาสสังเกตดูความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมสูงวัยในภูมิภาคทางเหนือของญี่ปุ่นคือ ฮอกไกโดตะวันออก

เมื่อได้ไปสัมผัส จึงตระหนักว่า การเตรียมเมืองสำหรับผู้สูงวัย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  นอกจากจะต้องเตรียมเรื่องการออกแบบที่เป็นมิตรสำหรับผู้มีปัญหาทางการเคลื่อนที่ หรือ  friendly design แล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมคือการขนส่งสาธารณะและบุคลากร ดิฉันเฝ้ามองการทำงานของหนุ่มวัยสามสิบกว่าที่ขับรถประจำทางระหว่างทะเลสาบอะคังซึ่งเป็นเมืองรีสอร์ท กับเมืองคุชิโระซึ่งอยู่ตะวันออกของฮอกไกโดแล้ว คิดว่าเมืองไทยเราจะหาคนมาฝึกให้ได้แบบพ่อหนุ่มคนนี้ได้อย่างไร 

การขับรถระยะทางปานกลาง 80 กิโลเมตร ที่ต้องผ่านแหล่งท่องเที่ยวริมทะเลสาบ แวะรับคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ประสงค์จะขับรถเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรสูงวัย และกลุ่มที่สองเป็นคนท้องถิ่นที่เดินทางไปมาเพื่อทำธุระส่วนตัว หรือออกจากบ้านในเมืองไปเดินเล่น ออกกำลังริมทะเลสาบแต่เช้ามืด และนั่งรถกลับมาตอนสายๆ

รถบัสประจำทางของญี่ปุ่นแต่ละคัน จะมีพนักงานคนเดียว คือคนขับ ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ทุกอย่าง ตั้งแต่ขับรถ ดูแลให้ผู้โดยสารจ่ายค่าโดยสารให้ถูกต้อง นำกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารเก็บใต้ท้องรถ รวมถึงตอบคำถามผู้โดยสารทุกๆคน ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะหลากหลายเกินกว่าที่คาดคิดมาก

ช่วงที่รถแล่นนอกเมือง ผู้โดยสารมักจะมีกระเป๋าเดินทาง คนขับต้องช่วยยกกระเป๋าเก็บใต้ท้องรถแล้วกลับขึ้นมาขับรถต่อ พอถึงป้ายในเมือง กลุ่มผู้โดยสารก็จะเปลี่ยนเป็นชาวบ้านในชุมชน ที่ขึ้นรถหลังจากไปจับจ่ายซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต บางคนก็นั่งไปไม่ไกลมากนัก  บางคนนั่งรออยู่ที่ป้ายรถ รถก็ต้องจอด คอยถามว่าไปปลายทางนี้ คุณป้าจะไปหรือไม่

 ผู้มารอรถที่ป้ายรถบางคน ก็รอเพื่อถามว่ารถคันนี้จะไปทางที่เขาจะไปหรือไม่ ฯลฯ หากไป คุณลุงคุณป้าก็จะค่อยๆ เดินขึ้นรถมา คนขับรถต้องใจเย็น รอให้ผู้โดยสารหยิบตั๋วแสดงจุดขึ้น แล้วเดินไปนั่งให้เรียบร้อยก่อน จึงจะออกรถ ความเร็วของรถก็จะแตกต่างกับช่วงที่วิ่งนอกเมืองซึ่งมีผู้โดยสารรออยู่เฉพาะจุดหลักใหญ่ๆ  และแน่นอนว่า และความเร็วเป็นคนละระดับกับสองแถวที่วิ่งตามชานเมือง ของกรุงเทพมหานคร 

รถประจำทางที่วิ่งในเมืองหรือต่างเมืองของญี่ปุ่นจะเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง เมื่อผู้โดยสารขึ้นรถ จะต้องดึงตั๋วจากเครื่องจ่ายตั๋วมาเก็บไว้ เพื่อแสดงเป็นหลักฐานว่าขึ้นรถจากจุดไหน บนกระดานเหนือที่นั่งคนขับจะมีตัวเลขแสดงราคาว่า หากขึ้นมาจากจุดต่างๆ ถึง ณ ปัจจุบันที่รถแล่นอยู่ จะต้องจ่ายค่าโดยสารเป็นจำนวนเงินเท่าใด เมื่อจะลงจากรถ ผู้โดยสารก็จะนำค่าโดยสารพร้อมกับตั๋วแสดงจุดขึ้นรถหย่อนลงไปในกล่องข้างคนขับ

 การจ่ายค่าโดยสารใช้เวลาพอสมควร แต่ทุกคนก็อดทน เรียกได้ว่าอัตราการใช้ชีวิตช้าประมาณ 50% ของ กรุงเทพฯ ไม่มีใครมาเร่งว่าเร็วๆหน่อย ทุกอย่างมีจังหวะจะโคนของตัวเอง ทำให้ดิฉันเข้าใจว่า slow life จริงๆเป็นอย่างไร

ด้วยความที่อยากทราบว่า ผู้สูงวัยเหล่านี้ ต้องรอรถสาธารณะนานหรือไม่ ดิฉันจึงชะโงกดูป้ายรถข้างทาง เพื่อดูว่ารถประจำทางมาบ่อยเพียงใด ก็พบว่าประมาณทุกๆสิบนาที ในช่วงกลางวัน  แต่รถจะมาจากหลายเส้นทาง เพราะเส้นทางจากทะเลสาบที่ดิฉันมานั้น มีรถประจำทางมาทุกๆสองชั่วโมง  เมื่อรถทุกเส้นทางต้องแล่นผ่านเมือง ผู้อยู่ในเมืองจึงเดินทางสะดวกกว่าผู้ที่อยู่นอกเมือง 

สรุปว่ารถประจำทางที่ดิฉันนั่งมา ใช้เวลา 2 ชั่วโมงเต็มสำหรับการเดินทาง 80 กิโลเมตร เพราะมีคนขึ้นลงเยอะ โดยเฉพาะในเมือง จอดเกือบทุกป้าย 60 กิโลเมตรแรก ซึ่งผ่านสนามบินด้วย ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ส่วนอีก 20 กิโลเมตรหลังซึ่งแล่นผ่านชานเมือง เข้าไปยังสถานีรถไฟกลางเมือง ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 

มานึกถึงว่าจะประยุกต์มาใช้ในการจัดการที่เมืองไทยอย่างไร  ข้อแรก รถโดยสารที่วิ่งระหว่างเมือง ต้องแวะรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างจุดใหญ่ๆในเมืองที่รถผ่านด้วย จึงจะทำให้มีความถี่ของรถที่เพียงพอกับผู้โดยสาร ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่ข้อนี้อาจจะใช้กับเมืองใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่งไม่ได้ เพราะผู้โดยสารที่มีธุระด่วนจะเสียเวลามากเกินไป คงใช้ได้เฉพาะเมืองขนาดรองและขนาดเล็ก ที่เป็น slow life 

ข้อที่สอง ตารางเวลาของรถ เข้า-ออกต้องกำหนดไว้คร่าวๆ สำหรับเมืองไทย ไม่สามารถจะกำหนดแน่นอนได้เพราะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของการจราจร แต่ที่แน่ๆคือ รถจะไม่ออกก่อนเวลา แม้จะมาถึงจุดนั้นๆก่อนเวลาก็ตาม เพื่อที่ผู้โดยสารจะได้ไม่ตกรถ 

 ข้อที่สำคัญคือ การฝึกคนขับรถให้มีความสามารถรอบด้าน และมีความอดทน ใจเย็น สามารถให้บริการผู้โดยสารได้อย่างดี ด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส อันนี้จะยากอยู่บ้าง ถ้าเป็นคนขับผู้หญิง อาจจะมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบ แต่ก็จะลำบากตอนยกกระเป๋าค่ะ สังคมสูงวัยจะเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้ให้บริการที่มีความอดทน ใจเย็น มีจิตใจเป็นผู้ให้บริการ เป็นบุคลากรที่ต้องรีบสร้างโดยเร็ว

ไปอีกเมืองหนึ่งคือ อาซะฮิกะวะ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของฮอกไกโด รองลงมาจากซัปโปโร สนามบินของเขาอยู่ออกไปนอกเมือง แต่มีรถบัสระหว่างเมืองแล่นผ่านเสมอ เป็นที่หน้าสังเกตว่า ถนนไปสนามบินตัดเข้าไปกลางทุ่งนา แต่ดูไม่ได้เป็นถนนชนบทอะไร เพราะมีทางเท้าตลอดทาง เอื้อให้กับประชากรสูงวัยที่จะเดินทางไปไหนมาไหนจริงๆค่ะ ระบัสจอดจุดสำคัญๆ และประชาชนก็ลงจากรถ เดินเท้าไปตามถนนซอยที่อาจจะเป็นถนนราดยาง หรือถนนดินลูกรังเข้าไปยังตัวบ้าน

  สนามบินของเมืองอาซะฮิกะวะ เป็นสนามบินเล็กๆที่สนุกมากค่ะ ศูนย์อาหารของสนามบิน อยู่ก่อนช่วงตรวจบัตรโดยสาร มีร้านดังๆของเมืองมาตั้ง ขายอาหารในราคาปกติ คนภายนอกก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้ ร้านค้าจึงอยู่ได้เพราะมีลูกค้าหมุนเวียนมากพอสมควร  ผู้โดยสารต่างสนุกสนานกับการสั่งอาหารร้านนี้ร้านนั้นมาชิม บริการน้ำดื่มฟรี เมื่อรับประทานเสร็จก็นำถ้วยจานไปคืนยังร้านที่ซื้อมา ด้านบนมีหอสังเกตการณ์ ประชาชนสามารถมานั่งกินลงชมเครื่องบินขึ้นลงได้ทั้งวัน กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของเมืองอีกแห่ง