หลัก 'แซนด์วิช' บริหารคนตามแบบ Working Woman แห่งลอรีอัล(ไทย)

หลัก 'แซนด์วิช' บริหารคนตามแบบ Working Woman แห่งลอรีอัล(ไทย)

'คุณหญิง-อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและการสื่อสารสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด'มีหลักการหนึ่งในการบริหารคน เพื่อให้งานออกมาสำเร็จ ขณะเดียวกันทีมทำงานก็ไม่รู้สึกกดดัน นัjนคือ 'แซนด์วิช'

         ถึงจะออกตัวว่า ยุคปัจจุบันที่ความไม่แน่นอนมีสูง ประกอบกับการทำงานในบริษัทข้ามชาติที่มีไทม์โซนต่างกัน  Work Life Balance เกิดขึ้นได้ยาก แต่ตลอดเวลาที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “คุณหญิง-อรอนงค์" สัมผัสได้ถึงการให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก บวกกับ นโยบายบริษัทที่มีสวัสดิการเอื้อให้กับพนักงาน
         Work Life Balance ในมุมมอง “คุณหญิง” มีความสำคัญเสมอมาเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีในทุกบทบาท เพราะเมื่อคนทำงานเต็มที่ก็ต้องมีเวลาพักดูแลตัวเองด้วย แต่ด้วยปัจจุบันที่โลกมีความเปลี่ยนแปลง ผันผวน ซับซ้อนคลุมเครือสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การทำงานในหลายๆส่วนมีความไม่แน่นอนสูง การสร้างสมดุลค่อนข้างทำได้ยาก

       แต่จะบริหารจัดการอย่างไรที่ทำงานได้เต็มที่และสามารถมีเวลาส่วนตัวเต็มที่ด้วย  อย่างเช่น ในช่วงที่มีเรื่องเร่งด่วนก็ต้องรับมือในช่วงนอกเวลางานหรือวันหยุด  แต่ถึงเวลาที่ไม่มีความเร่งด่วนก็ต้องพยายามบริหารจัดการเรื่องการดูแลตัวเอง  ส่วนจะทำได้มากน้อยอย่างไร ขึ้นกับหน้าที่งานและอุตสาหกรรมที่ทำงานอยู่ด้วย 

หลัก \'แซนด์วิช\' บริหารคนตามแบบ Working Woman แห่งลอรีอัล(ไทย)

   กำหนดความเร่งด่วนของงาน 

        การทำงานในบริษัทเอกชนข้ามชาติจะมีลักษณะที่คล้ายๆกัน คือ เวิร์คโหลดค่อนข้างรวมถึงการทำงานกับหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานที่มีไทม์โซนต่างกัน ส่วนตัวคุณหญิง จึงมีการบริหารจัดการในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ภายในประเทศเป็นหลัก คือ
    1.การกำหนดความสำคัญเร่งด่วนของงานที่ต้องดูแลก่อนตามกลยุทธ์ที่วางไว้ตั้งแต่แรก เพราะหากมีงาน 10 อย่างก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมดหรือทำให้จบภายใน 24 ชั่วโมง

    2.ต้องหาตัวช่วย อาจจะเป็นการจ้างจากภายนอกบริษัทมาช่วยแบ่งเบาในงานที่ไม่ใช่กลยุทธ์  เป็น 2 หลักในการทำงานที่วางไว้กับทีมงาน หากทำไม่ไหวก็ให้มาแจ้งเป็นรายกรณี จะได้ร่วมกันหาแนวทางเพิ่มเติมในการทำงาน  ช่วยสร้างสมดุลให้กับน้องๆในทีมด้วย

ฝึกปล่อยวางรับมือความเครียด
         ขณะที่หากมีความเครียดจากงานหรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาก็ต้องพยายามหาแนวทางแก้ปัญหา แต่หากพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาทำให้เครียดหรือมีผลต่อจิตใจ ต้องฝึกฝนในการ “ปล่อยวาง” ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการละทิ้งความคิดในสิ่งที่เราไม่สามารถจัดการได้จำเป็น ไม่ให้เกิดการย้ำคิดย้ำทำ และจะต้องคิดว่าการปล่อยวางเพื่อตัวเอง

           คุณหญิง บอกว่า แน่นอนไม่ได้เป็นการบรรลุทำแต่เป็นการฝึกตนเอง โดยมีแนวทาง คือ 1.เตือนตัวเอง เมื่อรู้ว่าตัวเองเริ่มเครียด จะได้ไม่ส่งผลต่อสุขภาพจิต สุขภาพกายมองความสำคัญระยะยาวของตัวเองเป็นหลัก  และ2.หากิจกรรมทำ คลายเครียด โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำให้ “เอาจิตออกไปจากการทำงาน” เน้นที่การเอาจิตโฟกัสในจุดที่กำลังทำอยู่ ต้องใช้สมาธิ อย่างเช่น การปักคลอสติส อ่านหนังสือ และส่วนตัวจะวิ่งเทรลด้วย

หลัก \'แซนด์วิช\' บริหารคนตามแบบ Working Woman แห่งลอรีอัล(ไทย)

วิ่งเทรล ธรรมชาติสอนให้รู้ตัว 
        การวิ่งเทรล คุณหญิง บอกว่า วิ่งมา 7-8 ปีแล้ว เริ่มจากที่เป็นคนออกกำลังในฟิตเนสเป็นประจำอยู่แล้ว ก่อนที่เพื่อนจะชวนวิ่ง out door วิ่งในสวนสาธารณะ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น จังหวะที่ลมมาปะทะที่หน้าอะดรีนาลีนหลั่งมาก ช่วยให้คลายเครียด แล้วขยับมาฝึกฝนในการวิ่งเทรล โดยก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ชอบไปเดินป่าในต่างประเทศ  เช่น ยอดเขาฟูจิ คิลิมันจาโร เป็นต้น  ใช้เวลาเดิน 3-5 วัน  ขึ้นไปบนเขาที่มีความสูงและอากาศหนาว เป็นการฝึกจิตและร่างกาย 

    สิ่งที่ได้จากการวิ่งเทรล 

1.จิตใจ ฝึกจิตมุ่งมั่น ฝึกให้อดทนเนื่องจากกจะวิ่งในระยะทางที่ไกลและความสูง อย่างปี 2566 จะลงแต่ระยะ 50 กิโลเมตร ความสูง 3,000 กว่า จะต้องใช้เวลา 9-12 ชั่วโมง ร่างกายจะต้องอดทนมาก

2.สอนให้รู้ตัว ซึ่งการอยู่กับธรรมชาติทำให้รู้สึกว่าอีโกหรือสิ่งที่พยายามต่างๆนั้น สุดท้าย “เราตัวเล็กนิดเดียวเองเมื่ออยู่กับธรรมชาติ” เป็นการBack to Basic

และ3.ขอบคุณธรรมชาติมากขึ้น เห็นความสำคัญของความยั่งยืน (sustainability) ความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด

      “เมื่อได้วิ่งเทรล กลายเป็นอีกโลกเลย เพราะการวิ่งตามถนน ยังเจอรถ ไฟแดงต่างๆ แต่พอเป็นการวิ่งในป่า เราได้อยู่คนเดียว อยู่กับตัวเอง อยู่กับธรรมชาติ เหมือนได้ตัดขาดจากโลกภายนอก”คุณหญิง-อรอนงค์กล่าว 

 “แซนด์วิช”หลักบริหารคน  
     และด้วยบทบาทการทำงานในระดับผู้อำนวยการ คุณหญิง มีหลักในการบริหารคนที่ได้รับเสียงสะท้อนจากเพื่อนร่วมงาน คือ เป็นคน Open มีอะไรสามารถมาคุยได้ตรงๆแต่เวลาให้feedback จะให้ตรงๆเช่นกัน แม้บางคนอาจจะไม่ชอบ แต่ก็ถือว่าไม่ได้ทำเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องของการพัฒนางานให้ดีขึ้น ไม่ต้องประดิษฐ์จึงช่วยลดความกดดันของทีมงาน อยู่บนหลักการเรื่อง “แซนด์วิช” ด้วยการ “ชื่นชม ให้ข้อเสนอแนะ(feedback) และชื่นชม”
         เน้นเรื่อง “การทำงานเป็นทีม” มีอะไรมาหารือร่วมกันในการหาแนวทางแก้ไข  ให้มีอำนาจในการตัดสินใจ และเมื่อมีผลงานจากสิ่งที่ทำต้องให้เครดิต เชิดชู เพราะเป็นงานของทีม ไม่ใช่เอางานของทีมมาเป็นเครดิตของตัวเอง ให้ลูกน้องสามารถมีสปอตไลท์ในองค์กรว่านี่คือผลงานของเขา

        รวมถึง ต้อง “รับฟัง”ความคิดเห็น เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว การรับฟังความเห็นหลายๆด้าน จะทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย ไม่ชี้นิ้วสั่งจากมุมมองของตัวเอง  ซึ่งหลักการบริหารคนจะใช้ประสบการณ์จากที่เคยเป็นลูกน้องมาก่อน เจ้านายแบบไหนที่เราชอบก็พยายามเป็นแบบนั้น 

หลัก \'แซนด์วิช\' บริหารคนตามแบบ Working Woman แห่งลอรีอัล(ไทย)

DNA คนลอรีอัล

     ทั้งนี้นอกเหนือจากคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสายงานที่จะทำแล้ว คุณหญิง บอกว่า สิ่งที่ลอรีอัลค่อนข้างโดดเด่นและมองหาในคนรุ่นใหม่ที่จะเช้ามาร่วมงาน ประกอบด้วย  1.Entrepreneurial spirit มีจิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการ มีความคิดริเริ่ม รับผิดชอบต่องานที่ทำ และกล้าเผชิญความท้าทาย  

2.Passion มีไฟในการทำงาน อินในผลิตภัณฑ์ความงามที่ช่วยสร้างความมั่นใจสร้างสุขภาวะและเปิดเผยความเป็นตัวตน มุ่งมั่นผลักดันศักยภาพของอุตสาหกรรมความงามผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ รวมถึงความรู้และเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภค 

       3.Open-mindedness เปิดใจรับฟัง feedback ความคิดเห็นที่ได้รับจากการทำงาน ทำความเข้าใจผู้บริโภคที่มีทั้งภูมิหลังและความต้องการที่หลากหลาย พร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ

และ4.Quest for Excellence ความต้องการที่จะพัฒนาผลักดันศักยภาพตนเอง พยายามเรียนรู้และทำผลงานให้ดียิ่งขึ้น
      “คนที่ทำงานเหมือนตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ  อยากทดลองทำสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ รู้สึกสนุกกับการทำงาน อยากทำงานให้ดียิ่งๆขึ้นไปอยู่เสมอ ทำแล้วต้องสุด ชอบการพัฒนาตนเอง และพร้อมเปิดใจรับฟัง  มีความยืดหยุ่น จะเป็นคนที่เหมาะร่วมงานกับลอรีอัล”คุณหญิงกล่าว 

หลัก \'แซนด์วิช\' บริหารคนตามแบบ Working Woman แห่งลอรีอัล(ไทย)
สวัสดิการให้ได้ “รีชาร์จ”ตัวเอง
      สำหรับสวัสดิการที่ให้กับพนักงาน ลอรีอัลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พยายามมองหาสิ่งใหม่ๆที่นอกเหนือจากสวัสดิการทั่วไปที่มีให้อยู่แล้ว ส่วนที่น่าจะแตกต่าง อย่างเช่น 

  • การให้ความยืดหยุ่นในการทำงานโดยให้สามารถ Work from home ได้ 2 วันต่อสัปดาห์ สามารถแจ้งได้แบบไม่ระบุตายตัวว่าเป็นวันไหนขึ้นกับการตกลงกับหัวหน้างาน 
  • การมี Happy Friday ที่หลังเวลา 16.00 น.จะไม่มีการประชุม ทุกคนสามารถเลิกงานได้เลย 
  • การลาคลอดได้ 115 วัน พ่อลาดูแลบุตรได้ 14 วัน
  • วันลา 15 วันเพื่อการรับบุตรบุญธรรม  ,การให้วันลา Flex Leave เพิ่มเติม 15 วันจากวันหยุดพักร้อนปกติ 12 วัน เพื่อให้ไปทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ 

     นอกจากนี้ มีเรื่องของการปรับการทำงาน ที่ดำเนินการมาแล้ว 2-3 ปี และอยู่ในระยะที่ 2 ของการปรับ อาทิ

  • wake up Monday จะไม่มีการประชุมในเช้าวันจันทร์เพื่อให้ทุกคนได้มีเวลาสะสางงานที่ค้าง และวางแผนการทำงานในสัปดาห์ อาจจะมีการเรียกมาคุยตัวต่อตัว
  • การปรับเวลาการประชุมแต่ละครั้งให้กระชับขึ้น  อย่างจากเดิมที่อาจจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงปรับเหลือ 45 นาที เพื่อให้มีเวลาพักเบรคหายใจ ไม่ใช่ประชุมติดๆกัน
  • และสิ่งที่ระบุไว้ในไกด์ไลน์ของบริษัท คือ “ลาก็คือลา” เป็นการสร้างบรรยากาศการทำงาที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ เพราะบางคนยื่นวันลาไปแล้ว แต่มีประชุมก็ไม่กล้าที่จะแจ้งว่าวันนั้นลา

      “บริษัทให้ความสำคัญกับการพักผ่อนของพนักงานอย่างมาก เพราะการได้รีชาร์จตัวเอง จะทำให้ประสิทธิผลของการทำงานยิ่งดีขึ้น”คุณหญิงกล่าว 

สื่อความหลากหลายผ่านผลิตภัณฑ์

       ไม่เพียงเท่านี้ มุมของการขับเคลื่อนสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความหลากหลาย ลอรีอัลมีการสื่อสารนำเสนอผ่านผลิตภัณฑ์ที่เน้นความงามที่หลากหลาย แบบเป็นตัวของตัวเอง คุณหญิง ให้ข้อมูลปิดท้ายว่า พยายามส่งเสริมให้ทุกคนมีความงามในแบบของตัวเอง ด้วยการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากพอให้รู้สึกว่าคนเข้าถึงได้ตามแบบของตัวเอง เช่น ลิปสติก หรือรองพื้นสีนี้ฉันสามารถใช้ได้ ไม่ใช่ไปดูแล้วพบว่าสีไม่เหมาะกับสีผิว หรือสภาพผิวหน้าของเรา เป็นต้น

        ที่สำคัญ มีการนำเสนอผ่านพรีเซ็นเตอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ ที่มีความหลากหลายทั้งเพศ วัย และแบล็คกราวด์ส่วนบุคคลด้วย  เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า “ทุกคนสามารถมีความงามที่เป็นตัวเองได้”