เปิดเมนูอาหารเด็ด 5 ศาสนา 'Soft power' สร้างคุณค่าทางสังคม-เศรษฐกิจ
กรมการศาสนา จัดงาน มหกรรมศาสนิกสัมพันธ์สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคม ช็อป ชิม อาหารของดี 5 ศาสนา สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางศาสนาให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมไปสู่การสร้างรายได้ โดยใช้ Soft power ในมิติของศาสนา เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการจัดงานมหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี ในระหว่าง 17-20 สิงหาคม 2566 ณ กระทรวงวัฒนธรรม โดยถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566 รวมทั้งเสริมสร้างความสมานฉันท์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางศาสนาให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมไปสู่การสร้างรายได้ โดยใช้ Soft power ในมิติของศาสนา เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ ภายในงานประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงอาหารเด็ดของแต่ละศาสนา ได้แก่
ศาสนาพุทธ
ขนมตำรับท้าวทองกีบม้า (พระนครศรีอยุธยา) มารี กีมาร์ หรือ ท้าวทองกีบม้า เป็นหัวหน้าห้องเครื่องต้นในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เจ้าตำรับขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารโปรตุเกส ไม่ว่าจะเป็นตระกูลทอง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองม้วน ขนมหม้อแกง และอื่นๆ อีกหลายชนิด ท้าวทองกีบม้า จึงได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลากหลายชนิด โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหาร ของโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย
โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมประยุกต์เข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังถ่ายทอดความรู้ให้แก่นางข้าหลวงในปกครอง จนตำรับขนมของท้าวทองกีบม้าเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและตกทอดมาถึงปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่ผสมผสานกับสังคมไทยได้อย่างกลมกลืน ด้วยเหตุนี้มารีจึงได้รับการยกย่องให้เป็น ราชินีขนมไทย ปัจจุบัน มีสืบทอดกันในชุมชนคุณธรรมบ้านเกาะเรียน วัดช่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ครั้งแรกในไทย! วธ. เปิดตัว 'THAIS' ขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม
- เปิดความปัง ‘ผัดไทย’ Soft Power ระดับอินเตอร์ใครๆ ก็อยากกิน
- Soft Power ไทย อย่าหยุดแค่ 5F | โรจน์ คุณเอนก
ศาสนาคริสต์
ขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของชาวโปรตุเกส ที่อาศัยอยู่ในชุมชนกุฎีจีน ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโบสถ์ซางตาครู้ส โบสถ์คาทอลิกเก่าแก่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านฝั่งธนบุรี รสชาติและหน้าตาของขนมฝรั่งกุฎีจีน จะคล้ายกับขนมไข่ แต่มีความกรอบนอกนุ่มใน โดยใช้วัตถุดิบ 3 อย่าง คือ ไข่เป็ด น้ำตาลทราย และแป้งสาลี ไม่แต่งกลิ่น สี และผงฟู เริ่มจากนำไข่เป็ดตีกับน้ำตาลทรายให้ขึ้นฟู
จากนั้นจึงค่อย ๆ ใส่แป้งลงไปกวนให้เข้ากัน และตักใส่พิมพ์ ก่อนนำลงอบประมาณ 20 นาที การอบขนมจะใช้ความร้อนจากถ่าน ปิดด้านบนด้วยฝาอะลูมิเนียมจนตัวแป้งสุก เมื่อขนมสุกขึ้นฟูจึงแต่งหน้าขนมด้วยลูกเกด พร้อมโรยน้ำตาล และอบต่อให้เหลืองสวยชวนรับประทานว่ากันว่าต้นฉบับของขนมฝรั่งมาจาก King Cakeที่นิยมรับประทานกันในวันคริสต์มาส แต่ปรับสูตรตามวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศไทยจนเป็นขนมฝรั่งอย่างที่เป็นในทุกวันนี้
ตัวเค้กที่ได้อิทธิพลมาจากโปรตุเกสได้รับการจับคู่กับความเชื่อของจีนด้วยการตกแต่งหน้าด้วยฟักเชื่อมที่สื่อถึงความร่มเย็น และน้ำตาลทรายละเอียดเป็นเม็ดที่นับไม่ได้เปรียบดั่งความมั่งคั่งจนนับเงินกันไม่หวาดไหว บ้างก็เป็นของมีราคาอย่างลูกเกดและลูกพลับอบแห้ง ขนมฝรั่งกุฎีจีนจึงมีทั้ง 2 แบบคือแบบต้นตำรับไม่มีหน้า และแบบมีหน้า
ศาสนาอิสลาม
ชาวัรมา (Shawarma) เป็นคำภาษาอาหรับที่มาจากคำภาษาตุรกีว่า เชวีร์แม (çevirme) แปลว่า 'การหมุน' ซึ่งสื่อถึงเครื่องย่างแบบหมุน ในอดีตการทำเมนูชาวัรมาใช้เนื้อลูกแกะหรือเนื้อแกะ แต่ในปัจจุบันบางที่ก็เริ่มปรับเปลี่ยนมาเป็นเนื้อไก่ ไก่งวง หรือเนื้อวัวแทน โดยนำเนื้อหั่นเป็นชั้นบางๆ แล้วทำการหมักปรุงรส ต่อด้วยนำไปเสียบเรียงซ้อนกันเป็นก้อนเนื้อรูปกรวย จึงนำไปย่างบนเครื่องหมุน ในแนวตั้ง ซึ่งเครื่องจะค่อยๆ ทำความร้อนให้เนื้อสัตว์สุกไปอย่างช้า ๆ
วิธีการทานชาวัรมา เริ่มด้วยการใช้มีดยาวเฉือนเนื้อออกเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วปล่อยให้เนื้อส่วนที่เหลือหมุนไปเรื่อย ๆ โดยชาวัรมามักจะเสิร์ฟพร้อมกับผักและเครื่องเคียงต่าง ๆ ลงบนแผ่นขนมปังหรือแผ่นแป้งจากนั้นก็ราดซอสปรุงรส ชาวัรมา เป็นหนึ่งในอาหารข้างถนนที่โด่งดังที่สุดในโลก โดยเฉพาะในประเทศอียิปต์ ประเทศในแถบลิแวนต์และคาบสมุทรอาหรับ และที่อื่น ๆ
ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู
ซาโมซา (Samosa) มาจากภาษาฮินดี แปลว่า 'ขนมแป้งรูปสามเหลี่ยม' เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ส่วนสูตรอาหารพบในตำราอาหารของอาหรับยุคศตวรรษที่ 10 ถึง 13 ภายใต้ชื่อต่าง ๆ เช่น sanbusak, sanbusaq และ sanbusaj เป็นคำที่มาจากภาษาเปอร์เซีย sanbosagในอิหร่าน ซาโมซาแพร่หลายในเอเชียใต้ ช่วงสุลต่านเดลีมุสลิม เมื่อพ่อครัวจากตะวันออกกลางและเอเชียกลางมาทำงานในครัวของสุลต่าน
นักวิชาการและกวีในราชสำนัก Amir Khusro ได้บันทึกไว้เมื่อประมาณปี 1300 ว่า เจ้าชายและขุนนางชอบซาโมซาที่เตรียมจากเนื้อสัตว์ เนยใส หัวหอมและวัตถุดิบอื่น ๆ เมื่อซาโมซามาถึงอินเดียได้ถูกดัดแปลงเป็นอาหารมังสวิรัติในรัฐอุตตรประเทศ (รัฐทางตอนเหนือของอินเดีย) และได้รับความนิยมมากที่สุดในอินเดีย
ส่วนซาโมซาที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสับ เนื้อแกะ และเนื้อไก่ ซึ่งนิยมกันมากที่สุดในอินเดียเหนือและปากีสถาน นอกจากนี้ยังมีซาโมซาไส้ชีสปานีร์ (Paneer) ซึ่งเป็นชีสที่นิยมในอาหารอินเดียที่เป็นมังสวิรัติ เป็นอีกหนึ่งไส้ที่ได้รับความนิยมในอินเดียเหนือเช่นกัน ถึงแม้ว่าซาโมซาจะถือเป็นอาหารหลักและของว่างประจำชาติในอินเดีย แต่ก็ยังบริโภคแพร่หลายในตะวันออกกลางซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอาหาร และนิยมเพิ่มขึ้นในอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาตะวันออก แอฟริกาเหนือ และหลายภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เมื่อมีการบริโภคกันมากจนวันที่ 5 กันยายนจึงได้ประกาศให้เป็น 'วัน Samosa สากล'
ศาสนาซิกข์
ปานี ปูรี Pani Puri (ปานี ปูรี) เป็นอาหารว่างทางตอนใต้ของอินเดีย คำว่า ปานี หมายถึง น้ำ และปูรี หมายถึงแป้งสาลีทอดกรอบ มีลักษณะกลมพองและข้างในกลวง รับประทานคู่กับ มันฝรั่งต้ม หัวหอมทานคู่กับน้ำปรุงรสเปรี้ยวกลิ่นสมุนไพร ตามความเชื่อของอินเดีย ตำนานของปานี ปูรี เกิดขึ้นจากตำนานมหาภารตะสร้างขึ้นโดยนางดราปาดี ที่ใช้ความหลักแหลมของตนเองในการใช้แป้ง เพียงเล็กน้อยในการทำอาหารปานี ปูรี เพื่อให้พระนางกุนตียอมรับในตัวของดราปาดี
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เผยว่า การจัดงานมหกรรมมหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาชมงานได้ตั้งแต่เวลา 12.00 น. - 20.30 น. ณ ลานวัฒนธรรมสร้างสุข กระทรวงวัฒนธรรม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 0-2209-9633 และ Facebook กรมการศาสนา