ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน ดัน Soft Power ด้วยมิติศาสนา
ศน. ปลุกกระแส Soft Power ด้วยมิติศาสนา ดันแคมเปญ 'ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน' ดึงภาคีเครือข่ายเสริมพลังท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชน 10 จังหวัดเป้าหมายทั่วประเทศ
กรมการศาสนา (ศน.) ผนึกกำลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมประชาสัมพันธ์ และกลุ่มจังหวัดที่มีกิจกรรมทำบุญตักบาตรวันพระโดดเด่นทั่วประเทศ รวมพลังปลุกกระแสความนิยมของเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยผ่านมิติด้านศาสนา ภายใต้โครงการ 'ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน' ผสานกิจกรรมทำบุญตักบาตร เข้ากับเอกลักษณ์วัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตท้องถิ่น เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีธรรมที่น่าสนใจ ขยายโอกาสจำหน่ายสินค้าและบริการภายในชุมชน
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) ได้เปิดเผยนโยบาย 'นำธรรมะสู่ใจประชาชน' ด้วยการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญเป็นประจำทั้งในวันพระและวันธรรมดาเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเห็นความสำคัญของพลัง Soft Power ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทเป็นอย่างมากในการส่งเสริมเศรษฐกิจไทย จึงได้เล็งจัดกิจกรรมในกลุ่มจังหวัดที่มีกิจกรรมทำบุญตักบาตรวันพระโดดเด่นทั่วประเทศ 10 แห่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ครั้งแรกในไทย! วธ. เปิดตัว 'THAIS' ขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม
- เปิดความปัง ‘ผัดไทย’ Soft Power ระดับอินเตอร์ใครๆ ก็อยากกิน
- Soft Power ไทย อย่าหยุดแค่ 5F | โรจน์ คุณเอนก
ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่สะท้อนความเชื่อความศรัทธาของคนในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา จ.กาญจนบุรี จ.สุโขทัย จ.เลย จ.อุตรดิตถ์ จ.เชียงราย จ.อุทัยธานี จ.แม่ฮ่องสอน จ.นครศรีธรรมราช และจ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมในพื้นที่ กรมประชาสัมพันธ์ ในการเผยแพร่ข่าวสารกิจกรรมให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง ตลอดจนความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ได้สนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงศาสนาและวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็ง
ด้าน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านการตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า ททท. พร้อมที่จะให้การสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยว ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศาสนาในกลุ่มตลาดระยะใกล้ และพร้อมที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้มั่นใจว่าการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวทั้งในแง่รายได้และการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่าง Soft Power ด้านศาสนา ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความหมาย
โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสสะสมเสบียงบุญด้วยการตักบาตรในโอกาสต่างๆ ได้อนุรักษ์ประเพณีการตักบาตรเหมือนสมัยก่อนที่ทุกคนจะสวมผ้าไทยหรือผ้าประจำถิ่นไปตักบาตรในยามเช้า ถือเป็นการชูอัตลักษณ์วิถีถิ่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้คนในชุมชนและเกิดการท่องเที่ยวเชิงวิถีธรรม อีกทั้งส่งเสริมให้ทุกคนได้หันมาใส่ใจในสุขภาพของพระสงฆ์ ด้วยการถวายภัตตาหารที่เป็นเมนูสุขภาพ เพราะในปัจจุบันพบว่ามีพระสงฆ์อาพาธจากโรคต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดจะร่วมกันออกบูธจัดแสดงชุดตักบาตรตามวิถีถิ่นที่เป็นเมนูสุขภาพห่างไกลจากโรค มาให้ทุกคนได้ศึกษา เรียนรู้ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
ขณะเดียวกันก็ยังได้ดำเนินการส่งเสริม Soft Power ของกระทรวงวัฒนธรรมในมิติศาสนา ที่นอกจากผู้ที่มาทำบุญและนักท่องเที่ยวจะรู้สึกอิ่มบุญแล้ว ยังอิ่มเอมใจกับการได้เที่ยวชมและอุดหนุนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่ชาวบ้านในชุมชนละแวกใกล้เคียงนำมาจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น ผักผลไม้ปลอดสาร อาหาร เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เกิดกระแสเงินหมุนเวียน และก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือน
ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง เรียกว่าเป็นการใช้ 'วิถีธรรม' ควบคู่กับ 'วิถีท้องถิ่น' ก่อให้เกิด 'วิถีท่องเที่ยวชุมชน' นำมา 'สร้างรายได้' ตั้งแต่ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม โฮสเทล โฮมสเตย์ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ที่ได้รับการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน อุดหนุนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และอุดหนุนผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม CPOT
อาทิ ผลิตภัณฑ์เสื้อขวด กระเป๋านกฮูก ชุมชนคุณธรรมบ้านป่าบุก และตุ๊กตาน้องไม้ไทย ชุมชนคุณธรรมวัดหนองเส้ง จ.ลำพูน เป็นต้น รวมถึงชาวบ้านที่ประกอบธุรกิจน้อยใหญ่ ที่ได้รับการอุดหนุนจากนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตะกร้าตักบาตร ภัตตาหารตักบาตร ภัตตาหารเมนูสุขภาพ ผ้าท้องถิ่นตามวิถี Package การท่องเที่ยวเติมบุญ หรือแม้แต่อาหารเช้าที่แสนธรรมดาแต่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรม เช่น ไข่กระทะ ติ่มซำ ขนมท้องถิ่น
ที่ผ่านมา ศน. ได้จัดกิจกรรมนำร่องที่วัดบำเพ็ญเหนือ กรุงเทพมหานคร วัดห้วยต้ม จ.ลำพูน และวัดหาธาตุ จ.นครพนม เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนผู้มาร่วมงานและนักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี โดยได้จัดทำแบบประเมินการเข้าร่วมกิจกรรมที่วัดบำเพ็ญเหนือ พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 51 มาร่วมกิจกรรมในลักษณะครอบครัว ร้อยละ 64.90 ระบุว่าไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมมาก่อน ร้อยละ 35.10 ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 300 บาท ในการจับจ่ายใช้สอยและอุดหนุนสินค้าชุมชน ในขณะที่ร้อยละ 47 ใช้เวลาในการเข้าชมงาน 1 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังได้จัดทำแบบประเมินแสดงความพึงพอใจของประชาชน พบว่า ในภาพรวมผู้ตอบแบบประเมินมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของสถานที่จัดงาน รูปแบบการจัดกิจกรรมทางศาสนาที่เป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และความรู้ในหลักธรรมทางศาสนาที่ได้รับ
สำหรับปีงบประมาณ 2567 นั้น ศน. จะดำเนินการขยายผลกิจกรรมไปยังจังหวัด วัด ศาสนสถาน และชุมชนที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มอัตลักษณ์และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชน และยังเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจฐานรากไปยังชุมชุมภายใต้ Soft Power ของกระทรวงวัฒนธรรม ในมิติศาสนา ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นนั้นๆ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสัมคม ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว
โดยช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศน. ได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมการดำเนินกิจกรรมฯ วางแผนกำหนดจัดกิจกรรมครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน ในระหว่างวันที่ 7–8 กันยายน 2566 ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองโคราช และมีศาสนสถานที่สำคัญคือ บูรพาจารย์เจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุแห่งบูรพาจารย์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนสักการบูชา และเป็นเครื่องเตือนใจเตือนสติในแนวทางแห่งพระธรรมคำสอน จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้มาร่วมสืบสานวิถีพุทธ ด้วยการพาครอบครัวหิ้วตะกร้า ทำบุญตักบาตร ไหว้พระเสริมสิริมงคล พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ผ่านกิจกรรมดีๆ ในครั้งนี้ไปด้วยกัน