ทำบุญได้บุญ อย่าลืม 'ลดหวาน มัน เค็ม' ช่วยสงฆ์ไทยห่างไกลโรค
ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของญาติโยม อาจกลายเป็นดาบสองคม เมื่ออาหารส่วนใหญ่ที่นำมาถวายด้วยความหวังดี นำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงให้พระสงฆ์อาพาธด้วยโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพิ่มสูงขึ้น
ศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจร่างกายกลุ่มตัวอย่าง พบว่า "พระสงฆ์" มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็น โรคอ้วน ถึง 48% ในขณะที่สามเณรเป็นโรคอ้วน 22% และที่น่าตกใจก็คือ มีพระสงฆ์ได้รับน้ำตาลจากการฉันน้ำปานะสูงถึง 20 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กรมอนามัยกำหนดคือ 6 ช้อนชาต่อวัน ส่วนหนึ่งเกิดจากอาหารที่ญาติโยมนำมาถวาย โดยมักจะเลือกถวายอาหารดี แต่มีโปรตีนต่ำ ผักน้อย ซ้ำยังเป็นของทอดที่มีไขมันสูง และลืมคำนึงถึงหลักโภชนาการไป
ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะแก่พระสงฆ์ไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ริเริ่มโครงการ "สงฆ์ไทยไกลโรค" ขึ้น
นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำบุญใส่บาตร มีความสัมพันธ์โดยตรงกับสุขภาพของพระสงฆ์ สามเณร ทางสสส. จึงร่วมกับภาคีพัฒนาองค์ความรู้ทางโภชนาการ แนะนำการเลือกอาหารใส่บาตรที่ถูกสุขอนามัยและถูกต้องตามหลักโภชนาการ พร้อมพัฒนาวัดในฐานะองค์กรและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนพระสงฆ์เป็นแกนนำความรู้ในการดูแลสุขภาวะตนเอง พร้อมเผยแพร่แก่ชุมชนและสังคมในวงกว้างต่อไป
ศ.ดร.ภญ.จงจิตร กล่าวเสริมว่า ปัจจัยสำคัญช่วยสงฆ์ไทยห่างไกลโรค เริ่มจากโภชนาการตามสูตร "4 เสริม 2 ลด" โดย "4 เสริม" ได้แก่ 1. เสริมข้าวกล้องที่มีเส้นใยอาหาร 2. เสริมเนื้อปลา 3. เสริมผัก เพิ่มใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ 4. เสริมนมพร่องมันเนย ส่วน "2 ลด" ก็คือ 1. ลดหวาน 2. ลดเค็ม
"นอกจากองค์ความรู้ด้านโภชนาการแล้ว ต้องปรับพฤติกรรมของญาติโยม ด้วยการหลีกเลี่ยงถวายอาหารรสจัด ลดหวาน มัน เค็ม และสิ่งสำคัญคือ กิจกรรมสำหรับพระสงฆ์ โดยการเคลื่อนไหวร่างกายให้เพียงพอ ช่วยพัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืน เช่น เดินบิณฑบาตให้มากขึ้น เดินจงกรม เดินรอบพระอุโบสถ กวาดลานวัด ล้วนเป็นกิริยาที่สำรวมที่พระสงฆ์ สามเณรทำได้ทั้งสิ้น"
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ sonkthaiglairok