หัวหน้าส่วนใหญ่ไม่อยากทำงานกับ ‘Gen Z’ ไล่ออกบางส่วนตั้งแต่สัปดาห์แรก
ผลสำรวจล่าสุดพบ “หัวหน้างาน” ไม่อยากทำงานกับ “Gen Z” สะดวกใจกับ “Gen X” และ “มิลเลนเนียลส์” มากกว่า ระบุ เด็กรุ่นใหม่มนุษยสัมพันธ์แย่ แม้มีข้อดีเรียนรู้ไว-เก่งเทคโนโลยี แต่ยังขาดความพยายาม มองว่า เกิดจากปัจจัยเรื่อง “โควิด-19” ทำทักษะการสื่อสารต่ำ
“Generation Gap” เป็นปัญหาในที่ทำงานที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความต่างวัยกันจึงทำให้วิธีการสื่อสารแตกต่างตามไปด้วย โดยล่าสุดผลสำรวจจาก “ResumeBuilder” ทำการเก็บรวบรวมสถิติจากกลุ่มตัวอย่างคนทำงานระดับ “Manager” หรือ “หัวหน้างาน” 1,300 คน ถึงประเด็นการทำงานร่วมกับคนในแต่ละช่วงวัย ปรากฏว่า 74 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า “Gen Z” ทำงานร่วมกันได้ยากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ซึ่งในจำนวนนี้มี 12 เปอร์เซ็นต์ที่เผยว่า พวกเขาไล่คนทำงานอายุน้อยเหล่านี้ออกภายในสัปดาห์แรกของการทำงานทันที
แม้ว่าความแตกต่างด้านวิธีคิดและการทำงานของคนแต่ละเจเนอเรชันจะถูกพูดมาพักใหญ่ แต่ “สเตซี ฮอลเลอร์” (Stacie Haller) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านอาชีพจาก “ResumeBuilder” กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา เพิ่มความท้าทายกับการทำงานของคนต่างเจเนอเรชันในหลากหลายมิติ อาทิ ประเด็นเรื่องการสื่อสาร และรูปแบบการทำงาน โดยมองว่า ผลจากการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้พฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ อยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ และไม่ค่อยได้เข้าสังคมมากนัก ทำให้ “Gen Z” ขาดรากฐานที่มีผลกับการต่อยอดสู่ความสำเร็จ สวนทางกับคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์การสื่อสารดีกว่า
สเตซีระบุเพิ่มเติมอีกว่า การเรียนออนไลน์และการทำงานทางไกลแบบ “Remort Working” มีผลต่อพัฒนาการด้านการสื่อสาร ผู้คนมีแนวโน้มที่จะได้รับอิสระมากขึ้น มองว่า หัวหน้างานจำเป็นต้องเสริมทักษะเหล่านี้ให้คนรุ่นใหม่เมื่อตัดสินใจรับพวกเขาเข้าทำงาน โดยรายละเอียดของผลสำรวจครั้งนี้ยังระบุถึงประเด็นเรื่อง “ไล่ออก” เพิ่มเติมว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของหัวหน้างานต้องไล่พนักงาน “Gen Z” ออกอย่างน้อย 1 คน, อีก 20 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ต้องไล่ออกภายในสัปดาห์แรก และอีก 27 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พวกเขาไล่พนักงาน “Gen Z” ออกภายในเดือนแรก
หนึ่งในกลุ่มตัวอย่างหัวหน้างานให้ความเห็นว่า เหตุผลที่ตัดสินใจไล่ออกและไม่อยากร่วมงานกับ “Gen Z” เป็นเพราะคนเจเนอเรชันนี้ขาดความพยายามและประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงตนยังมีวิธีคิดที่มองว่า เด็กรุ่นใหม่มักไม่ค่อยรับฟังคำตำหนิ โกรธเคืองง่ายหากถูกตำหนิเรื่องการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม “Gen Z” มีข้อดี คือ ปรับตัวได้ไวและมีทักษะเรื่องเทคโนโลยี-นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่กลัวกับความท้าทาย และพร้อมจะแชร์ไอเดียบนโต๊ะประชุมเสมอ หากแต่ความเชี่ยวชาญเหล่านั้นอาจสื่อสารไปไม่ถึงคนทำงานรุ่นเก่าๆ เนื่องจากมนุษยสัมพันธ์ของ “Gen Z” ค่อนข้างต่ำ การพูดคุยสื่อสารแบบ “Face to Face” ยังทำได้ไม่ดี หากสามารถพัฒนาตรงนี้ได้ก็จะทำให้ “Gen Z” สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานได้ดียิ่งขึ้น