ส่องผลกระทบ ‘PM 2.5’ ต่อเด็กเล็ก หลัง ‘สภา กทม.’ ตัดงบโรงเรียนปลอดฝุ่น
กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการป้องกันจาก “ฝุ่น PM 2.5” ก็คือ “เด็กเล็ก” เพราะหากสูดดมฝุ่นพิษเข้าไป จะส่งผลถึงพัฒนาการ “สมอง” โดยเฉพาะในห้องเรียนเด็กควรดูแลเรื่องสภาพอากาศให้ปลอดภัย แต่กลับพบว่า “สภา กทม.” ตัดงบประมาณส่วนนี้
Key Points:
- ปัญหาฝุ่นพิษ “PM 2.5” ยังเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทุกวัยในสังคมไทย
- หนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 แล้วอาจมีอันตรายสูง ก็คือ “เด็กเล็ก” ซึ่งส่งผลเสียถึงพัฒนาการของ “สมอง”
- นอกจากสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันตัวเองจาก PM 2.5 ให้กับเด็กเล็กแล้ว สภาพแวดล้อมในห้องเรียนก็สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการติดเครื่องกรองอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ แต่ สภา กทม. มีมติตัดงบประมาณในส่วนนี้
เด็กปฐมวัย หรือ เด็กที่มีอายุ 2-7 ขวบ ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เรื่องจากเป็นช่วงที่สมองเติบโตได้มากถึง 90% จึงเหมาะแก่การป้อนความรู้และประสบการณ์ให้กับเด็ก และนอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองแล้ว ครู และโรงเรียนในช่วงอนุบาลถึงประถมต้นก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อเด็กเริ่มมีสังคมใหม่ที่ไม่ใช่ที่บ้าน ครูต้องเป็นผู้ดูแล ให้ความรู้ และเป็นที่พึ่ง
โดยเฉพาะกับ “เด็กเล็ก” ครูต้องดูแลเป็นพิเศษ ไม่ให้มีสิ่งอันตรายมากระทบกับพัฒนาการของเด็ก
นอกจากการเลี้ยงดูทั่วไป เช่น การกิน การนอน หรือสอนให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ แล้ว การดูแลเรื่อง “สุขภาพเด็กเล็ก” ก็เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะเรื่อง “PM 2.5” ที่ปัจจุบันถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพคนทุกช่วงวัย แต่ร่างกายของเด็กมีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ จึงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่า โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับสมองและพัฒนาการ
ดังนั้นนอกจากการดูแลบ้านให้ปลอดฝุ่นแล้ว อีกหนึ่งสถานที่ที่จำเป็นต้องใส่ใจปัญหา “PM 2.5” มากเป็นพิเศษก็คือ “โรงเรียน” เพราะเป็นสถานที่ที่เด็กใช้เวลานานไม่แพ้ที่บ้าน แต่ล่าสุดเมื่อ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา “สภา กทม.” มีมติเห็นชอบตัดงบประมาณ “โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต” ของสำนักการศึกษาในวงเงิน 219,339,000 บาท ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมขึ้นทันที เพราะหลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเล็กในระยะยาว
- “PM 2.5” ส่งผลต่อสมองเด็ก ทั้งพัฒนาการช้า สมาธิสั้น
เนื่องจาก PM 2.5 เป็นฝุ่นจิ๋ว ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 25 เท่า จึงทำให้เข้าสู่ร่างกายได้โดยตรงจากการหายใจ ทำให้เกิดมลพิษตกค้างในร่างกายและทำให้มีอาการป่วยเรื้อรังได้ แต่ผลกระทบจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อเด็กเล็กหายใจเอา “PM 2.5” เข้าไปในร่างกาย เนื่องจากเด็กมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเด็กมีอายุน้อยเท่าไรก็ยิ่งหายใจถี่มากขึ้นเท่านั้น และเมื่อฝุ่นละอองเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายก็จะเข้าไปทำลายระบบต่างๆ ในร่างกายเด็กโดยเฉพาะ “สมอง” ทำให้เกิดผลเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาว
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเด็กเล็กเป็นวัยที่สมองกำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต เมื่อสูดดม PM 2.5 เข้าไป จะรบกวนกระบวนการเรียนรู้ ส่งผลให้เด็กมีปัญหาสมาธิสั้น ความจำสั้นลง รวมถึงพัฒนาการและการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ รอบตัวแย่ลง หรืออาจเรียกได้ว่า “PM 2.5” ทำให้เด็กโง่ลงนั่นเอง ซึ่งผลกระทบนี้จะคงอยู่ต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
นอกจากนี้เด็กที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ก็ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 เช่นกัน หากมารดาสูดฝุ่นพิษเข้าไปในปริมาณมาก ฝุ่นพิษจะเข้าไปทำลายเซลล์สมองของเด็กในครรภ์ ส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา
อ่านข่าว :
วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองทารก เด็กเล็ก หายใจผิดปกติเวลานอน
- โรงเรียนปลอดฝุ่นตามแนวคิด กทม. เป็นอย่างไร
จากผลกระทบของ PM 2.5 ที่เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ ทำให้ในเดือน ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา สำนักอนามัย กทม. ได้ออกมาตรการ “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” เพื่อเป็นแนวทางให้ ครู นักเรียน ไปจนถึงบุคลากรของโรงเรียน มีความรู้ความเข้าใจในการรับมือกับวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ “PM 2.5” ได้อย่างปลอดภัยด้วยตนเอง รวมถึงติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศเพิ่มเติมในบางโรงเรียน เพื่อป้องกันฝุ่นพิษเข้ามาสู่ห้องเรียน
แม้ว่าจะมีการร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อทำให้เด็กเข้าใจและรับมือกับ PM 2.5 เพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งเครื่องกรองอากาศเพิ่มในบางอาคารที่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง หรือติดเครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศในห้องเรียนเพื่อช่วยกรองอากาศสำหรับเด็กเล็กได้ในเบื้องต้น เนื่องจากการพยายามให้เด็กเล็กสวมหน้ากากอนามัยถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะเด็กอาจจะรู้สึกรำคาญและหายใจไม่ถนัด
ดังนั้นเมื่อสภา กทม. มีมติตัดงบประมาณในส่วนดังกล่าว ทำให้มีการตั้งคำถามไม่น้อยว่าจะดูแลสุขภาพเด็กเล็กต่อไปอย่างไร เพราะโรงเรียนที่ถูกตัดงบออกไปเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลทั้งหมดทั่วกรุงเทพฯ
- ทำไม สภา กทม. จึงตัดงบโรงเรียนปลอดฝุ่น ที่ไหนโดนบ้าง?
สำหรับเหตุผลที่ สภา กทม. ตัดสินใจตัดงบ “โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต” 219,339,000 บาท นั้น น.ส. นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สก. เขตคลองสามวา และโฆษก สภา กทม. ระบุว่า ทางสภาให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษามาโดยตลอด รวมถึงเพิ่มการดูแลสวัสดิการครูผู้สอน ความปลอดภัยของเด็กนักเรียน ไปจนถึงปรับปรุงห้องเรียนและโรงเรียนให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
โดยการตัดงบดังกล่าวสำหรับชั้นอนุบาล 6 เขต รวม 429 โรงเรียน 1,743 ห้อง รวมงบประมาณ 219,339,000 บาท ของสำนักการศึกษาออกนั้น ก็ยังมีกรรมการบางส่วนสงวนความเห็นเพราะเห็นด้วยกับโครงการ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ไม่คุ้มค่างบประมาณ และหน่วยงานที่ขอ “งบประมาณ” ดังกล่าว ก็แจกแจงรายละเอียดไม่ชัดเจน
สำหรับรายการโครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล ที่สภา กทม. ตัดออก ได้แก่
- เขตกรุงเทพกลาง 41 โรงเรียน 140 ห้อง จำนวน 17,646,000 บาท
- เขตกรุงเทพตะวันออก 129 โรงเรียน 561 ห้อง จำนวน 70,584,000 บาท
- เขตกรุงเทพเหนือ 45 โรงเรียน 244 ห้อง จำนวน 30,748,000 บาท
- เขตกรุงเทพใต้ 55 โรงเรียน 192 ห้อง จำนวน 24,202,000 บาท
- เขตกรุงธนเหนือ 89 โรงเรียน 247 ห้อง จำนวน 31,033,000 บาท
- เขตกรุงธนใต้ จำนวน 70 โรงเรียน 359 ห้อง จำนวน 45,126,000 บาท
หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่า กทม. จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร เพื่อไม่ให้นักเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะ “เด็กเล็ก” ที่กำลังอยู่ในวัยที่มีการเติบโตทางพัฒนาการด้านสมอง หากต้องเรียนในห้องที่เสี่ยงได้รับฝุ่น “PM 2.5” เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ก็อาจส่งผลเสียกับสุขภาพของเด็กในระยะยาว ซึ่งอาจเสียหายต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต
อ้างอิงข้อมูล : สำนักอนามัย กทม., สสส., ม.เชียงใหม่ และ TK Park