สภา กทม. แจงตัดงบ โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น กว่า 219 ล้านบาท
สภา กทม. ชี้แจงเหตุตัดงบสำนักการศึกษา โครงการตีเช็คเปล่าห้องเรียนปลอดฝุ่น 219 ล้านบาท ชี้ห้องเรียนเด็กไม่จำเป็นต้องติดแอร์ ให้ปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่นแทน
วันนี้ (7 ก.ย. 66) นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตคลองสามวา ในฐานะโฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยกรณีสภากทม.เห็นชอบตัดงบประมาณโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น จากข้อบัญญัติงบประมาณกรุงเทพมหานคร ปี 2567 วานนี้ ว่า สภากรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเรื่องของการศึกษาตลอดมา ทั้งเรื่องการเพิ่มศักยภาพการดูแลสวัสดิการครูผู้สอน การเพิ่มความปลอดภัยให้เด็กนักเรียน รวมถึงการปรับปรุงกายภาพห้องเรียนและโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนโรงเรียนกทม.ได้มีโอกาสในการศึกษาเท่าเทียมกับโรงเรียนสังกัดอื่น
ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณกทม.ปี67 เห็นด้วยกับโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต รวม 429 โรงเรียน 1,743 ห้อง รวมงบประมาณ 219,339,000 บาท ของสำนักการศึกษา แต่ยังมีกรรมการหลายท่านได้ขอสงวนความเห็น เนื่องจากเห็นด้วยกับโครงการแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ซึ่งไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ ประกอบกับโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่นเดิม นำร่อง 32 แห่ง ที่กทม.ดำเนินการอยู่ไม่มีการขยายผลต่อยอดแต่อย่างใด
รวมถึง ในขั้นตอนการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 หน่วยงานผู้ขอรับงบประมาณไม่ได้มีการแสดงเอกสาร ความชัดเจนของที่มาการของบประมาณ กรรมการวิสามัญฯจึงได้ขอสงวนความเห็นเพื่ออภิปรายในการประชุมสภากทม.และให้ที่ประชุมได้วินิจฉัยว่าจะพิจารณาเห็นชอบให้ตัดหรือคงอยู่ โดยเหตุผลหลักที่กรรมการวิสามัญได้อภิปรายในที่ประชุมสภากทม. ประกอบด้วย
1.เอกสารโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นของทุกกลุ่มเขตที่หน่วยงานนำมาแสดงมีรายละเอียดเหมือนกันหมด คือ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด 30,000 BTU จำนวน 2 เครื่อง ในขณะที่สภาพห้องเรียนทุกแห่งมีขนาดที่แตกต่างกัน บางห้องเรียนมีขนาดเพียง 20 ตร.ม. และบางเขตมีจำนวนห้องเรียนอนุบาลไม่มาก และได้จัดให้เด็กอนุบาลได้เรียนรวมกัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศ BTU ที่สูงและต้องติดตั้งให้ครบทุกห้อง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น
2.การติดตั้งเครื่องปรับอากาศจำเป็นต้องมีงบประมาณค่าไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นด้วย รวมถึงค่าบำรุงรักษา ค่าล้างทำความสะอาด แต่พบว่าไม่ได้มีการของบประมาณในส่วนอื่นให้สอดคล้องกัน ทำให้เห็นว่าไม่มีการวางแผน เพียงแต่ต้องการใช้งบประมาณเท่านั้น
3.การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต้องทำให้ถูกจุด ทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวการให้ความรู้เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่มอาจไม่สอดคล้องกับนโยบายลดภาวะโลกร้อนของผู้บริหาร
“การเขียนโครงการเหมารวมในรูปแบบเดียวกันทุกกลุ่มเขต การตั้งราคาเครื่องปรับอากาศที่สูงเกินบริบทของห้องเรียน การกำหนดงบประมาณจากเบื้องบนเพื่อให้เบื้องล่างนำไปปฏิบัติ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งาน จึงเหมือนการตีเช็คเปล่าที่ไม่ได้เจาะจงการใช้เงินให้เห็นชัดเจน นอกจากนี้ การติดตั้งเครื่องปรับอากาศโดยไม่ได้จัดหาเครื่องฟอกอากาศเพิ่มอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันฝุ่นซึ่งมีจำนวนสูงเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ และเรื่องความปลอดภัยของเด็กไม่ได้มีแค่เรื่องฝุ่น แต่เรื่องของกล้องวงจรปิด ห้องน้ำที่เพียงพอและถูกสุขลักษณะ การปลูกต้นไม้ฟอกอากาศในโรงเรียน เป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน” โฆษกสภากทม. กล่าว
สำหรับรายการโครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นที่สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบตัดออก ประกอบด้วย
- โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง จำนวน 41 โรงเรียน 140 ห้อง จำนวน 17,646,000 บาท
- โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก จำนวน 129 โรงเรียน 561 ห้อง จำนวน 70,584,000 บาท
- โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ จำนวน 45 โรงเรียน 244 ห้อง จำนวน 30,748,000 บาท
- โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ จำนวน 55 โรงเรียน 192 ห้อง จำนวน 24,202,000 บาท
- โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ จำนวน 89 โรงเรียน 247 ห้อง จำนวน 31,033,000 บาท
- โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงธนใต้ จำนวน 70 โรงเรียน 359 ห้อง จำนวน 45,126,000 บาท