คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ? ‘คนจน’ ในประเทศไทย อยู่ที่ไหนบ้าง
เปิดสถิติจำนวน “คนจน” ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนในประเทศไทยประจำปี 2565 มีเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน หลัง “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ” กลายเป็นไวรัลดัง
หากคุณเล่นโซเชียลช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันใด ๆ คงจะต้องวิดีโอผู้หญิงสาวหน้านิ่งร้องเพลงหมอลำที่มีเนื้อเพลง “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ?” ซึ่งทำเอาคนฟังขำเนื้อร้องที่จริงใจ ตรงประเด็น บวกับท่าทีการร้องของเธอที่ขัดกับเนื้อร้อง
สำหรับผู้ที่ขับร้องเพลงนี้ คือ “เดือนเพ็ญ เด่นดวง” นักร้องหมอลำซิ่ง โดยแปลงเนื้อร้องจากเพลง สมองจนจน ของ มืด ไข่มุก (วงพลอย) ทำการแสดงที่ งานกาชาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี 2539 ในงานกาชาด จ.กาฬสินธุ์
คลิปนี้กลายเป็นไวรัลทั่วโลกออนไลน์ พร้อมเกิดประเด็นตามมามากมาย และการตั้งคำถามว่าในปัจจุบันนี้ คนจนมีสิทธิ์อะไรบ้าง และพวกเขาอยู่ที่ไหนในประเทศนี้บ้าง?
- ประเทศไทยมี “คนจน” เป็นล้านคน
ประเทศไทยทำการสำรวจข้อมูล “คนจน” ทุกปีโดย “ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า” หรือ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) ด้วยการอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐหลายแหล่งมายืนยันซึ่งกันและกันภายใต้สมมติฐานว่า คนที่ได้รับการสำรวจว่าจน (survey-based) และยังมาลงทะเบียนว่าจนอีกด้วย (register-based) น่าจะเป็น “คนจนเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน”
ในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ที่เข้าเกณฑ์คนจนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนทั้งสิ้น 1,025,782 คน คิดเป็น 2.84% จากประชากรที่ถูกสำรวจ 36,103,806 คน โดยจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุด คือ “เชียงใหม่” มีจำนวนคนจนทั้งสิ้น 52,928 คน ตามมาด้วย “บุรีรัมย์” 45,356 คน ส่วนอันดับที่ 3 คือ “เชียงราย” ด้วยจำนวน 42,140 คน “นครศรีธรรมราช” รั้งอันดับ 4 ด้วยจำนวน 36,941 คน และอันดับที่ 5 เป็นของ “อุดรธานี” 36,931 คน
ขณะที่ จังหวัดที่มีคนจนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนน้อยที่สุด คือ “ตราด” มีคนจนเพียง 706 คน
หากแยกคนจนตามมิติต่าง ๆ จะพบว่ามีคนจนรายได้มากที่สุดถึง 506,647 คน อันดับที่ 2 เป็น คนจนการศึกษามีทั้งสิ้น 272,518 คน ตามมาด้วย คนจนสุขภาพจำนวน 218,757 คน อันดับที่ 4 คือ คนจนความเป็นอยู่ 220,037 คน ส่วนคนจนการเข้าถึงบริการภาครัฐมีเพียง 3,335 คน
- วิธีการหา “คนจน” ในประเทศไทย
สำหรับข้อมูลการสำรวจคนจนเป็นของ ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จากกรมการพัฒนาชุมชน ส่วนข้อมูลลงทะเบียนว่าจน มาจากข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐจากกระทรวงการคลัง ดังนั้น “คนจนเป้าหมาย” ของ TPMAP ก็คือคนจนใน จปฐ. ที่ไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ
เพื่อให้ได้คนจนเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนอย่างครอบคลุมและครบถ้วน TPMAP จึงใช้วิธีการคำนวณดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI) ซึ่งคนจนจะต้องมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างน้อยหนึ่งมิติ เกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดีมีด้วยกัน 5 มิติประกอบไปด้วย
ด้านสุขภาพ
- เด็กแรกเกิดมีน้ำหนัก 2,500 กรัมขึ้นไป
- ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน
- ครัวเรือนมีการใช้ยาเพื่อบำบัด บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างเหมาะสม
- คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที
ด้านความเป็นอยู่
- ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และบ้านมีสภาพคงทนถาวร
- ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 5 ลิตรต่อวัน
- ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 45 ลิตรต่อวัน
- ครัวเรือนมีการจัดการบ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และถูกสุขลักษณะ
ด้านการศึกษา
- เด็กอายุ 3-5 ปี ได้รับบริการเลี้ยงดูเตรียมความพร้อมก่อนวัยเรียน
- เด็กอายุ 6-14 ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี
- เด็กจบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า
- คนอายุ 15-59 ปี อ่าน เขียนภาษาไทย และคิดเลขอย่างง่ายได้
ด้านรายได้
- คนอายุ 15-59 ปี มีอาชีพและรายได้
- คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาชีพและรายได้ รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี
ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ
- ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
- ผู้พิการ ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
ข้อมูลของ TPMAP นำมาใช้ตอบคำถามได้ว่า คนจนอยู่ที่ไหน? คนจนมีปัญหาอะไร? จะพ้นความยากจนได้อย่างไร? โดยสามารถนำประโยชน์ในการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับประเทศ และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้สามารถออกนโยบายและปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด
- ประเทศไทยมีคนจนแค่ล้านกว่าคน ?
เนื่องด้วย TPMAP ใช้ข้อมูลของภาครัฐมาตรวจสอบกัน อาจมีรายชื่อคนจนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนตกหล่นไป เพราะคนจนเหล่านั้นไม่ได้ถูกสำรวจ และไม่ได้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากรายงาน การประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 และข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่ ที่จัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า รัฐบาลเน้นแนวคิดในการให้สวัสดิการแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม ผู้มีรายได้น้อยและคนจน กลุ่มเกษตรกร แรงงานนอกระบบบางกลุ่ม ด้วยโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
“รัฐบาลไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาพื้นฐานของการให้สวัสดิการแบบเจาะจง คือการตกหล่นคนจน ซึ่งมีสูงถึง 51% ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ 31% ในโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ทั้งที่ประสบการณ์ทั่วโลกชี้ให้เห็นว่านโยบายแบบเจาะจง จะมีปัญหาการตกหล่นคนจนในสัดส่วนสูงเกือบทั้งหมด”
ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอชี้สาเหตุที่คนจนตกหล่นจากการลงทะเบียนรับสวัสดิการของรัฐมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเป็นกลุ่มที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่เข้าใจเงื่อนไข ไม่แน่ใจว่าตนเองจะได้รับสิทธิ์หรือไม่ ทำให้ไม่กล้ามาลงทะเบียน รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางที่อยู่บ้าน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ไม่สามารถมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติรับบัตรสวัสดิการมากกว่าจำนวนคนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเกือบสิบเท่า
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ข้อมูลจนถึงวันที่ 4 ก.ย.2566 มีผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ จำนวนทั้งสิ้น 13,809,073 คน หรือคิดเป็น 91.8% ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด
แม้ว่าบทเพลงนี้จะผ่านมากกว่า 30 ปีแล้ว แต่คนจนในไทยก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน และการเรียกร้องสิทธิ์ที่ควรจะได้รับก็ยังคงอยู่ โดยหวังจะได้สวัสดิการอย่างเหมาะสมไม่ว่าจะจากรัฐบาลใดก็ตาม
ที่มา: BBC, Thai PBS, TDRI, TPMAP
กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง