3 ความท้าทาย ‘พิสูจน์ความจน’ เบี้ยผู้สูงอายุ จนจริง จนไม่จริง พิสูจน์อย่างไร
“การพิสูจน์ความจน” กลายเป็นประเด็นใหญ่ในไทย เมื่อเกณฑ์ใหม่สำหรับ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ทำให้ผู้ที่กำลังจะมีอายุครบ 60 ปี อาจต้องพิสูจน์ความจนก่อนถึงมีสิทธิได้รับเบี้ย สิ่งนี้นำมาซึ่งความท้าทาย 3 ประการที่อาจเป็นปัญหาในการจัดสรรงบประมาณให้ตกถึงมือคนที่จนจริง
Key Points
- ธนาคารโลก กำหนดเส้นแบ่งความยากจนล่าสุดไว้ที่ 2.15 ดอลลาร์ หรือราว 75 บาท/คน/วัน จากแต่เดิมอยู่ที่ 1.90 ดอลลาร์/คน/วัน
- สำนักงานสถิติแห่งชาตินับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา กำหนดเส้นแบ่งความยากจนไว้ที่ 2,802 บาท/คน/เดือน หรือ 33,624 บาท/คน/ปี
- จากความซับซ้อนในการตีความ “ความจน” จึงอาจมีโอกาสผิดพลาดที่คนจนจริงอาจไม่ได้รับเบี้ยสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ยากไร้จริงมักไม่ค่อยได้รับทราบข่าวสาร จากความขาดแคลนอุปกรณ์จำเป็น
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลรักษาการประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 12 ส.ค. 2566 โดยนอกจากข้าราชการบำนาญแล้ว ผู้ที่กำลังจะมีอายุ 60 ปีขึ้นไปจากแต่เดิมที่ควรได้รับเบี้ยนี้ “ทุกคน” เปลี่ยนเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ คือ ให้เฉพาะ “คนจน”
คำถามที่ตามมาคือ จะพิสูจน์ความจนอย่างไรและอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างคนจนกับคนไม่จน กลายเป็นความท้าทายการออกเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุใหม่มาบังคับใช้ 3 ประการ ดังนี้
- 1. มาตรฐานเส้นความยากจนที่หลากหลาย
เส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) ถือเป็นเส้นที่แบ่งระดับรายได้มนุษย์ว่า ถ้ามีรายได้น้อยกว่าระดับเส้นแบ่งนี้ ถือว่าอยู่ในกลุ่ม “คนจน” ซึ่งแต่ละแห่งก็กำหนดไว้ไม่เหมือนกัน เช่น
- ธนาคารโลก (World Bank) กำหนดเส้นแบ่งความยากจนล่าสุดไว้ที่ 2.15 ดอลลาร์ หรือราว 75 บาท/คน/วัน จากแต่เดิมอยู่ที่ 1.90 ดอลลาร์/คน/วัน ซึ่งถ้าไทยใช้หลักเกณฑ์ของธนาคารโลก ไทยอาจไม่มีคนจนเลยก็เป็นได้ โดยเหตุผลที่เส้นความยากจนของธนาคารโลกมีระดับต่ำเช่นนี้ มาจากค่าน้ำหนักรายได้ประชากรของประเทศแถบแอฟริกาซึ่งยากจนมาก เข้ามาเป็นองค์ประกอบในการคำนวณด้วย
- รัฐบาลจีน กำหนดเส้นแบ่งความยากจนไว้ที่ 2.3 ดอลลาร์หรือราว 80 บาท/คน/วัน
- กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์แห่งสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ที่ 35 ดอลลาร์หรือราว 1,200 บาท/คน/วัน
ขณะที่ไทย เกณฑ์ของเส้นแบ่งความยากจนมีหลากหลายมาตรฐาน ดังนี้
เริ่มจากสำนักงานสถิติแห่งชาตินับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา กำหนดไว้ที่ 2,802 บาท/คน/เดือน หรือ 33,624 บาท/คน/ปี
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กำหนดไว้ที่ 2,762 บาท/คน/เดือน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อ้างอิงจาก ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง กำหนดเส้นแบ่งความยากจนอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท/คน/เดือน
จากตัวเลขเส้นความยากจนที่ไม่เหมือนกันจากแต่ละที่ สะท้อนว่าประเทศที่มีความเป็นอยู่ที่ดี ประชากรมีรายได้สูงอย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวียและสิงคโปร์ คนจนในประเทศเหล่านั้นอาจมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนจนในไทย
ขณะเดียวกัน คนจนในไทยก็อาจมีชีวิตที่ดีกว่าคนจนในแถบแอฟริกา จึงเกิดคำถามที่ว่า อะไรคือมาตรฐานเส้นแบ่งคนจนของโลก
ถ้าใช้เกณฑ์ของธนาคารโลก 75 บาท/คน/วัน จะหมายถึงคนจนส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา ส่วนประเทศอื่น ๆ ถือว่าไม่มีคนจนอีกแล้วหรือไม่
ในปัจจุบัน รัฐบาลรักษาการของไทยกำลังยังอยู่ในระหว่างการออกแบบหลักเกณฑ์ กลายเป็นความท้าทายของรัฐไทยในการออกแบบว่า ต้องใช้ตัวแปรอะไร คำนึงจากปัจจัยใด เพื่อกำหนดเกณฑ์ความยากจนให้เป็นที่ยอมรับกันในสังคม
- ผู้สูงอายุไทย (เครดิต: Freepik) -
- 2. ปัญหาการวัดความจนจากรายได้
จากตัวเลขเส้นแบ่งความยากจนอันหลากหลายดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า เป็นการดูความจนจาก “มิติรายได้” เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดกรณี “นายไม้” ทำนาขาดทุน แทบไม่มีรายได้พอยังชีพ แต่มีที่นาผืนหนึ่งเป็นของตัวเอง จะถือว่านายไม้เป็นคนจนหรือไม่
“เป็นคนจน” เพราะมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ หรือ “ไม่เป็น” เพราะมีที่นาเป็นของตัวเองแล้ว
ควรให้น้ำหนักสิ่งใดสำคัญกว่าในการพิจารณา ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
นอกจากนั้น การพิสูจน์ความจนตามเกณฑ์ใหม่ในการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่หากพิจารณาจากที่ดิน หรือสินทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมา จะกลายเป็น “เพิ่มความซับซ้อนขึ้น” ส่งผลให้ใช้เวลายาวนานขึ้น หลายขั้นตอนมากขึ้น อาจทำให้ผู้สูงอายุที่ทั้งชราและมีปัญหาสุขภาพเกิดความลำบากในการรอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุยากไร้ที่อาจไม่ค่อยมีเวลาในการดำเนินเรื่อง เนื่องจากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด
- 3. ปัญหาคนจนจริงตกสำรวจ
จากความซับซ้อนในการตีความ “ความจน” จึงอาจมีโอกาสผิดพลาดที่คนจนจริงอาจไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุนี้ โดยเฉพาะผู้ยากไร้จริงมักไม่ค่อยได้รับทราบข่าวสาร จากความขาดแคลนอุปกรณ์จำเป็น และไม่มีแม้แต่เงินค่าเดินทางไปลงทะเบียน
ยิ่งต้องผ่านการพิสูจน์ที่ยาวนานขึ้น หลายขั้นตอนมากขึ้น อาจเป็นการลดโอกาสคนจนที่จะเข้าถึงเงินช่วยเหลือนี้
นอกจากนั้น การเปลี่ยนจาก “ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม” เปลี่ยนเป็น “เฉพาะคนจน” ทำให้คณะกรรมการส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานรัฐต่าง ๆ สามารถคัดเลือกได้ว่าควรจะให้ใคร
สิ่งนี้ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า อาจเป็นการเปิดช่องให้เอื้อต่อบางกลุ่มเป็นพิเศษมากขึ้นหรือไม่ และกลายเป็นผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกัน อันเป็นความท้าทายของภาครัฐส่วนกลางในการหาทางรับมือช่องโหว่เหล่านี้
ดร.สมชัย จิตสุชน แห่งสถาบัน TDRI ให้ความเห็นเมื่อไม่นานนี้ว่า เบี้ยผู้สูงอายุโดยพื้นฐานนั้นควรเป็นแบบถ้วนหน้า โดยเมื่อย้อนกลับไปที่ยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่เปลี่ยนเป็นแบบถ้วนหน้าในปี 2552 เป็นเพราะกลไกการให้เงินช่วยเหลือมีปัญหาจริง ๆ ซึ่งดร.สมชัยได้พบคุณยายสูงอายุท่านหนึ่ง ไม่มีรายได้ ป่วยเป็นเบาหวาน และขาบวมมากจนกระทั่งแม้แต่ขยับตัวก็ลำบาก อีกทั้งลูกหลานยังไม่ดูแล อาศัยข้าวจากเพื่อนบ้านประทังชีวิตในแต่ละวัน บางมื้อก็ไม่ได้รับประทาน
ผลปรากฏว่า คุณยายท่านนั้นไม่ได้เบี้ยยังชีพในยุคนั้น ซึ่งมาจากกลไกการคัดกรองมีปัญหา เมื่อสอบถามคนในชุมชนก็พบว่า คนที่ได้รับเบี้ยดังกล่าวเป็นญาติกับผู้ใหญ่บ้าน เป็นญาติกับอบต. มีการเล่นพวกเล่นพ้อง คนแก่ที่จนจริงกลับไม่ได้รับเงินตามสิทธิที่ควรจะได้
- ดร.สมชัย จิตสุชน (เครดิต: TDRI) -
ดร.สมชัยเสริมอีกว่า เบี้ยผู้สูงอายุควรเป็นแบบถ้วนหน้า แต่คงไว้ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ตามระดับในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราว 600-1,000 บาทเพื่อลดภาระทางการคลัง ผู้สูงอายุจะได้ถ้วนหน้าทุกคนแบบไม่มีการคัดกรอง และถ้าต้องการเพิ่มงบประมาณอีกเป็นพันกว่าบาทหรือกระทั่งถึง 3,000 บาทตามที่หาเสียงไว้ ส่วนเงินที่เพิ่มนี้ก็ให้เข้าสู่ระบบคัดกรองได้ เพื่อช่วยผู้สูงอายุที่ยากจนมาก
โดยสรุป จากกรณีเกณฑ์รับเบี้ยผู้สูงอายุใหม่นี้ โดยเปลี่ยนเป็นเลือกให้เฉพาะคนจน เพื่อความมั่นคงทางการคลังระยะยาวนั้น จริงอยู่ที่ผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การต้องพิสูจน์ความจนก็ตามมาด้วยความท้าทาย 3 ข้อ คือ ควรใช้มาตรฐานความจนใดที่จะเป็นที่ยอมรับ ปัญหาการตีความความจนจากรายได้ และการตกสำรวจ ปัญหา 3 ข้อนี้อาจทำให้เงินที่จะเข้าถึงคนจนจริงมีความยุ่งยากและตกหล่นมากขึ้นได้
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้คนในสังคมยังตั้งคำถามว่า งบประมาณในการเพิ่มคุณภาพชีวิตอย่างเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนี้ ควรแล้วหรือที่จะอยู่ในลำดับต้น ๆ ที่จะถูกตัดออก เพื่อความมั่นคงทางการคลัง ทั้งที่ยังมีงบประมาณส่วนอื่นที่มากเกินไปหรือจำเป็นน้อยกว่าที่ควรถูกตัดก่อนเบี้ยผู้สูงอายุ
อ้างอิง: worldbank, bbc, twitter, finance, eef, eef(2), tdri, thansettakij, bangkokbiznews, bangkokbiznews(2)