โอกาสได้เพิ่ม 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' เป็น 3,000 บาท

โอกาสได้เพิ่ม 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' เป็น 3,000 บาท

1 ตุลาคม วันผู้สูงอายุสากล เช็กสิทธิและสวัสดิการที่ผู้สูงอายุไทยได้รับในปัจจุบัน  รวมถึง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โอกาสที่จะได้รับ 3,000 บาทต่อเดือน 

Keypoints:

  •    สิทธิและสวัสดิการที่ผู้สูงอายุไทยได้รับในปัจจุบัน อ้างอิงจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มี 16 ด้าน
  •     เจาะโอกาสที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะได้รับเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือน ล่าสุด มีการลงชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ….
  • นโยบายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุใน 3 กระทรวงหลัก กระทรวงพม. และกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้รัฐบาลใหม่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน 

      วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กำหนดขึ้นครั้งแรกในปี 2534 โดยความหมายของผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง

 16สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุ

           อ้างอิงจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ให้ข้อมูลว่า ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

              1.  ด้านการแพทย์และสาธารณสุข การจัดช่องทางพิเศษเฉพาะเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว

              2.  ด้านการศึกษา การศาสนา และข้อมูลข่าวสาร จัดศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน และให้มีหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงขั้นอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย และมีรายการต่างๆเพื่อผู้สูงอายุ

    3.  ด้านการประกอบอาชีพ ฝึกอาชีพที่เหมาะสม ขัอมูล คําปรึกษา ข่าวสารตลาดแรงงาน การจัดหางาน รับสมัครงาน บริการข้อมูลทางอาชีพ ตําแหน่งว่างงาน การอบรมและฝึกอาชีพ โดยมี ศูนย์กลางข้อมูลทางอาชีพและตําแหน่งงานสําหรับผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ ที่ สํานักงานจัดหางานทุกแห่ง

              4.  ด้านการพัฒนาตนเอง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่าย/ชุมชน การส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มหรือชมรมผู้สูงอายุ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ทางสังคมภายในชุมชน และ/หรือระหว่างชุมชน และส่งเสริมการใช้ ศักยภาพผู้สูงอายุ โดยเพิ่มการจัดกิจกรรมทางกีฬา นันทนาการ และการถ่ายทอดภูมิปัญญา

              5.  ด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการสาธารณะอื่น
โอกาสได้เพิ่ม \'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ\' เป็น 3,000 บาท

              6.  ด้านการลดหย่อนค่าโดยสาร และการอำนวยความสะดวกในการเดินทางการรถไฟแห่งประเทศไทย

              7.  ด้านการยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวในความ รับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และองค์การสวนพฤษศาสตร์ เป็นต้น

              8.  ด้านการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรม หรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง

              9.  การให้คำแนะนำ ปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดี และในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว

              10.  ด้านการช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง กรณีผู้สูงอายุที่เดือดร้อนจะได้รับการช่วยเหลือตามประกาศกระทรวงการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุน การจัดที่พักอาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่มให้ผู้สูงอายุตามความจําเป็นอย่างทั่วถึง

           11.  ด้านการช่วยเหลือเงินเบี้ยยังชีพ จะได้รับ การช่วยเหลือเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต โดยแบ่งตามช่วงอายุแบบขั้นบันได ดังนี้ อายุ 60 – 69 ปี จะได้รับเดือนละ 600 บาท อายุ 70 – 79 ปี จะได้รับเดือนละ 700 บาท อายุ 80 – 89 ปี จะได้รับเดือนละ 800 บาท อายุ90 ปีขึ้นไป จะได้รับเดือนละ 1,000 บาท

              12.  การสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี

              13.  การจัดบริการสถานที่ท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมกีฬาและนันทนาการตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติประกาศกำหนด

              14.  การจัดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และการจัดกิจกรรมด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติประกาศกำหนด

              15.  ด้านการลดหย่อนภาษีเงินได้ และการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้บริจาคทรัพย์สิน เงินให้แก่กองทุนผู้สูงอายุ ผู้เลี้ยงดูบิดา มารดา ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินจํานวน 30,000 บาท – ผู้บริจาคทรัพย์สิน เงินให้แก่กองทุนผู้สูงอายุ สามารถนําใบเสร็จ ไปลดหย่อนภาษีได้

              16.  ด้านกองทุนผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุได้รับ การให้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพรายบุคคล และรายกลุ่มสําหรับผู้สูงอายุ โดย ต้องชําระคืนเป็นรายงวด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย
โอกาสได้เพิ่ม \'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ\' เป็น 3,000 บาท
ลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานฯ

        นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (We Fair) กล่าวในจัดงานวันผู้สูงอายุสากล 2566 (International Day for Older Person 2023) ที่ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพมหานครว่า เครือข่ายมารณรงค์เรื่องสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้สูงอายุ เป็นวันแรกของการรวบรวมรายชื่อได้ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้  เครือข่ายได้ยื่น ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ…. ต่อที่ปรึกษาประธานสภาฯ ให้บรรจุเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสภาไปแล้ว หลังจากรวบรวมรายชื่อได้ตามที่กำหนด จะไปยื่นที่ประชุมสภา 13 ธันวาคมนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเปิดประชุมสภาสมัยที่ 2

         หลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือการที่จะพัฒนาเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท เป็นบำนาญประชาชนถ้วนหน้า ทุกคนจะได้รับบำนาญประชาชน ถือเป็นสิทธิสวัสดิการ โดยต้องการให้บำนาญประชาชนเป็นหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุโดยใช้เกณฑ์อัตราการจ่ายไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ 3,000 บาท

     สามารถที่จะขยับเป็นขั้นบันไดได้ จากเดิม 600-1,000 บาท ปรับได้เลยเป็น 1,000 บาทเมื่ออายุ 60 ปี จะใช้งบประมาน 140,000 ล้านบาทต่อปีจากที่ใช้ 80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่ากับ 12% ของเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น โดยบำนาญประชาชนจะมีผู้สูงอายุได้รับราว  11 ล้านคน

โอกาสได้เพิ่ม \'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ\' เป็น 3,000 บาท
นโยบายผู้สูงอายุรัฐบาลใหม่

        วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวในการตรวจเยี่ยมกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.)ว่า ได้มอบนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นคลังปัญญาให้คำแนะนำแก่คนรุ่นต่อไป การอยู่ร่วมกันระหว่างรุ่น (Intergenerational House)  การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีพฤฒิพลัง  (Active Ageing) ด้วยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม  การจ้างงานผู้สูงอายุที่มุ่งเน้นลักษณะงานที่เหมาะสม  การปรับที่พักอาศัยแบบ Universal Design  และการดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่ก่อนสูงวัยทุกมิติ อาทิ การบริหารเงินออม และความรู้ Cyber Security เป็นต้น  
          การให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเปราะบางต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม (Climate Change) การสร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) ด้วยการคัดแยกขยะแล้วเปลี่ยนเป็นเงิน และการเชื่อมโยง Database พม. หนึ่งเดียว ระหว่างกรมต่างๆ โดยเฉพาะการดึงศักยภาพของภาคเอกชนมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

      ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ที่มีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรี ได้มีการประกาศ Quick Win 9 ประเด็น ที่จะดำเนินการเห็นผลเป็นรูปธรรมใน 100 วัน จากทั้งหมด 13 ประเด็น เพื่อเสนอเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพิจารณาเลือกเป็น Quick Win ของรัฐบาล

     โดย 1 ใน 9  ประเด็น มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยตรง คือ สถานชีวาภิบาล ที่จะให้การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน/ติดเตียง ผู้ป่วยระยะประคับประคอง จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขตสุขภาพละ 1 แห่ง โดยทั่วประเทศมี 13 เขตสุขภาพ