เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ยันเข้าร่วม กมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้าไม่ขัดกฎ
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโต้เอ็นจีโอสุขภาพ ยันเข้าร่วม กมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้าไม่ขัดกฎ WHO ชี้ข้ออ้างเอ็นจีโอปิดกั้นผู้เห็นต่าง ไม่เคารพรัฐธรรมนูญไทย
หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้มีญัตติให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงในประเทศเมื่อวันที่ 27 กันยายน 66 ต่อมาเครือข่ายต่อต้านการสูบบุหรี่ได้ขอยื่นคำร้องต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว
นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และเพจ 'บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร' ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกเครือข่ายต่อต้านบุหรี่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไว้โดยหลับหูหลับตาไม่ยอมรับความจริงว่าการแบนที่ผ่านมาล้มเหลว เกิดช่องว่าง ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ได้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'บุหรี่ไฟฟ้า' เพิ่มความเสี่ยง สูบบุหรี่ธรรมดา 3 เท่า
แจงกรอบอนุสัญญาฯ ไม่มีการห้ามการเข้ามามีส่วนร่วม
นอกจากนี้ ยังกล่าวอ้างถึงกรอบอนุสัญญาฯ มาตรา 5.3 ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่เกินขอบเขตอันสมควรเพื่อมากีดกันและปิดปากผู้ที่เห็นแตกต่าง เพราะกรอบอนุสัญญาฯ ไม่มีการห้ามการเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น เพียงแต่ต้องทำอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
ทั้งนี้ แนวทางตามที่ระบุในมาตรา 5.3 นั้นยังไม่มีสถานะและผลผูกพันตามกฎหมายสำหรับประเทศไทย และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญของไทยที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเน้นการมีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตย
ย้ำไม่บอกให้เปิดเสรี แต่เปิดให้มีสิทธิเลือก
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวเสริมว่า พวกเราเครือข่ายลาขาดควันยาสูบ ขอยืนยันอีกครั้งว่ามุ่งมั่นที่จะเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และไม่ได้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจยาสูบ ออกมาผลักดันและเคลื่อนไหวให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ควบคุมอย่างถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกับที่อีกกว่า 70-80 ประเทศทั่วโลกทำ
"เราไม่เคยบอกให้เปิดเสรี เพราะในฐานะผู้ใช้เราก็อยากให้ผู้สูบบุหรี่ทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิเข้าถึงทางเลือกอื่นนอกกจากการสูบบุหรี่ที่มีสารเคมีจากการเผาไหม้กว่า 6,000 ชนิด ถ้าตั้งใจจะใส่ร้ายป้ายสีให้เสื่อมเสียชื่อเสียงอีก เราก็พร้อมจะดำเนินการทางกฎหมาย"นายมาริษ กล่าว
นายอาสา กล่าวด้วยว่า การที่เครือข่ายเอ็นจีโอต่อต้านการสูบบุหรี่ออกมากดดันคณะกรรมาธิการฯ ทั้งที่สภามีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญอย่างถูกต้องตามกระบวนการของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่วมกันอย่างรอบด้านถึงผลประโยชน์ของการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกควบคุมด้วยกฎหมายและสะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบันของไทย เป็นการกระทำที่น่าผิดหวังและไม่ให้เกียรติกลไกของรัฐสภา
"เชื่อว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะไม่ปิดกั้นสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนพึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญของไทย เช่นเดียวกับที่เอ็นจีโอต่อต้านการสูบบุหรี่ส่งตัวแทนมานั่งใน กมธ. นี้เช่นกัน" นายอาสา กล่าว