เปลี่ยน “เหยื่อ” เป็น “ฮีโร่” กับโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2

เปลี่ยน “เหยื่อ” เป็น “ฮีโร่” กับโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มาพร้อมปัญหาผู้สูงวัยถูกหลอกจากสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก ‘กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’ จัดกิจกรรมอบรม Yold digital literacy ‘วัยเก๋ารู้เท่าทันดิจิทัล’ ติดอาวุธให้ผู้สูงวัยเท่าทันสื่อดิจิทัลมากขึ้น

• เวลาไม่หยุดนิ่ง ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากขึ้นทุกปี เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เมื่อ 2-3 ปีก่อนมีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน ปัจจุบันสูงขึ้นเป็น “1 ใน 5” ของประชากรทั้งประเทศ

• กลับกันอัตราเกิดต่ำมาก อนาคตจึงเกิดปัญหาประชากรไม่สมดุลอย่างแน่นอน

• ปัญหาที่ตามมา จากสถิติ “ผู้สูงอายุ” และผู้ที่ 55 ปีขึ้นไป ถูกหลอกจากสื่อออนไลน์มากที่สุด ภัยร้ายอันดับ 1 คือ Romance Scammer โดยมีผู้ร้องเรียนว่ากลุ่มผู้สูงอายุถูกหลอกลวงจากไซเบอร์ ประมาณ 1,400 คนต่อวัน เดือนหนึ่งร่วม 30,000 กว่าเคส รวมมูลค่าความเสียหายกว่าสามหมื่นล้านบาท จำนวนนี้ตามเงินคืนได้เพียงแค่สองเปอร์เซ็นต์ (ประเทศไทยถูกหลอกจากภัยไซเบอร์อันดับต้น ๆ ของโลก)

• ปัจจุบันมีโครงการเล็ก ๆ เริ่มจากคนกลุ่มเล็ก 100-200 คน หวังจะจุดประกายให้กับคนในสังคมและหน่วยงานต่าง ๆ ตระหนักถึงภัยไซเบอร์และรู้เท่าทันดิจิทัล โดยส่งเสริมบทบาททางสื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ ไม่ตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป แต่เป็นฮีโร่ช่วยสังคม

• Yold digital literacy วัยเก๋ารู้เท่าทันดิจิทัล

“ปีที่แล้ว เราทำโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์กรุ่นที่ 1 สร้างผู้สูงอายุสูงวัยหัวใจยังเวิร์กได้หลายด้าน เราต้องการให้เป็น Yold digital literacy วัยเก๋ารู้เท่าทันดิจิทัล ถ่ายทอดองค์ความรู้ ไม่ให้อยู่เฉย ๆ เปิดรับสื่อ เปิดรับดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ เราต้องดูแลตัวเองให้ได้ ไม่เป็นคนที่โดนหลอก และปกป้องตัวเองและปกป้องคนอื่นได้ด้วย”

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เกียรติเดินทางบรรยายเนื้อหา รู้เท่าทันสื่อและให้กำลังใจผู้เข้าอบรม โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี2 หัวข้อ สื่อเปลี่ยน ผู้สูงอายุต้องปรับ สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ผลิตสื่อได้ ใช้สื่อเป็น เห็นคุณค่าในตัวเอง สร้างประโยชน์ให้สังคม

กิจกรรมนี้ถือเป็นการคิดต่างอย่างสร้างสรรค์ เพราะแทนที่จะมุ่งบ่มเพาะคนรุ่นใหม่กลับกลายเป็นเลือกคนวัยเก๋า โดยแนวคิดหลักเกิดจากที่ในปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และพฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้สูงอายุได้เปลี่ยนไปอย่างมาก มีการเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น

 

โดยมีข้อค้นพบของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ที่ระบุว่า ผู้สูงอายุ ช่วงอายุ 60 - 70 ปี และ ช่วงอายุ 50 - 59 ปี เข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ต เฉลี่ย 2 - 3 ชั่วโมง ต่อวัน และ ช่วงอายุ 50 - 54 ปีที่กำลังจะก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ ใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงถึง 4 - 5 ชั่วโมง ต่อวัน โดยมักจะใช้ในการสนทนา การติดตามข้อมูลข่าวสาร สืบค้นข้อมูลและโพสต์ข้อความ รวมไปถึงมีการรับ-ส่งอีเมล ซื้อสินค้าออนไลน์ และทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน
แอปพลิเคชัน ในระดับที่เพิ่มขึ้นทุกปี

 

ทั้งนี้ ตัวเลขภัยร้ายอาชญากรรม ในกลุ่มผู้สูงอายุมีมากเช่นกัน สูงจนติดอันดับโลก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า และมีส่วนสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก

 

เปลี่ยน “เหยื่อ” เป็น “ฮีโร่” กับโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2

 

แทนที่จะเป็นเหยื่อ เราอยากสร้างให้ผู้สูงอายุทั้งหลายเป็นฮีโร่มากกว่า จึงได้ดำเนินโครงการ “สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก” เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เสริมสร้างในการดำเนินชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีและมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม สามารถปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาเสริมสร้างคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ และสร้างผลผลิตให้สังคมได้

 

หลักสูตร Yold digital literacy วัยเก๋ารู้เท่าทันดิจิทัล

สำหรับหลักสูตร Yold digital literacy วัยเก๋ารู้เท่าทันดิจิทัล (ซึ่งคำว่า Yold มาจากคำว่า Young และ Old) มี 3 หลักสูตรทักษะทางดิจิทัล ออกแบบเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ อบรมออนไลน์ เรียนรู้ง่ายแบบจับมือทำ Yold Creator นักผลิตสื่อวัยเก๋า เล่าเรื่อง ถ่ายทำ ตัดต่อ ด้วยโทรศัพท์มือถือ Yold Storyteller นักเล่าเรื่องออนไลน์วัยเก๋า สื่อสารออนไลน์ เขียนบล็อก เขียนบท เล่าเรื่องง่าย ๆ ให้ทรงพลัง Yold Digital Literacy วัยเก๋ารู้เท่าทันดิจิทัล รู้ทันสื่อ ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลอม ไม่เชื่อ ไม่ส่งต่อ

 

เนื้อหาหลักๆ มีสามส่วน เติมเต็มทักษะความรู้สามด้าน เช่น 1. ทักษะเชิงเทคนิค ไม่ว่าจะถ่ายรูปไม่เป็น ไม่รู้จะออกแบบหน้าจออย่างไร โพสต์ภาพอย่างไร เราจะสอนทักษะการทำผลิตสื่อแบบครบวงจรและสามารถทำได้ด้วยตัวเองจริง ๆ 2. ทักษะการเล่าเรื่อง เพราะคอนเทนต์ตัวสาระเป็นเรื่องที่แต่ละท่านต้องดึงออกมา จากประสบการณ์ที่สะสมมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยถ่ายทอดสู่สาธารณะให้น่าสนใจให้ได้ 3. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อ เพื่อเปิดรับสื่อที่มีทักษะ มีความรู้ วิเคราะห์ได้ และรู้เท่าทันสื่อ วันนี้เข้าสู่โลกดิจิทัลแท้จริงแล้ว

 

“โครงสร้างเรามีปัญหา แต่ผู้สูงอายุเป็นกำลังหลักที่มีความสำคัญ แม้สูงวัยแต่หัวใจยังเวิร์ก กองทุนสื่อฯ เป็นหน่วยงานขนาดเล็กแต่คิดใหญ่ มองปัญหาในมิติกว้างและลึก เราเห็นการเคลื่อนตัว แปรเปลี่ยนจากภายในและภายนอก หยิบจับบางประเด็นมาผลักดันเท่าที่ขอบเขตอำนาจเราสามารถทำได้ และคิดว่าภาระหน้าที่ดูแลบ้านเมือง ทุกเจน ทุกรุ่น ทุกวัย ต้องร่วมมือกัน ตอนนี้เป็นโครงการเล็กๆ เริ่มจากกลุ่มคน100 - 200 คน แต่มุ่งหวังจุดประกายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในสังคมตระหนักถึงบทบาทของผู้สูงอายุ”

 

เปลี่ยน “เหยื่อ” เป็น “ฮีโร่” กับโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2

 

นอกจากนี้ผู้จัดการกองทุน ยังเผยเคล็ดลับให้ Yold creator ใช้หลัก สื่อสารวิถีพุทธ ปรโตโฆสะ (มุสาวาท /อกุศลกรรม) การฟังเสียงจากคนอื่น ฝ่ายอื่น กระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก, โยนิโสมนสิการ (กาลามสูตร / วิภัชชวาท) การกระทำในใจโดยแยบคาย คิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นตอ, ศีล ๕ เว้นจากสิ่งต่าง ๆ , สังคหวัตถุ ๔ (ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา), มัชฌิมาปฏิปทา / มรรค ๘ ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เห็นชอบ ดำริชอบ กระทำชอบ เจรจาชอบ ก่อให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตอย่างแท้จริง

 

อายุมากขึ้น เข้าสู่วัยสูงอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคการเรียนรู้และไม่เป็นปัญหา ท่านหนีจากโลกดิจิทัล สังคมออนไลน์ ไม่ได้ แต่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างรู้เท่าทัน มีสติไม่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ถูกหลอกลวง ถ่ายทอดเรื่องที่รู้ โดยรู้สึก รู้จริง มีต้นทุนความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูล นำเทคนิคที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ไปต่อยอด

 

ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารกิจกรรมได้ที่ FACEBOOK: กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ FACEBOOK: สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก TikTok: สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก

 

เปลี่ยน “เหยื่อ” เป็น “ฮีโร่” กับโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2