อัปเดต ปรับลดการระบายน้ำ หลังสถานการณ์คลี่คลายหลายพื้นที่
กรมชลประทาน เร่งวางแผนปรับลดการระบายน้ำ หลังสถานการณ์คลี่คลายหลายพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (ณ วันที่ 16 ต.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 58,298 ล้าน ลบ.ม. (76% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 16,223 ล้าน ลบ.ม. (65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)
ด้านสถานการณ์น้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก อาทิ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำยม แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่ แต่มีแนวโน้มเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
กรมชลประทาน ได้พิจารณา"ปรับลดการระบายน้ำ"ตามความเหมาะสม โดยที่สถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,960 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวานเล็กน้อย ระดับน้ำเริ่มทรงตัว กรมชลประทาน ได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานด้านซ้ายและขวาตามศักยภาพ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านเหนือเขื่อนและเพื่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้ประโยชน์ พร้อมพิจารณาปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำด้วย
สำหรับลุ่มน้ำชี ที่ยังมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์อย่างต่อเนื่องนั้น ทางคณะกรรมการลุ่มน้ำชี จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนให้อยู่เกณฑ์ควบคุม ในขณะที่เขื่อนลำปาว ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเริ่มลดลง จึงได้ปรับลดการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ และเพื่อรองรับปริมาณน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ที่จะไหลมาสมทบ
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำมาก บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึง เวลา ปริมาณน้ำในพื้นที่ ปริมาณน้ำจากทางเหนือ ปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำหนุน
พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การรับส่งน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดให้ได้มากที่สุด รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำ และให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด