ครั้งแรกในโลก! ค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่จากไทย

ครั้งแรกในโลก! ค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่จากไทย

ค้นพบครั้งแรกในโลก!  ซากดึกดำบรรพ์ของ อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่จากประเทศไทย เป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี นำโดย Dr.Gustavo Darlim และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ของ อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก 'อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล' 

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางกรมทรัพยากรธรณี ได้จัดทำแผนแม่บทการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2566-2580 เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการบริหารจัดการซากดึกดำบรรพ์ของประเทศตามกรอบพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ในระยะ 15 ปีข้างหน้า เพื่อมุ่งให้เกิดการอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญ เพื่อการศึกษาวิจัย สืบค้นประวัติความเป็นมาของประวัติของโลก อีกทั้งเป็นมรดกทางธรรมชาติของแผ่นดิน ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชน ท้องถิ่นและประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ไทย พบซากฟอสซิล "ปลาซีลาแคนธ์" อายุกว่า 100 ล้านปี ที่บ้านคำพอก จ.มุกดาหาร

ไขข้อสงสัย ทำไม "ไม้กลายเป็นหิน" หลังไทยเตรียมบันทึกสถิติยาวที่สุดในโลก

‘โคราชจีโอพาร์ค’ KHORAT Geopark จุดหมายใหม่ ของการท่องเที่ยว

 

พบซากดึกดำบรรพ์ อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ จากไทย

นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะโฆษกกรม กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณีได้รับแจ้งจากผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 ขอให้ไปตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ และทีมสำรวจได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2548 ที่เก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอโนนสูง พบว่า

เป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น และได้ลงพื้นที่บ้านเจ้าของที่ดิน นายสมพร โนกลาง บ้านสี่เหลี่ยม ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้ขุดบ่อเลี้ยงปลา ขนาดความกว้าง 8 เมตร ความยาว 8.4 เมตร ความลึกประมาณ 2 เมตร ตัวอย่างที่บ้าน

นายสมพร มีจำนวน 3 กล่อง โดยมากเป็นเศษกระดูกแตกหักจนไม่สามารถศึกษาได้ ซึ่งซากดึกดำบรรพ์กะโหลกอัลลิเกเตอร์ที่พบมีสภาพเกือบสมบูรณ์ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตรคาดว่า มีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น

ครั้งแรกในโลก! ค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่จากไทย

พบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก ถูกศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports  ทีมนักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เคยศึกษามาก่อน 19 ตัวอย่าง ประกอบด้วยตัวอย่างชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 4 ชนิด และตัวอย่างในปัจจุบัน อีก 2 ชนิด คือ อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) และอัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) 

โดยผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกจากประเทศไทย ที่ถูกค้นพบที่บ้านสี่เหลี่ยม ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล โดยตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูล”

 

ลักษณะเด่นอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่

ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อัลลิเกเตอร์มีลักษณะคล้ายกับจระเข้ แตกต่างที่ อัลลิเกเตอร์มีจะงอยปากเป็นรูปตัวยู ขณะที่จระเข้มีจะงอยปากเรียวแหลมเป็นรูปตัววี และเมื่อ ปิดปากจระเข้จะเห็นฟันทั้งบนและล่าง ส่วนอัลลิเกเตอร์จะเห็นเฉพาะฟันบนหรือแทบไม่เห็นเลย

ปัจจุบันพบจระเข้มีหลายสายพันธุ์และพบได้เกือบทั่วโลก ในขณะที่อัลลิเกเตอร์พบเหลืออยู่เพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้น คือ อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) พบเฉพาะบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและอัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) พบเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำแยงซี ประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก

ข้อมูลด้านการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ระหว่างเอเชียและอเมริกา ยังคงเป็นปริศนาว่าเกิดขึ้นเมื่อใด และมีเส้นทางการอพยพเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของอัลลิเกเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ในอดีตนั้นเคยกว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก

ครั้งแรกในโลก! ค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่จากไทย

ลักษณะเด่น เมื่อเทียบกับอัลลิเกเตอร์ชนิดอื่น คือ มีจะงอยปากกว้างและสั้นกว่า  มีกะโหลกสูงกว่า มีตำแหน่งรูจมูกอยู่ห่างจากปลายจะงอยปาก มีการลดจำนวนเบ้าฟันลงและ

มีเบ้าฟันขนาดใหญ่ขึ้นบ่งบอกว่ามีฟันขนาดใหญ่ใช้สำหรับกินอาหารที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอยน้ำจืดชนิดต่าง ๆ จากขนาดกะโหลกคาดว่า มีขนาดทั้งตัวยาวประมาณ 1 - 2 เมตร นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะกะโหลกใกล้เคียงกับอัลลิเกเตอร์จีนในปัจจุบัน (Alligator sinensis) แสดงให้เห็นว่า อัลลิเกเตอร์

ทั้งสองชนิดอาจมีบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างลุ่มน้ำแยงซีและลุ่มน้ำแม่โขง-เจ้าพระยา แต่การเกิดธรณีแปรสัณฐานทำให้เกิดการยกตัวของที่ราบสูงธิเบต ส่งผลให้เกิดการแยกประชากรทั้งสองชนิดออกจากกัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูลเกิดการสูญพันธุ์ไปก่อน

ดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของไทยและของโลก

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลงานการศึกษาวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณีค้นพบซาก

ดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของไทยและของโลก จำนวนทั้งสิ้น 691 ชนิด (สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 407 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง 158 ชนิด พืช 69 ชนิด ร่องรอย 1 ชนิด และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก 56 ชนิด ยกตัวอย่างเช่น

1) ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทย 13 ชนิด เช่น ชนิดใหม่ล่าสุด มินิโมเคอร์เซอร์ภูน้อยเอนซิส ค้นพบที่ภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ อายุ 150 ล้านปีก่อน

2) ซากดึกดำบรรพ์ปลา โคราชเอเมีย ภัทราชันไน ค้นพบที่บ้านโกรกเดือนห้า จังหวัดนครราชสีมา อายุ 115 ล้านปีก่อน

3) ซากดึกดำบรรพ์เอปโคราชขนาดใหญ่ โคราชพิเธคัส แม็กนัส ค้นพบที่บ่อทรายโคราชจังหวัดนครราชสีมา อายุ 9 ล้านปีก่อน

ครั้งแรกในโลก! ค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่จากไทย

4) ซากดึกดำบรรพ์สนห้าใบ ไพนัส หนองหญ้าปล้องเอนซิส ค้นพบที่หนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี อายุ 25 ล้านปีก่อน

5) ซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส ค้นพบที่โนนสูง จังหวัดนครราชสีมา อายุ 200,000 ปีก่อน

ทั้งนี้ หากผู้ใดพบสิ่งที่ควรเชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ขอให้แจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายใน 7 วัน โดยทาง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องดำเนินการกันพื้นที่ที่พบซากดึกดำบรรพ์นั้นและแจ้งให้กรมทรัพยากรธรณีทราบ ภายใน 7 วัน หลังจากนั้น กรมทรัพยากรธรณีจะดำเนินการตรวจสอบภายใน 7 วัน หลังจากได้รับแจ้ง โดยขอความร่วมมือผู้ที่พบซากดึกดำบรรพ์

ไม่ควรขุดค้นหรือขนย้ายสิ่งที่ควรเชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ เพราะซากดึกดำบรรพ์นั้นอาจจะแตกหักเสียหายได้ และทางกรมทรัพยากรธรณีจะต้องตรวจสอบธรณีวิทยาในพื้นที่ด้วย