ตะลุยโลกดึกดำบรรพ์ "อุทยานธรณีโลกสตูล" บน "นวนุรักษ์" แพลตฟอร์มของความรู้
องค์ความรู้ระดับมหายุคเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต กำลังถูกนำมาบรรจุในแพลตฟอร์ม "นวนุรักษ์" เพื่อบันทึกโลกดึกดำบรรพ์และถ่ายทอดถึงความสำคัญของ "อุทยานธรณีโลกสตูล"
บนพื้นที่กว่า 2,500 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมทั้งภูเขา ทะเล แม่น้ำ ถ้ำและทรัพยากรอีกมากมายในพื้นที่ 4 อำเภอของ จังหวัดสตูล ได้แก่ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง (เฉพาะอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา) ไม่เพียงเป็นมรดกอันล้ำค่าของชุมชนท้องถิ่น แต่ยังเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ภายใต้คำจำกัดความของ อุทยานธรณีโลก จากการรับรองของยูเนสโก เมื่อปี 2561
ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่ความสำคัญของ อุทยานธรณีโลกสตูล แต่ก็ยังมีองค์ความรู้อีกมากมายที่สามารถต่อยอดเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงนำ นวนุรักษ์ แพลตฟอร์ม เข้ามาหนุนเสริมให้นักวิจัย ม.สงขลานครินทร์ ม.ราชภัฏสงขลา และวิทยาลัยชุมชนสตูล ใช้เป็นเครื่องมือ จัดเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรม เพื่อให้ชาวบ้านทั้ง 4 อำเภอในพื้นที่ได้ศึกษาและใช้ประโยชน์
สำหรับ นวนุรักษ์ คือแพลตฟอร์มนำเสนอในรูปแบบเรื่องเล่าสื่อความหมาย และสื่อประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยชุมชนให้เกิดความเข้าใจในระบบนิเวศเขาหินปูน ระบบนิเวศสัตว์ในถ้ำ และระบบนิเวศสัตว์ชายฝั่งทะเลที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ และช่วยให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล
โดยเมื่อวันที่ 8-9 สิงหาคม ที่ผ่านมา สวทช.ได้นำคณะสื่อมวลชนสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล พร้อมนำเสนอความคืบหน้าของการศึกษาวิจัยภายใต้ "นวนุรักษ์ แพลตฟอร์ม" โดยมี เอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และ ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลก ให้การต้อนรับ
ปี 2565 เป็นปีที่จังหวัดสตูลมุ่งเน้นโปรโมท "อุทยานธรณีโลกสตูล" มากขึ้น เพื่อให้คนสตูล คนไทยและคนทั่วโลกได้รับทราบความสำคัญของเมืองที่พบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ในยุคพาเลโอโซอิก (Palaeozoic era) คือช่วง 545 – 245 ล้านปีก่อน เป็นมหายุคเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตทั้งในมหาสมุทรและบนบกถือเป็นจุดเด่นด้านธรณีวิทยา
“จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดใต้สุดฝั่งอันดามัน มีความสวยงามทั้งเรื่องธรรมชาติท้องทะเล และป่าภูเขา ที่สำคัญยังมีเรื่องราวของสัตว์ดึกดำบรรพ์ และสัตว์ทะเลโบราณจำนวนมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่บ่งชี้ว่าจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่มีวิวัฒนาการมานานและเก่าแก่น่าค้นหาทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่
นอกจากนั้นแล้วการมีองค์ความรู้และงานวิจัยจาก สวทช. นักวิจัยมหาวิทยาลัยและองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาสนับสนุนในรูปแบบการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ไว้ในระบบดิจิทัล ที่เรียกว่า ‘นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม’ จะทำให้คนในชุมชนนำไปศึกษาใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ เกิดอาชีพและสร้างรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพในจังหวัดสตูลและความยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG” เอกรัฐ หลีเส็น กล่าว
ด้าน กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. อธิบายถึงการเข้ามาสนับสนุนงานวิจัยโดย สวทช. ว่าโดยโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ ได้สนับสนุนงานวิจัยจำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. การนำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของสิ่งมีชีวิตในถ้ำอุทยานธรณีโลกสตูลเข้าในแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ ซึ่งโครงการนี้เป็นการนำแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘นวนุรักษ์’ ของศูนย์เนคเทค สวทช. มาใช้ต่อยอดการบริหารจัดการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบริหารจัดการ ภาพถ่าย ไฟล์วีดีโอ คลิปเสียง และเรื่องราวนำชม (story telling) ไม่น้อยกว่า 3,000 รายการ รวมถึงการฝึกอบรมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการข้อมูลได้ด้วยตัวเอง การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อใช้ในการประเมินซ้ำในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้านอุทยานธรณี และการบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
“นอกจากนั้นแล้วมีการอบรมถ่ายทอดความรู้ การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลนวนุรักษ์ ให้กับหน่วยงานในท้องถิ่นและชุมชนให้มีทักษะและเข้าถึงข้อมูลดิจิทัล รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สำหรับเผยแพร่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล เช่น Hologram 3 มิติ, ป้ายประชาสัมพันธ์พร้อม QR Code, คลิปวีดีโอสั้น, หนังสือความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล”
สำหรับโครงการที่ 2. คือ การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของสิ่งมีชีวิตในถ้ำ ในอุทยานธรณีโลกสตูลเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์และจุลินทรีย์ในถ้ำที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน (ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า) ถ้ำอุไรทอง (ตำบลกำแพง อำเภอละงู) และถ้ำทะลุ (ตำบลเขาขาว อำเภอละงู) ตลอดจนการศึกษาด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวฐานชีวภาพในพื้นที่อุทยานธรณีโลก โดยข้อมูล ภาพถ่าย ไฟล์วีดีโอ และคลิปเสียง ถูกรวบรวมไว้ในแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘นวนุรักษ’ เพื่อใช้ในการประเมินซ้ำในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้านอุทยานธรณี พัฒนาไกด์ท้องถิ่น และการบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
กุลประภา กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นแล้วโครงการที่ คือ 3. โครงการการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลในอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน มุ่งเน้นการรวบรวมสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางทะเล วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล จังหวัดสตูล โดยเน้นศึกษาในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ หาดราไวย์ หาดแหลมสน บุโบย หาดบางศิลา ในทอน ท่าอ้อย สันหลังมังกร เกาะสะบัน เขาทะนาน หอสี่หลัง เกาะตะรุเตา เกาะลิดี และเกาะอาดัง ราวี หลีเป๊ะ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวฐานชีวภาพในพื้นที่อุทยานธรณีโลก โดยรวบรวมไว้ในแพลตฟอร์มดิจิทัล "นวนุรักษ์"
“ในพื้นที่หอสี่หลัง ซึ่งเป็นนิเวศชายฝั่ง ทีมวิจัย ม.สงขลานครินทร์ ได้บัญชีรายการความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ หาดหิน หาดทราย หาดเลน แนวหญ้าทะเล แนวปะการังน้ำตื้น ป่าชายเลน 566 ชนิด พบพืชมีสถานภาพเกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable) 1 ชนิด คือ หญ้าใบพาย ในสัตว์พบ นกน็อทใหญ่ มีสถานภาพใกล้การสูญพันธุ์ (Endangered) และนกกะเต็นใหญ่ปีกสีน้าตาล มีสถานภาพเกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable) นอกจากนี้ยังได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้อีก 517 รายการ
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจตามแนวชายฝั่ง คือ บริเวณหอสี่หลัง สันหลังมังกร หาดแหลมสน บุโบย พบสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจ เช่น หญ้าใบพาย, ปูก้ามดาบก้ามขาว, ปูทหารก้ามโค้ง, นกน็อทใหญ่, นกกะเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล เป็นต้น ส่วนบริเวณเกาะลิดี เกาะตะรุเตา หมู่เกาะอาดัง ราวี พบสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจ คือ หญ้าใบมะกรูด, ปลิงดำแข็ง, ดำวแดงหนำมใหญ่, แนวปะกำรังน้ำตื้น, เหยี่ยวแดง, ลิงแสม”
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน และวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ "อุทยานธรณีโลกสตูล" ตะลุยโลกดึกดำบรรพ์ก่อนไปสัมผัสด้วยตาตัวเองได้ที่เว็บไซต์ https://www.navanurak.in.th/satungeopark