‘นวนุรักษ์’ อนุรักษ์มรดกไทยด้วยไอที

‘นวนุรักษ์’ อนุรักษ์มรดกไทยด้วยไอที

กระบวนการแปลงข้อมูลที่จะช่วยเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และเชื่อมโยงการท่องเที่ยว อย่างมีประสิทธิภาพ

 

‘ศิลปวัฒนธรรม’ คือสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชนชาติ และยังสามารถบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองที่เคยมีมาแต่โบราณได้ โดยมีการถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่แตกต่าง เช่น สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ศิลาจารึก และบันทึกใบลาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปนับร้อยนับพันปี ประกอบกับสภาพแวดล้อม ผู้คน และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเหล่านั้นค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลา หากปราศจาก ‘วัฒนธรรมดิจิทัล’ ซึ่งเป็นกระบวนการแปลงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาศิลปะ วัฒนธรรม ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล

เพื่อให้การสืบสาน รักษา และดำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยคงอยู่สืบต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มคลังข้อมูลวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย ระบบบริหารจัดการคลังข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัล ที่เรียกว่า ‘นวนุรักษ์’ (NAVANURAK) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูลวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ ทั้งเพื่อการอนุรักษ์ การศึกษา และการท่องเที่ยว โดยจัดเก็บตามหลักมาตรฐานสากล ทำให้ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บสามารถนำไปเชื่อมต่อกับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และที่สำคัญข้อมูลวัฒนธรรมที่จัดเก็บต้องสนับสนุนบริการข้อมูลในลักษณะโครงสร้างแบบเปิด ‘Open Data’ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล สะดวกต่อการนำข้อมูลไปใช้งานหรือต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ

 

nava-15

 เว็บไซต์นวนุรักษ์’ (NAVANURAK) ระบบบริหารจัดการคลังข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัล

ภัทราพร มีคล้าย ทีมวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค ให้ข้อมูลว่า
"วัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาแพลตฟอร์ม นวนุรักษ์ เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการท่องเที่ยว โดยมีหน่วยงาน อาทิ มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ชุมชนและภาคเอกชนเป็นผู้ใช้งาน 

เริ่มแรกเราจะต้องเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับระบบและสอนวิธีการใช้งานให้แก่ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลระบบบริหารจัดการคลังข้อมูลวัฒนธรรม ตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียน การบันทึกข้อมูลพิพิธภัณฑ์ การบันทึกข้อมูลวัตถุจัดแสดง การถ่ายภาพวัตถุเพื่อให้ได้มุมมองภาพ 360 องศา ข้อมูลที่มีการบันทึกเข้าไปในระบบจะมีการเผยแพร่สู่สาธารณะในรูปแบบเว็บไซต์ www.navanurak.in.th เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมหรือศึกษาค้นคว้า นำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง”

 

nava-10

การถ่ายภาพวัตถุแบบ 360 องศา เพื่อบันทึกข้อมูลของวัตถุจัดแสดง

ทีมวิจัยทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยพันธมิตรในการเผยแพร่เทคโนโลยีไปสู่กลุ่มผู้ใช้งานจริง โดยปัจจุบันมีการรวบรวมข้อมูลพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไว้ในแพลตฟอร์มนวนุรักษ์แล้วมากกว่า 70 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนในภาคเหนือและภาคกลาง อาทิ พิพิธภัณฑ์บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก จ.ลำปาง พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลาน ครูบามหาเถร วัดสูงเม่น จ.แพร่ รวมถึงศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ดำเนินธุรกิจทำร่มบ่อสร้างควบคู่กับการอนุรักษ์วิธีการทำร่มแบบดั้งเดิมของชาวล้านนาตามแบบอย่างที่บรรพบุรุษเคยทำมามิให้สูญหาย

เพชรวดี ภัทรธนานันท์ ทีมวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค ให้ข้อมูลเสริมว่า นอกจากเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นแล้ว ยังออกแบบให้แพลตฟอร์มนวนุรักษ์สามารถสร้างแผนที่ท่องเที่ยวโดยเชื่อมต่อกับแผนที่ Google Maps เพื่อแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนในบริเวณใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์ชุมชนนั้นๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว เพราะหลายครั้งที่นักท่องเที่ยวไปเยือนพิพิธภัณฑ์ชุมชนแล้วไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนต่อ ก็สามารถค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวอื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้ หรือใช้เส้นทางท่องเที่ยวที่แนะนำไว้โดยชุมชนได้ ซึ่งคนในชุมชนนั้นๆ จะทราบข้อมูลของชุมชนและรู้จักสถานที่ต่างๆ ในชุมชนของตนเองดีอยู่แล้ว จึงสามารถแนะนำนักท่องเที่ยวได้ว่าสถานที่ไหนมีอะไรน่าสนใจ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง

 

nava-05

พิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก จ.ลำปาง

ยกตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและงานพุทธศิลป์ต่างๆ ของวัดที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ห่างออกไปไม่ไกล ภายในเขตตำบลเดียวกันเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดเก่าแก่และสวยงามที่มีอายุนับพันปี ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ต่อจากนั้นไปพิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี ซึ่งมีการจัดแสดงเรื่องราวที่เล่าถึงประวัติการค้นพบดินขาวและการก่อตั้งโรงงานเซรามิกแห่งแรกในลำปาง รวมถึงกำเนิดชามตราไก่อันเลื่องชื่อที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ และปิดท้ายที่พิพิธภัณฑ์หอปูมละกอน ที่เน้นเล่าเรื่องเมืองลำปางโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

จะเห็นได้ว่า นวนุรักษ์ไม่เพียงเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย และดำรงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชุมชน แต่ยังเป็นกุญแจนำทางไปยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ และสถานที่อื่นๆ ที่เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า รวมถึงแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ถือเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเมืองรอง ที่จะก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน