เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล” มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน

เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล”  มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน

ประเทศไทย นอกจากจะมีพื้นที่ "มรดกโลก" และ "พื้นที่สงวนชีวมณฑล" แล้ว ยังมี "อุทยานธรณีโลก" ของยูเนสโก แห่งแรกในไทยอย่าง อุทยานธรณีสตูล ซึ่งสะท้อนความสำคัญโดดเด่นระดับนานาชาติ ผสานการอนุรักษ์โดยชุมชนมีส่วนร่วมได้อย่างสมบูรณ์

อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ซึ่งสะท้อนการบริหารจัดการแบบองค์รวมทั้งการอนุรักษ์ การให้การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีทั้งสิ้น 169 แห่ง ใน 44 ประเทศ โดยอยู่ในประเทศจีนมากกว่า 100 แห่ง รวมถึงในยุโรป ขณะที่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย 1 แห่ง เวียดนาม 2 แห่ง อินโดนีเซีย 4 แห่ง และไทย 1 แห่ง

 

สำหรับอุทยานธรณีโลกแห่งแรกในประเทศไทย ได้แก่ “อุทยานธรณีสตูล” (Satun Geopark) ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกโดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา หลังผ่านการประเมินหลักเกณฑ์คุณสมบัติ

 

เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล”  มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน

 

  • เส้นทางสู่ "อุทยานธรณีโลก" สตูล 

 

“สมหมาย เตชวาล” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า อุทยานธรณีโลกสตูล นับเป็นแหล่งทางธรณีวิทยาที่มีความสำคัญ โดยหลักเกณฑ์ในการประเมิน คือ นักธรณีวิทยาระดับนานาชาติของทางยูเนสโก ต้องมาดูว่ามีความสำคัญระดับนานาชาติหรือไม่ มีหลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสนใจ ต้องมีการศึกษา เผยแพร่ความรู้ด้านธรณีวิทยาในพื้นที่ มีการท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา และการใช้ประโยชน์จากการวิจัย

 

“นอกจากนี้ ยังมีการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงมีอัตลักษณ์ของคนในชุมชน มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และจะต้องมีคนที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยทางจังหวัดมีการแต่งตั้งคนที่มาดูแลในด้านดังกล่าว และมีโครงสร้างการทำงานชัดเจน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสามารถนำมรดกทางธรณีวิทยาในพื้นที่มาก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนได้ ขณะเดียวกัน ชุมชนก็ต้องมีส่วนร่วมกับมรดกทางธรณีวิทยาด้วย”

 

เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล”  มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน

  • บันทึกใต้ทะเล 500 ล้านปี

 

ทั้งนี้ อุทยานธรณีโลกสตูล นับเป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า มีความโดดเด่นระดับนานาชาติด้านซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลมหายุคพาลีโซอิก (ประมาณ 542 – 251 ล้านปีก่อน) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และสามารถพบได้ง่าย นอกจากนี้ ยังมีภูมิประเทศที่งดงามทั้งแนวเทือกหินปูน ถ้ำขนาดใหญ่ ชายหาดและเกาะน้อยใหญ่ในทะเล ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพันกับผืนแผ่นดินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

 

ภูมิประเทศและธรรมชาติของอุทยานธรณีสตูล ก่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแนวผจญภัย เช่น ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น้ำตก ชายหาด รวมถึงเลือกซื้อของฝากผลิตภัณฑ์ชุมชน และสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย

 

เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล”  มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน

 

  • ชุมชน ภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน

 

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้รับการประเมินจากยูเนสโก เรามีการทำงานมาก่อนหน้านั้นต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ปี 2553 มีการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนในพื้นที่ จังหวัด โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความรู้ หารือร่วมกันในการพัฒนาสตูลเป็นอุทยานธรณี ที่สำคัญ คือ ชุมชนพื้นที่มีการรับรู้ เห็นความสำคัญในการผลักดัน โดย Key man คือ ผู้นำชุมชนที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนท้องถิ่น

 

เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล”  มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน

“ชุมชน และ ผู้นำชุมชนต้องรับทราบและถ่ายทอดในเรื่องความรู้ ทางกรมทรัพยากรธรณีเอง ก็ไปทำงานร่วมกับจังหวัด เชิญผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ประชุมหารือ รับทราบ ในการพัฒนาพื้นที่โดยอาศัยการท่องเที่ยว รวมถึงผู้แทนที่ทำเรื่องการศึกษา และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกลไก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ เราใช้ความพยายามจากศูนย์จนได้รับการประเมินเป็นอุทยานธรณีโลก ทำให้พื้นที่มีชื่อเสียง ได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศ ชุมชนมีรายได้ เมื่อมีการใช้ประโยชน์จากการท่อง ก็ต้องไม่ทำลาย เพราะเป็นจุดขาย เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต่อไป”

 

“หัวใจสำคัญ ของอุทยานธรณี คือ ไม่ใช่อนุรักษ์จนทำอะไรไม่ได้เลย แต่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาในพื้นที่ สามารถมีสิ่งก่อสร้าง ที่ทำให้คนไปใช้ประโยชน์ แต่การก่อสร้างหรือการพัฒนาต้องทำบนพื้นฐานการอนุรักษ์ และที่สำคัญอุทยานธรณีเป็นพื้นที่ที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์และต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและปากท้องของชุมชนในพื้นที่ ตรงนี้คือหัวใจ หากชุมชนได้ประโยชน์จากการอนุรักษ์ เขาจะเกิดความหวงแหน อาศัยในพื้นที่อุทยานธรณีอย่างมีความสุข”

 

เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล”  มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน

 

“หลังจากได้รับการประกาศให้เป็น อุทยานธรณีโลกสตูล ทำให้พื้นที่ได้รับความสนใจมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ผ้าลายบาติก ซึ่งนำดิน ใบไม้ ในพื้นที่มาย้อมสี และผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ จากชุมชนที่มีรายได้ไม่ถึงหมื่นต่อเดือน กลับมีรายได้หลายหมื่นถึงหลักแสนต่อเดือน สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน”

 

  • อุทยานธรณีในประเทศไทย

 

ปัจจุบัน “อุทยานธรณีในประเทศไทย” ทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ “อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก” จ.อุบลราชธานี ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีเมืองใหม่ อ.โพธิ์ไทย อ.โขงเจียม และบางส่วนของ อ.สิรินธร รวม 1,714 ตร.กม. , “อุทยานธรณีขอนแก่น” ครอบคลุม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เวียงเก่า และ อ.ภูเวียง รวม 907 ตร.กม. ในพื้นที่ที่พบกระดูกไดโนเสาร์พันธ์ใหม่ของโลก , “อุทยานธรณีเพชรบูรณ์" แหล่งธรณีวิทยาที่มีความน่าสนใจ 22 แห่ง ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.น้ำหนาว อ.หล่มสัก และ อ.เมืองเพชรบูรณ์

 

เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล”  มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน

 

“อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก” ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.สานเงา อ.บ้านตาก อ.เมืองตาก และ อ.วังเจ้า รวม 5,691 ตร.กม. , “อุทยานธรณีโคราช” ครอบคลุม 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ รวม 3,243 ตร.กม. และ “อุทยานธรณีโลกสตูล” ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งหว้า อ.มะนัง อ.ละงู และ อ.เมืองในส่วนที่เป็นทะเล ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่ และชายหาดที่สวยงาม นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการผลักดัน “อุทยานธรณีโคราช” สู่ระดับโลกขณะนี้รอการประเมินรอบแรก

 

ขณะเดียวกัน ช่วงโควิด-19 กรมทรัพยากรธรณี มีการปรับรูปแบบการท่องเที่ยว ผ่านมหกรรมเปิดโลกธรณีวิทยาเพื่อการท่องเที่ยว : กิจกรรมเที่ยวทิพย์อุทยานธรณีโลกสตูล ปีปกติใหม่ 2564 วันที่ 23-24 กันยายน 64 ฟรี ผ่านกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการธรณีทั่วประเทศ เสวนาออนไลน์จากผู้แทนอุทยานธรณีทั่วไทย วิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากทั่วประเทศ เป็นต้น

 

“มหกรรมเที่ยวทิพย์ ถือเป็นการเตรียมพร้อมหลังสถานการณ์โควิด-19 ฉายภาพแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวที่สนใจ ให้เห็นก่อนมาเที่ยวจริง และคิดว่าอุทยานธรณีอื่นๆ ก็น่าจะต้องมีสื่อแบบเที่ยวทิพย์ เพื่อแนะนำแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาในพื้นที่ของตนเอง” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวทิ้งท้าย

 

เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล”  มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน

 

  • อุทยานธรณี – พื้นที่สงวนชีวมณฑล - มรดกโลก

 

ข้อมูลจาก คณะกรรมการการส่งเสริมการอนุรักษ์ แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณี ระบุว่า อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) เมื่อรวมกับ พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) และแหล่งมรดกโลก (World Heritage Site) จะทำให้ภาพการดูแลมรดกของโลกมีความสมบูรณ์มากขึ้น เป็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ของโลก ชีววิทยา และธรณีวิทยา รวมไปถึงการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

“พื้นที่สงวนชีวมณฑล” เน้นเฉพาะการบริหารจัดการแบบกลมกลืนของความหลากหลายทางชีววิทยาและวัฒนธรรมเท่านั้น ส่วนแหล่ง “มรดกโลก” เน้นเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีคุณค่าโดดเด่นของโลก “อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก" ทำให้เกิดความตระหนักรู้ถึงแหล่งต่างๆ ที่สำคัญและโดดเด่นระดับนานาชาติ ส่งเสริมให้ มีการอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรณีวิทยาของโลก โดยมีชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

 

ในกรณีพื้นที่ที่ยื่นเจตจำนงเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกอยู่ในพื้นที่เดียวกับแหล่งมรดกโลกหรือพื้นที่สงวน ชีวมณฑลต้องมีเหตุผลและหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าการเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก เป็นการเสริม หรือทำให้คุณค่าของพื้นที่สงวนชีวมณฑลและแหล่งมรดกโลกบริเวณนั้นเพิ่มสูงขึ้น

 

เส้นทาง “อุทยานธรณีโลกสตูล”  มรดก 500 ล้านปี สร้างรายได้ชุมชน