กรมทรัพยากรธรณี ชวนเที่ยวทิพย์แบบ New Normal กับอุทยานธรณีโลกสตูล
รัฐบาลเดินหน้าตามแผนเปิดประเทศระยะที่ 2 เพิ่มอีก 5 จังหวัดรวมกรุงเทพฯในเดือน ต.ค.นี้ แต่ตอนนี้แม้ยังไม่เปิดประเทศ แต่คนในประเทศสามารถเที่ยวทิพย์ไปในพื้นที่ต่างๆ
อุทยานธรณีโลกสตูล (Satun UNESCO Global Geopark) เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนและเป็นความภาคภูมิใจของวงการธรณีวิทยาไทย เพราะเป็นอุทยานธรณีระดับโลกแห่งเดียวของประเทศไทยในปัจจุบันที่ได้รับการรับรองจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) จากจำนวนอุทยานธรณีระดับโลกทั้งสิ้น 147 แห่งทั่วโลก โดยประชาชนจังหวัดสตูลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับจังหวัดสตูล
- 'อุทยานธรณีสตูล' อุทยานธรณีโลกแห่งแรกในไทย
โดยมีกรมทรัพยากรธรณีร่วมสนับสนุนข้อมูลและผลงานวิจัยทางวิชาการ ในการพัฒนาอุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย และยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เกิดการพัฒนาให้อุทยานธรณีเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่องค์ความรู้และเชื่อมโยงแหล่งมรดกธรณีวิทยาในพื้นที่
อ่านข่าว : ป่าแก่งกระจาน แหล่งมรดกโลก ปักหมุดพัฒนาจุดท่องเที่ยว
ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น เกิดการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติในพื้นที่อุทยานธรณี
รัฐบาลได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะแนวทางในการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
- พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาตรฐานสากล
เป็นเป้าหมายในการพัฒนาการท่องเที่ยว ให้มีการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ดี สร้างแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ยกระดับคุณภาพ และเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ตลอดจนมุ่งเน้นการอนุรักษ์ดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่มีความเปราะบาง โดยให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคต เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเน้นการเพิ่มค่าใช้จ่ายและวันพักต่อครั้งของการเดินทาง และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว
อุทยานธรณีโลกสตูลและอุทยานธรณีของประเทศไทยแห่งอื่นๆ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่กรมทรัพยากรธรณีร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับประชาชนในจังหวัดที่มีอุทยานธรณีและหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในการพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาที่สำคัญ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและผลผลิตชุมชนเข้ากับอุทยานธรณี
จัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการอุทยานธรณี ปรับปรุงภูมิทัศน์ เส้นทางท่องเที่ยว และศูนย์กลางการเรียนรู้ รวมไปถึงช่วยประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้อุทยานธรณีเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ผ่านการจัดประชุมและการจัดนิทรรศการทางด้านการท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
ทำให้แหล่งธรณีวิทยาที่อยู่ในพื้นที่ศักยภาพอุทยานธรณีกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของประเทศ เกิดกลไกวงรอบของการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น และส่งเสริมให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรณีที่ได้นำไปใช้ประโยชน์การท่องเที่ยวอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
- เที่ยวทิพย์ 23-24 ก.ย.ผ่านการท่องเที่ยวเสมือนจริง
ในปีปกติใหม่ที่มีการระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ส่งผลให้รูปแบบการท่องเที่ยวของประชาชนทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่จริงได้ทำให้การท่องเที่ยวเสมือนจริง (Virtual Tour) เข้ามามีส่วนสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น
กรมทรัพยากรธรณี ได้ตระหนักถึงเป้าหมายในการพัฒนาการท่องเที่ยว พร้อมกับการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาตามแหล่งธรณีวิทยาและพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณีให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
เพื่อให้เป้าหมายของการบูรณาการการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสัมฤทธิ์ผล ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ จึงได้ริเริ่มจัดมหกรรมเปิดโลกธรณีวิทยาเพื่อการท่องเที่ยว : กิจกรรมเที่ยวทิพย์อุทยานธรณีโลกสตูล ปีปกติใหม่ 2564 (Virtual Satun Geopark Tourism in the New Normal Year 2021 Festival) ในระหว่างวันที่ 23-24 กันยายนนี้ หวังให้ผู้เข้าชมได้รับความผ่อนคลายจากการสัมผัสธรรมชาติผ่านการท่องเที่ยวเสมือนจริง
ได้รับความรู้ความเข้าใจในวิวัฒนาการของโลกจากหลักฐานทางธรณีวิทยาและนิเวศวิทยา การเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่หลอมรวมเรื่องราวของอุทยานธรณีไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำเสนอทิศทางและบทบาทของงานด้านอุทยานธรณีระดับโลกกับ
การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการขับเคลื่อนอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พร้อมการนำเสนอการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อนอุทยานธรณีของประเทศไทย
ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละอุทยานธรณีเพื่อพัฒนาและต่อยอดงานด้านอุทยานธรณีของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป ผู้สนใจเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/CxC2KjZqHbggB7Lp9