โมเดลแก้จน สวชช.ผนึกจ.ชัยนาท ค้นหาคนจนตัวจริง อัพคุณภาพชีวิต
สวชช.ร่วมมือจ.ชัยนาท จัดทำโมเดลแก้จน ลงพื้นที่ค้นหาคนจนตัวจริงยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมจัดทำข้อมูลแยกเป็นคนจนหนี้สิน กับคนจนยากไร้ ส่งให้สวัสดิการภาครัฐ หรือชุมชนดำเนินการช่วยเหลือ
ในการเสวนาเรื่อง 'ร่วมใจ แก้จน คนชัยนาท' จากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ซึ่งจัดโดยสถาบันวิทยาลัยชุมชน
ดร.สุธิมา เทียนงาม หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย ส่งเสริมการบริการวิชาการ และส่งเสริมทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สถาบันวิทยาลัยชุมชน (สวชช.) กล่าวว่า โครงการนี้สวชช.ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพันาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
โดยได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2563 เริ่มเข้าสำรวจแบบปูพรม 100% เพื่อค้นหาคนจนอย่างแท้จริง ในอำเภอสรรพยา และอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท มีการสร้างนักจัดการข้อมูลชุมชนขึ้น โดยเป็นผู้นำชุมชนท้องถิ่น อสม. ผู้นำกลุ่มอาชีพ กลุ่มการเงินและอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่ค้นหาคนจนอย่างแท้จริง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านอย่างแท้จริง แต่ขาดองค์ความรู้ทักษะและเครื่องมือการค้นหาข้อมูล ซึ่งโครงการฯ เป็นผู้แนะนำวิธีการและฝึกอบรมให้เพื่อให้เข้าใจหลักการการทำงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ค้นหา "โมเดลแก้จน" : จน แต่จะไม่จนตลอดไป
สอวช. ชงโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พุ่งเป้าขจัดความยากจนแบบตรงจุด
กำหนดโมเดลแก้จน ช่วยครัวเรือนยากจนในจ.ชัยนาท
ทั้งนี้ โครงการฯ นี้เริ่มตั้งแต่ระบบค้นหา สอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับจังหวัด ซึ่งจะทำการค้นหาคนจนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ขยายข้อมูลคนจนจากครัวเรือนคนจนและนำคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบ จากนั้นทำการคัดแยกคนที่จนไม่จริงออกจากระบบ หลังจากคัดแยกเรียบร้อยจะมีการจัดทำข้อมูลและทำระบบส่งต่อความช่วยเหลือ
โดยแยกเป็นคนจนหนี้สิน กับคนจนยากไร้เพื่อส่งให้สวัสดิการภาครัฐ หรือชุมชนดำเนินการช่วยเหลือ และขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดทำโมเดลแก้จน ดำเนินการในลักษณะสวัสดิการเกื้อกูล และการประกอบการสำหรับคนจน เป็นการออกแบบกระบวนการแก้จนแบบเบ็ดเสร็จ หน่วยงานในพื้นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง และโมเดลแก้จนนี้จะถูกนำไปสู่การจัดทำเป็นแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
การออกแบบปฏิบัติการแก้จนนี้ มีความมุ่งหวังให้คนจนรู้จักที่จะอยู่ได้ และอยู่ดี คือสามารดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ ที่อยู่อาศัยแข็งแรง เข้าถึงสวัสดิการรัฐตามสิทธิสวัสดิการชุมชน และมีโอกาสในการพัฒนาตนเองในด้านการมีงานทำ ทักษะอาชีพ รายได้ ยกระดับฐานะทางสังคม โดยในอำเภอสรรพยา ได้มีการริเริ่มโครงใหม่ๆ เช่น กองทุนข้าวสารเพื่อการยังชีพ การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ
การปลูกพื้นผักสนครัวลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ฯลฯ อำเภอสรรคบุรี เช่น ชวนกันส่งต่อ ขยายผล ส่งคนจนเข้า(บัตร) สวัสดิการรัฐ การประกอบการจิ๋ว ไข่เค็มพอกเกลือ เกษตรแปลงรวมแก้จน ฯลฯ ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินเกือบ 3 ปี โครงการฯ ได้ดำเนินการปฏิบัติการแก้จนแบบเบ็ดเสร็จ แบ่งเป็นการซ่อมแซมบ้าน 998 ครัวเรือน ปฏิบัติการแก้จน 2,308 ครัวเรือน ส่งต่อตามภารกิจหน่วยงาน 1,555 ครัวเรือน จัดทำแผนงาน/โครงการแก้จน 8 แผนงาน
ลงพื้นที่ สะท้อนภาพความจนของคนไทยจริงๆ
“ผลสัมฤทธิ์ของโครงการคือการที่สามารถทำให้คนจนที่ตกหล่นจากระบบให้สามารถเข้าสู่การดูแลจากภาครัฐได้อย่างแท้จริง เพราะมีการส่งต่อข้อมูลเชื่อมต่อให้กับกรมพัฒนาชุมชน (พช.)สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) นอกจากนี้ยังเกิดความเข้มแข็งในชุมชน เพราะมีการสร้างนักจัดการในชุมชน เป็นการเพิ่มทุนทางสังคมให้กับพื้นที่ ทำให้คนจนมีเพื่อนคู่คิด มีพี่เลี้ยงในการดูแล เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ คนจนมีรายได้จากโครงการต่างๆที่ได้ริเริ่ม เกิดความร่วมมือร่วมใจจากภาครัฐในท้องถิ่น” ดร.สุธิมา กล่าว
การลงพื้นที่ร่วมกันและมองเห็นภาพความจนของประชาชนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการลงมือแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ส่วนในอนาคตในฐานะที่สวชช.เป็นสถาบันอุดมศึกษา จะมีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมไปเพิ่มการสร้างอาชีพและรายได้มากขึ้น
ด้าน นายอนุสรณ์ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กล่าวว่า ประชาชนของจังหวัดมีอาชีพหลักคือการทำการเกษตร ในพื้นที่ไม่มีภาคอุตสาหกรรมทำให้รายได้เฉลี่ยของประชาชนไม่สูงมากนัก การที่สวชช.ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เป็นสิ่งที่ดีเพราะมีการลงพื้นที่จริง วิเคราะห์ ศึกษาข้อมูลและนำมาแก้ไขให้กับประชาชน
รวมถึงโครงการนี้ยังเป็นการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงานทำให้งานแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนในพื้นที่มีความก้าวหน้า และ ซึ่งหลังจากนี้แผนงานต่างๆ ที่โครงการฯได้ดำเนินการและส่งต่อข้อมูลมายังจังหวัด และอบจ.ก็พร้อมที่จะร่วมมือและสานต่องานเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป
ด้านนางอารี คำสวัสดิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ชัยนาท (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีหน้าที่สนับสนุนและเป็นพื้นที่ให้กลุ่มเกษตรกรนำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการเกษตรและสินค้าโอทอปเข้ามาวางจำหน่าย โดยจะทำการส่งเสริมเรื่องการตลาด ซึ่งในส่วนของโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนฯ
บริษัทฯ ก็ได้เปิดพื้นที่ให้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายเช่นกัน โดยจะให้คำแนะนำในเรื่องของราคา ความสนใจของผู้บริโภค ทั้งนี้อยากฝากถึงกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าออกจำหน่าย เรื่องของบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญแต่การพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างสม่ำเสมอจะสามารถทำให้อยู่ในตลาดได้นาน และสินค้าที่ตลาดให้ความสนใจในขณะนี้จะมุ่งไปที่สินค้าออร์แกนิก เพราะคนให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพเป็นอย่างมาก ดังนั้นของกินของใช้ปลอดสารจึงเป็นที่ต้องการของตลาดแม้ว่าราคาจะสูงกว่าปกติ