‘สิทธิมนุษยชน’บนเส้นทางธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์
วันที่ 10 ธันวาคม 2566 บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ C.P. Group เปิดตัว 'รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี ฉบับที่ 3' เพื่อสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับความพยายามดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมความโปร่งใส ความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
Keypoint:
- ทุกองค์กรธุรกิจต้องขับเคลื่อนเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์มีนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทุกหน่วยธุรกิจและคู่ค้าสามารถปฏิบัติตามได้
- สิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากภายในองค์กร ก่อนจะขยายต่อไปสู่ภายนอกองค์กร และต้องมีการขับเคลื่อนการตรวจสอบสถานะได้อย่างรอบด้าน
- การดำเนินการสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องทำให้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่าย โดยใช้เทคโนโลยี ลดกระบวนการที่ยุ่งยาก และการจัดทำรายงานเพื่อช่วยจัดการระบบ
บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ C.P. Group ในฐานะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 450,000 คน กระจายอยู่ใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงมีห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อน และคู่ค้าจำนวนมาก เครือเจริญโภคภัณฑ์หวังว่ารายงานฉบับนี้จะกระตุ้นให้เกิดการสานเสวนาที่สร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการปรับปรุงการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วทั้งเครือฯ และอุตสาหกรรมในวงกว้าง
เริ่มจากภายใน สู่ภายนอกองค์กร
ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหาร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และ เลขาธิการและกรรมการบริหาร สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) กล่าวว่า ทุกวันนี้ โลกยังมองเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่เหมือนกัน ทำให้มีความคาดหวังและการดำเนินงานต่างกัน เช่นเดียวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เมื่อ 30 ปีก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทำไม 'ธุรกิจ' ต้องตระหนักเรื่อง 'สิทธิมนุษยชน' หาคำตอบได้ 29 พ.ค.-9 มิ.ย. นี้
ขับเคลื่อนกระบวนการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนรอบด้าน ในเครือเจริญโภคภัณฑ์
อย่างไรก็ดี เรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ถูกกำหนดเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ในระดับโลก ทุกองค์กรต้องเตรียมตัวและพร้อมที่จะลงมือทำ โดยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนในองค์กร ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายบุคคลเท่านั้น แต่รวมถึง ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขาย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องทราบว่าสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานคืออะไร และมีเรื่องใดที่สำคัญในการดําเนินงาน ไม่ว่าจะเป็น พนักงาน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า หรือชุมชน ล้วนมีประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องดูแล การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนต้องเริ่มจากในบ้าน หรือในองค์กรก่อน แล้วจึงขยายสู่นอกรั้ว หรือภายนอกองค์กร
ดร. เนติธร เล่าถึงการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนของเครือฯ ว่า มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และสื่อสารให้ทุกคนเห็นความสำคัญและเป็นเจ้าของประเด็นร่วมกัน โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจจะประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครอง เยียวยา ดูแลพนักงาน ตามบริบทและลักษณะของธุรกิจ เช่น ธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจโทรคมนาคม ประเด็นสิทธิมนุษยชนก็จะแตกต่างกัน
เมื่อรู้ความเสี่ยงแล้ว ต้องเอานวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยบริหารจัดการ ทั้งเก็บรวบรวมข้อมูล กำกับติดตาม และประเมินผล ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ หรือความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นต้น
“สิ่งที่ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้น คือ พยายามสื่อสารให้ทุกคนเห็นความสำคัญ มีส่วนร่วม และเดินไป
ในทิศทางเดียวกันบนเส้นทางสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนสามารถจับต้องได้และทำได้” ดร. เนติธร กล่าว
จัดทำรายงาน จุดเปลี่ยนที่ช่วยจัดระบบ
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ความสำคัญกับการจัดทำ 'รายงานสิทธิมนุษยชน' ดร. เนติธร กล่าวว่าการจัดทำรายงาน มีประโยชน์อย่างมาก และถือเป็นจุดเปลี่ยนของการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของเครือฯ เพราะเมื่อต้องรวบรวมข้อมูล ทำให้เห็นช่องว่างที่ยังพัฒนาได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการจัดระบบการทำงาน เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลได้ถูกต้อง
และเมื่อต้องสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสาธารณชน จึงต้องมีการรายงานอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อแสดงถึงความพร้อมให้ตรวจสอบและติดตามผล และสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกปี
การจัดทำรายงานสอดคล้องกับกรอบการรายงานของหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles Reporting Framework) (UNGPRF)
ใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ลดความเหลื่อมล้ำ
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังขยายการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ โดยนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์ มุ่งมั่นสร้างการเข้าถึงการรักษาที่ดีอย่างมีมาตรฐานสำหรับผู้ป่วย เนื่องด้วยการเข้าถึงการรักษาที่ดี เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทภายใต้เครือฯ จึงพัฒนาแอปพลิเคชัน 'MorDee' (หมอดี) แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะแบบครบวงจร ที่เชื่อมต่อบริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์สำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ อาทิ การให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ทางไกลจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำในประเทศไทย โดยผู้ป่วยสามารถขอทำนัดกับแพทย์ที่ต้องการขอคำปรึกษา ตามเวลาที่สะดวก รวมถึงนำค่าใช้จ่ายไปเบิกกับบริษัทประกันหรือหน่วยงานด้านสุขภาพที่คุ้มครองสิทธิของตน
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ Smart EMS (Emergency Medicine Service) ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช หนึ่งในสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีชื่อเสียงด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยนำนวัตกรรมต่างๆ เช่น การนำระบบการเชื่อมต่ออุปกรณ์โดยมีอินเตอร์เน็ตเป็นจุดศูนย์กลาง หรือ IOT (Internet of Things) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อสร้างการเข้าถึงการรักษาที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับประชาชนคนไทยทุกคน
ดร. เนติธร ยังได้เชิญชวนให้องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยเครือเจริญ
โภคภัณฑ์ ยินดีแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน และมีส่วนร่วมส่งเสริมให้ธุรกิจปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles) (UNGP)
“เราต้องการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนชัดเจนขึ้น เพื่อนำพาให้ภาคธุรกิจอื่นๆ ทำตามได้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” ดร. เนติธร กล่าวทิ้งท้าย