ลดภาษีแอลกอฮอล์เพื่อใคร? WHO มีคำตอบ!
จากกรณีกระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบมาตรการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน ม.ค.2567 โดยอธิบายว่าเป็นการส่งเสริมการบริโภคและการท่องเที่ยวของประเทศ
แนวคิดดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและผลการศึกษาขององค์การระหว่างประเทศ รวมถึงผลการวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารชั้นนำของโลก
รายงานผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเผยแพร่ในปี 2564 (OECD Health Policy Studies) พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า การเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงนโยบายที่เข้มงวดต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลทางบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุผลดังนี้
ประการแรก มีการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ การขึ้นภาษีสรรพสามิตไวน์ในประเทศออสเตรเลีย แม้จะส่งผลให้มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตไวน์ลดลง อย่างไรก็ดี พื้นที่ที่เคยใช้ในการเพาะปลูกวัตถุดิบก็ถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมอื่นที่ก่อให้เกิดการจ้างงานของประเทศสูงขึ้น
ในประเทศอังกฤษ ผลการศึกษาพบว่าการนำภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้น 10% มาเป็นงบประมาณแผ่นดินใช้จ่ายในการบริหารประเทศ จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มจากเดิมมากกว่า 17,000 ตำแหน่ง ก่อให้เกิดมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าพันล้านดอลลาร์
ประการถัดมา การที่ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้นจากการเพิ่มภาษี ส่งผลให้ประชาชนนำเงินจำนวนที่เคยใช้ในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการเพื่อความบันเทิงในลักษณะอื่น
เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งไม่ทำลายสุขภาพประชาชนดังเช่นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่ส่งผลทางลบต่อผลิตภาพของแรงงานและเศรษฐกิจของประเทศ
ประการสุดท้าย ในประเด็นข้อถกเถียงว่า การเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับสูง จะทำให้มีการลักลอบบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นนั้น ผลการศึกษาชี้ว่า การส่งเสริมความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการลดการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศ มีผลให้การซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายสามารถทำได้ยาก
สำหรับประเทศไทย ในปี 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO Global Alcohol Status Report 2018) เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับต้นๆ ของการตายก่อนวัยอันควรอันเนื่องมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฉพาะในปี 2559 โรคตับแข็งและโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 100,000 และ 5,500 คน ตามลำดับ
ในขณะที่อุบัติเหตุทางท้องถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์พรากชีวิตคนไปเกือบ 7,000 ราย โดยยอดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวของประเทศไทยอยู่ที่ 8.3 ลิตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอยู่ที่ 4.5 ลิตร
อย่างไรก็ดี ในปี 2563 เป็นที่น่ายินดีว่า คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติและคณะกรรมการประเมินการควบคุมแอลกอฮอล์ระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชื่นชมประเทศไทยในความพยายามลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน ผ่านหลากหลายมาตรการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก จนทำให้ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวในปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 7.85 ลิตร
แม้กระนั้น เมื่อพิจารณาจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ใน Global Health Research and Policy ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำระดับโลกพบว่า ในปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจคิดเป็นเงินจำนวนเกือบ 170,000 ล้านบาท เท่ากับ 1.02% ของ GDP
แบ่งเป็นต้นทุนการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 158,000 ล้านบาท ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลคิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 4,370 ล้านบาท โดยจำนวนการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรซึ่งเกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปีดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 23,000 ราย
ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จำลองผลตอบแทนจากการดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิผลของประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าสามารถช่วยชีวิตประชาชนจากการตายด้วยสาเหตุแอลกอฮอล์ได้ถึง 114,764 คน และมีชีวิตที่มีสุขภาพดีเพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่า 5.8 ล้านปี
ร่างกายที่แข็งแรงส่งผลให้ผลิตภาพสูงขึ้น รวมถึงลดภาระทางการคลังด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งรัฐบาลสามารถนำงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหึมานี้ไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ การศึกษาดังกล่าวมีข้อเสนอแนะโดยสรุปดังนี้
- ควรมีการเพิ่มภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะราคาที่สูงขึ้นจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนลดลง
- ควรระวังการแทรกแซงของกลุ่มธุรกิจที่จะทำให้การออกนโยบายภาครัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ มากกว่าประโยชน์ของสาธารณะ กล่าวโดยเฉพาะ ภาคประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องติดตามข่าวสารบ้านเมือง ศึกษาการออกนโยบายของรัฐว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หรือเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอุตสาหกรรม
หากประชาชนปล่อยให้กลุ่มทุนมีอิทธิพลเข้าไปแทรกแซงการออกนโยบายของรัฐ หายนะของประเทศก็จะเกิดขึ้นเฉกเช่น เวียดนาม ที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาถูกจนปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้อัตราการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์คิดเป็นกว่า 12% ของการเสียชีวิตทั้งหมด
แม้รัฐบาลเวียดนามจะพยายามขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากถูกขัดขวางจากการล็อบบี้ของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ดี ในประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่า ในขณะที่รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านกำลังใช้ความพยายามเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่กระทรวงการคลังกลับเสนอให้ลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสวนทางอย่างชัดเจนกับคำแนะนำของ WHO...อนิจจา..ผู้บริหารประเทศไทยในวันนี้!