“อาหาร” พื้นฐานการผลิตคนมีคุณภาพ | ภาวิณี โสธายะเพ็ชร
อาหารคือ 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยที่ต้องการการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญา
ดังเช่น เด็กปฐมวัยและเด็กประถมศึกษา การได้รับสารอาหารที่ดีและเพียงพอต่อการใช้พลังงานทั้งการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนล้วนแล้วสำคัญและควรตระหนักถึง อย่างจริงจัง
เด็กในช่วงวัยนี้ต้องการอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบหมู่ตามหลักโภชนาการ ในการนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคม “อาหาร” จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นอันควรจัดสรรให้นักเรียนกลุ่มนี้
หลายประเทศที่ประชากรมีคุณภาพล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญและใส่ใจกับเรื่องอาหารการกินของนักเรียนตั้งแต่วัยเยาว์ และไม่ได้ผลักภาระแค่เพียงแต่ให้ครอบครัวของนักเรียนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเท่านั้น
หากแต่โรงเรียนย่อมมีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบเรื่องปากท้องของนักเรียนด้วยเช่นกัน โดยมีการบริหารจัดการเรื่องของอาหารกลางวันให้นักเรียนอย่างเหมาะสม เพียงพอ ถูกสุขลักษณะและจำนวนสารอาหารที่นักเรียนควรได้รับในแต่ละมื้อ
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นมีการปรุงอาหารที่โรงผลิตอาหารกลางวันในแต่ละเขตของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ โดยมีนักโภชนาการคอยควบคุมดูแลทุกขั้นตอน
อีกทั้งวัตถุดิบต่าง ๆ ที่นำมาทำอาหารล้วนแล้วแต่คัดสรรมาอย่างดีเพื่อให้นักเรียนประถมศึกษาได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในแต่ละมื้อ
แม้ว่าผู้ปกครองจะต้องเสียค่าอาหารเดือนละ 1,000 บาทก็ตามถือว่าได้ความคุ้มค่า ความสะอาด และความปลอดภัยให้กับบุตรหลานของตนเองอย่างแน่นอน และช่วยลดภาระผู้ปกครองในการจัดเตรียมอาหารกลางวันให้บุตรหลานอีกด้วย
ประเทศฟินแลนด์ถือเป็นอีก 1 ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องอาหารการกินของนักเรียนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะนักเรียนปฐมวัยและประถมศึกษา ด้วยความเชื่อที่ว่า อาหารที่ดีจะทำให้นักเรียนมีสุขภาพกาย สุขภาพใจ มีสมองที่ชาญฉลาด พร้อมรับกับการเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข
ในโรงเรียน อาหารกลางวันที่จัดให้นักเรียนประถมศึกษา รัฐบาลเป็นผู้ดูแลและจัดสรรงบมายังแต่ละเขตพื้นที่/เทศบาลเมือง (Municipality) ให้บริหารจัดการให้ครบถ้วนและเหมาะสม
ดังนั้น อาหารกลางวันของนักเรียนประถมศึกษาในฟินแลนด์จึงไม่เสียค่าใช้จ่าย นักเรียนสามารถรับประทานอาหารฟรีที่สดสะอาดและครบถ้วนตามหลัก 5 หมู่ได้อย่างเต็มที่
ไม่ว่าจะเป็น นม ผัก ผลไม้ และอาหารคาวหวานต่าง ๆ ที่พ่อครัวแม่ครัวปรุงและคัดสรรวัตถุดิบมาอย่างดีด้วยความเอาใจใส่ ความสะอาดปลอดภัย และความตั้งใจในการทำ
อาหารกลางวันของนักเรียนประถมในฟินแลนด์ จึงต้องร้อนจะไม่มีการวางทิ้งไว้ให้เย็น นักเรียนควรต้องได้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และร้อนเสมอ นี่คือหัวใจสำคัญ
หันกลับมามองที่โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ของเราบ้าง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก
ในแต่ละวันนักเรียนประถมศึกษาได้รับประทานอาหารที่ครบถ้วน ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ปรุงสุกใหม่หรือไม่ ความสะอาดความปลอดภัย การคัดสรรวัตถุดิบต่าง ๆ ดีพอหรือไม่อย่างไร
เราจะเห็นได้จากข่าวที่ปรากฏอยู่เสมอ ๆ เรื่องของการทุจริตเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียน การให้นักเรียนกินข้าวกับแกงจืดที่มีน่องไก่เล็ก ๆ เพียงน่องเดียว กินขนมจีนกับน้ำปลา และอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้เปิดเผยออกมาเป็นข่าว
เหล่านี้คือภาพสะท้อนให้เห็นว่า มันถูกต้องแล้วหรือไม่กับการลงทุนมนุษย์ที่ขาดการคิดไตร่ตรองให้ดีให้ถี่ถ้วน หากเราต้องการสร้างบุคลากรของประเทศให้มีคุณภาพ
อันดับแรกที่ควรต้องทำคือ การให้เขาได้รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างร่างกายและสมองให้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วมีพละกำลัง ความสามารถและว่องไว
สิ่งนี้เป็นรากฐานสำคัญที่สุดและง่ายที่สุดในการดูแลทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยเรื่องอาหารการกิน งบประมาณรายหัวที่จัดสรรให้ก็น้อยมากอยู่ที่หัวละ 24-36 บาทต่อคน
คำถามคือ แม่ครัวพ่อครัวจะสามารถจัดสรรอาหารอย่างไรให้เหมาะสมในแต่ละมื้อ เนื่องจากสภาพการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป ค่าครองชีพในแต่ละเขตพื้นที่ก็แตกต่างกัน ราคาสินค้าต่าง ๆ เนื้อสัตว์ เครื่องปรุงต่าง ๆ มีการเพิ่มราคาโดยตลอด
สินค้ามีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ แต่งบรายหัวกลับไม่ผันตาม แล้วเราจะผลิตประชากรที่มีมันสมองมีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศอื่นได้อย่างไร
จะว่าไปก็เหมือนเส้นผมบังภูเขาที่เรากลับมองไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นความสำคัญ เราอยากให้เยาวชนของเราเป็นอย่างไรรัฐบาลควรเลี้ยงและดูแลเขาเหล่านั้นให้ดี เพราะพวกเขาเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต
ถ้ารัฐบาลอยากได้ผลลัพธ์ที่ดีมีคุณภาพแต่กลับไม่ลงทุนในเรื่องพื้นฐานง่าย ๆ อย่างอาหารกลางวัน แล้วจะบังเกิดผลได้อย่างไรตามที่ต้องการ
หากเจียดเงิน 10,000 บาทที่จะแจกให้คนทั้งประเทศมาขยับรายหัวค่าอาหารกลางวันของนักเรียนประถมศึกษาให้เพิ่มขึ้นสัก 70-80% จากเดิมน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่าด้วยซ้ำไป
ท้ายนี้ผู้เขียนขอฝากข้อความไว้สั้น ๆ ว่า “อาหารดี คือ พื้นฐานของคนมีคุณภาพ”