'ชัชชาติ' หัวโต๊ะถกศูนย์ปราบโกง กทม.ชงแผนต้านทุจริตอาหาร-นมโรงเรียน
'ชัชชาติ' นั่งหัวโต๊ะประชุมศูนย์ปราบโกง กทม. ร่วม ป.ป.ช.-ภาคีเครือข่าย เสนอแผนงานต้านทุจริตอาหารกลางวัน-นมโรงเรียน เตรียมแนวทางป้องกันการทุจริตภาพใหญ่
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2566 เวลา 14.00 น. ที่ ห้องสุทัศน์ ศาลว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2566 ทั้งนี้ที่ประชุมหารือประเด็นการขับเคลื่อนและยกระดับภารกิจป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้นำเสนอแผนงาน/แนวทางการขับเคลื่อนของผู้แทนภาคประชาชน สำหรับการลงพื้นที่ (โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร) ทั้ง 50 เขต ประกอบด้วย
1. ผู้นำเครือข่าย STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ทั้ง 6 โซน ร่วมกับประธานและรองประธานชมรมระดับเขตร่วมเป็นผู้แทนภาคประชาชน เพื่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสังเกตการณ์ และให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การบริหารจัดการ และการใช้จ่ายงบประมาณเกิดประโยชน์คุ้มค่ากับเด็กนักเรียนอย่างแท้จริง
2. จัดตั้งคณะทำงานเครือข่าย STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ในระดับเขต (ทั้ง 50 เขต) เขตละ 2 - 4 คน เพื่อเป็นการเชื่อมโยงการทำงานกับผู้นำระดับโซนและระดับเขตและโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครในแต่ละพื้นที่เขต
3. คณะทำงานระดับโซนและระดับเขตร่วมกันลงพื้นที่โรงเรียนที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ ตามความเหมาะสม เพื่อสังเกตการณ์และจัดเก็บข้อมูล โดยการพูดคุย/สอบถามข้อมูลเรื่องโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน จากครู/นักโภชนาการของโรงเรียนแต่ละแห่ง
4. คณะทำงานรวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่ สรุปผลการดำเนินงาน พูดคุยในระดับโซน
5. จัดทำรายงานการลงพื้นที่ส่งสำนักงาน ป.ป.ช. โดยการลงพื้นที่โรงเรียนแต่ละแห่ง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานตามปกติของครูและผู้บริหารโรงเรียน คณะทำงานระดับโซนและระดับเขตที่ได้รับมอบหมายจะลงพื้นที่แบบสัญจรตามโอกาสเป็นกลุ่มย่อย (5 - 6 คน) โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลตามความเป็นจริงในการจัดทำโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียนของโรงเรียนแต่ละแห่ง นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้นำเสนอข้อมูลและรายชื่อพร้อมหมายเลขโทรศัพท์คณะทำงานของผู้แทนชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ระดับเขต ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ร่วมปฏิบัติงานกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในปัจจุบัน มาเพื่อประสานงานและลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร่วมกับกรุงเทพมหานครในการขับเคลื่อนและยกระดับภารกิจนี้ด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือประเด็นแนวทางการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และรายงานกลับการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC) สำนักงาน ป.ป.ช. ได้นำเสนอข้อมูล ประกอบด้วย
1. ข้อมูลการขุดลอกแหล่งน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครมีคูคลอง ลำราง ลำกระโดง เป็นทางระบายน้ำ จำนวนทั้งสิ้น 1,980 คลอง ความยาวรวมประมาณ 2,745 กิโลเมตร ปี 2563 ได้รับงบประมาณดำเนินการไป 138 คลอง รวมระยะทาง 282,355 เมตร ปี 2564 ได้รับงบประมาณขุดลอก 42 คลอง รวมระยะทาง 88,977 เมตร ปี 2565 ได้รับงบประมาณขุดลอก 42 คลอง รวมระยะทาง 60,134 เมตร แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 32 คลอง สภากรุงเทพมหานครเห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 10 คลอง ปี 2566 สำนักการระบายน้ำ ได้มีแผนการขุดลอกคลองเพื่อเชื่อม 9 คลองสายหลัก กับอีกจำนวน 65 คลอง เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำให้ไหลลงไปสู่อุโมงค์และสถานีสูบน้ำ แล้วระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมความยาว 393,174 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต
2. รายงานผลเบื้องต้นจากการลงพื้นที่ของชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ระดับเขต ในโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรี ครอบคลุมพื้นที่เขตตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย และเขตบางกอกใหญ่ มีข้อมูลพื้นฐานของโครงการฯ ดังนี้ สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียพื้นที่ส่วนเหนือ (เขตบางพลัด และบางส่วนของเขตตลิ่งชัน และเขตบางกอกน้อย) งบประมาณ 2,934,000,000 บาท และสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียพื้นที่ส่วนใต้ (เขตบางกอกน้อยและเขตบางกอกใหญ่) งบประมาณ 2,259,198,000 บาท ระยะเวลาเดือนกุมภาพันธ์ 2565 - เดือนมกราคม 2568
โดยทั้ง 2 ประเด็นมีข้อจับตามองในด้านการมีส่วนร่วมการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ผลกระทบหรือความเดือดร้อนของประชาชนจากการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การป้องปรามการทุจริต
ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบแนวทางการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และรายงานกลับการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามมติที่ประชุมศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC) รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับข้อเสนอการขับเคลื่อนและยกระดับภารกิจป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. และผู้แทนภาคประชาชนนำเสนอ เนื่องจากเป็นประเด็นที่สำคัญต่อผู้เรียนและอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ จะได้นำเสนอปลัดกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ก.ก. สำนักการศึกษา สำนักงานเขต และโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมด้วย