‘Food Coma’ อาการ ‘ง่วง’ หลังมื้อเที่ยง เกิดจากอะไร?
“หนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน” โดยเฉพาะหลัง “มื้อเที่ยง” เกิดขึ้นได้กับหลายคน โดยเฉพาะชาวออฟฟิศที่ต้องทำงานต่อในช่วงบ่ายจนถึงเย็น โดยอาการดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า “Food Coma”
Key Points:
- กินอิ่มแล้วง่วงนอน โดยเฉพาะหลัง “มื้อเที่ยง” ปัญหาใหญ่ชาวออฟฟิศ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง สมองไม่แล่น เรียกว่าอาการ “Food Coma”
- แม้ว่า Food Coma เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าไม่อยากให้ส่งผลเสียต่อ “การทำงาน” ก็จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมโดยเฉพาะ “การกิน” และการเคลื่อนไหว
- นอกจากการกินอาหารบางอย่าง ที่ส่งผลต่อ “ความง่วง” โดยตรงแล้ว “การนอน” ให้เพียงพอในแต่ละคืน ก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิด Food Coma ได้เช่นกัน
เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมหลังจากรับประทานมื้อเที่ยงอิ่มแล้ว บางคนจะง่วงนอนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในวัยทำงาน อาการนี้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า “Food Coma” ที่ไม่ได้ทำให้ง่วงอย่างเดียว แต่ในบางคนยังอึดอัดในช่องท้อง หรือจุกจนลุกไม่ไหว หายใจไม่สะดวก และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการทำงานเต็มๆ เพราะเมื่อทั้งง่วงทั้งอิ่มแล้วย่อมไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่ว่าจะทำงานที่ออฟฟิศหรือที่บ้าน (Work from Home)
ไม่ใช่แค่การ “กินอิ่ม” เท่านั้นที่ทำให้บางคนเกิดอาการ “Food Coma” แต่การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานหนักเกินไปในตอนเช้า หรือประเภทอาหารที่รับประทานก็มีส่วนเช่นกัน
- “Food Coma” เกิดจากอะไร สำรวจตัวเองเข้าข่ายหรือไม่?
สำหรับอาการ Food Coma นั้น จะเกิดขึ้นภายหลังรับประทานมื้อเที่ยงได้ไม่นาน นอกจากความง่วงที่เกิดขึ้นแล้ว ยังทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า รู้สึกว่าระดับพลังงานของตัวเองลดลง ทำงานไม่ไหว สมาธิหลุด โฟกัสอะไรไม่ได้ ไม่มีแรงคิดงาน ยิ่งถ้ามีประชุมยิ่งแล้วใหญ่ เพราะแทบจะฟุบหลับได้ง่ายๆ เนื่องจากจังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป เพราะหัวใจคือนาฬิกาภายในร่างกาย มีหน้าที่ควบคุมรูปแบบการนอนหลับ
ข้อมูลจาก Medical News Today ระบุว่า อาการง่วงหลังมื้อเที่ยงนั้นมาจากหลายทฤษฎี เช่น
1. ชนิดของอาหารที่รับประทาน เนื่องจากอาหารที่มี “คาร์โบไฮเดรต” สูง สามารถช่วยให้ร่างกายดูดซึม “ทริปโตเฟน” กรดอะมิโนที่ร่างกายใช้ในการสร้างเซโรโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ การย่อยอาหาร และอารมณ์ ที่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิด “ความง่วง” หลังรับประทานอาหาร ส่วนอาหารอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้ง่วงไม่แพ้กันก็คือ “โปรตีน”
โดยเคยมีการทดสอบทฤษฎีมาแล้ว ในกลุ่มคนขับรถบรรทุกชาวจีนเมื่อปี 2021 ผลการทดสอบพบว่า คนที่รับประทานอาหารประเภท ผัก ธัญพืช นม และไข่ สามารถขับรถได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากลุ่มที่รับประทานจำพวกเนื้อสัตว์ที่เน้นโปรตีนหนักๆ
ดังนั้นนักวิจัยจึงสันนิษฐานว่าประเภทของอาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะในมื้อเที่ยงนั้นส่งผลต่อพลังงานในช่วงบ่ายที่แตกต่างกันออกไป
2. ปริมาณของมื้ออาหาร อ้างอิงจากงานวิจัยที่เคยศึกษาการนอนหลับของแมลงวันผลไม้ พบว่า เมื่อพวกมันกินเยอะ ก็จะนอนเยอะตามไปด้วย แต่พอกินน้อยก็นอนน้อยลง
นักวิจัยจึงตั้งข้อสังเกตว่ายิ่งเรารับประทาน “อาหารมื้อใหญ่” ระบบย่อยอาหารก็จะใช้เวลาในการทำงานในการดูดซึมสารอาหารนานขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเช่นกัน และทำให้ระดับพลังงานลดลงในเวลาต่อมา
จากการศึกษากลุ่มคนขับรถในบราซิล 52 คน เมื่อปี 2019 พบว่าคนที่รับประทานในปริมาณพอเหมาะจะมีอาการง่วงนอนน้อยกว่าคนที่รับประทานในปริมาณมาก
3. ช่วงเวลารับประทานอาหาร หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนง่วงในช่วงบ่าย อาจเกิดจากความพยายามของร่างกายในการย่อยอาหาร ที่เกิดขึ้นพร้อมกับช่วงเวลาที่พลังงานตามธรรมชาติในร่างกายอยู่ในช่วงที่ลดลงพอดี
สาเหตุของพลังงานที่ลดต่ำลงนั้น เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายพ้นจากช่วงตื่นตัวไปแล้ว โดยความตื่นตัวของคนเราในแต่ละวัน ส่วนมากจะลดลงในช่วง 14.00-17.00 น. หรือช่วงบ่ายไปถึงเย็น ดังนั้นเมื่อรับประทานมื้อใหญ่ในช่วงเที่ยงก็จะยิ่งเพิ่มความง่วงหลังอาหารไปด้วย เพราะร่างกายไม่ค่อยตื่นตัวแล้วนั่นเอง
4. การไหลเวียนโลหิต จากการศึกษาเบื้องต้นในปี 2018 พบว่า ผู้ที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้ามาก่อน และมารับประทานมื้อเที่ยงเป็นมื้อแรกของวัน ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงกระทันหันหลังรับประทานมื้อกลางวันไปได้ไม่นาน เป็นยิ่งกระตุ้นให้มีความง่วงเพิ่มขึ้น
เนื่องจากร่างกายต้องใช้เลือดไปหล่อเลี้ยงการทำงานของระบบย่อยอาหาร แทนที่จะหล่อเลี้ยงสมองในการทำงาน เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง จึงมีส่วนทำให้รู้สึกง่วงและอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะเพิ่มมาด้วย
5. สัญชาตญาณโบราณของมนุษย์ อีกหนึ่งข้อสังเกตก็คือ ในอดีตบรรพบุรุษของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำและล่าสัตว์มาเป็นอาหาร ทำให้คล้ายกับว่ามนุษย์ถูกตั้งโปรแกรมให้ตื่นตัวในช่วงเวลาที่มีความหิว เพื่อหาอาหารมาเลี้ยงให้ชีวิตอยู่รอด และหลังเหน็ดเหนื่อยจากการล่าสัตว์แล้วก็กลับมารับประทานอาหารและพักผ่อน
นอกจากทฤษฎีที่ยกตัวอย่างมาเบื้องต้นแล้ว ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต ยังอธิบาย ว่า การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอในตอนกลางคืน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเราง่วงนอนในตอนกลางวันแทน หรือการโหมทำงานหนักมากเกินไปในช่วงเช้าก็มีส่วนทำให้เริ่มเหนื่อยล้าในช่วงบ่ายได้เช่นกัน
- วิธีสู้กับความง่วงช่วงบ่าย ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านมาถึงตรงนี้ วัยทำงานคงเห็นภาพชัดขึ้นแล้วว่า อาการ “Food Coma” เป็นปัจจัยให้ทำงานได้แย่ลงในช่วงบ่าย เพราะความง่วงมารบกวนสมาธิ แต่อาการเหล่านี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัว และอาจไม่ต้องพึ่งพา “ชาและกาแฟ” เสมอไป
คำแนะนำข้อแรก คือ ให้เริ่มต้นจากการนอนหลับให้เพียงพอประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการพักผ่อนตามเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้ตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่น ไม่ง่วงซึม และลดอาการง่วงในช่วงกลางวันลงได้ แต่ก็ต้องเข้านอนและตื่นให้ตรงเวลาด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้นาฬิกาชีวิตรวน ไม่นอนดึกและไม่ตื่นสายจนเกินไป
นอกจากนี้การดื่มน้ำระหว่างวันให้เพียงพอ ก็ช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้นได้ และเมื่อรับประทานมื้อเที่ยงเสร็จควรเดินออกกำลังกายเล็กน้อยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น เพื่อให้สมองทำงานได้เต็มที่ และยังทำให้นอนหลับสบายขึ้นในตอนกลางคืนอีกด้วย
สำหรับเทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยให้เอาชนะ Food Coma ในช่วงบ่าย สามารถทำได้ดังนี้
- สร้างความตื่นตัวหลังอาหารเที่ยง ด้วยการหากิจกรรมทำก่อนกลับไปนั่งโต๊ะทำงาน เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น หรือหันมาพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานแทนการนั่งเฉยๆ
- ปรับวิธีการกินอาหาร เน้นอาหารพอดีคำ เคี้ยวให้ช้าลงและเคี้ยวให้ละเอียด เพื่อไม่ให้กระเพาะทำงานหนักเกินไป ดื่มน้ำหลังอาหารเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเดินไปเข้าห้องน้ำบ้าง จะได้ไม่ต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานนานเกินไป
- เลือกหมวดหมู่อาหารให้เหมาะสมมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง แป้ง ขนมขบเคี้ยว ไปจนถึงเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานจัด เช่น ชานมไข่มุก
- ไม่ไหว อย่าฝืน หากสุดท้ายแล้วทำอย่างไรร่างกายก็ยังต้องการที่จะนอน ให้งีบหลับไม่เกิน 10 นาที เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนสั้นๆ และหลังจากงีบแล้วก็จะกลับมาตื่นตัวมากขึ้น แต่หากนอนนานเกินกว่านี้ก็จะทำให้ปวดศีรษะได้
แม้ว่าความรู้สึกเหนื่อย เพลีย ง่วง หมดแรง หัวไม่แล่น แน่นพุงจนไม่อยากลุก หลังมื้อเที่ยง อาจจะไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงอะไรนัก แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการทำงานไม่น้อย โดยเฉพาด้านประสิทธิภาพการทำงาน
ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะมีแรงทำงานต่อในช่วงบ่ายแล้ว ยังช่วยให้มีสุขภาพที่ดีตามไปด้วย และถ้าหากทดลองทำทุกวิถีทางแล้วอาการ “Food Coma”ยังรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการ เพื่อหาทางออกอย่างเหมาะสม
อ้างอิงข้อมูล : Medical News Today, Health Line และ กรมสุขภาพจิต