ง่วงตอนกลางวัน จนเผลองีบหลับบ่อยๆ เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ
งีบหลับตอนกลางวันบ่อยเพราะง่วงมาก อาจเป็นเรื่องอันตราย เพราะเข้าข่ายภาวะ “Excessive Daytime Sleepiness” เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ โดยเฉพาะผู้ชายสูงอายุยิ่งต้องระวัง !
Key Points:
- ง่วงนอนกลางวันมากผิดปกติจนเผลองีบหลับบ่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม อาจเข้าข่ายภาวะ Excessive Daytime Sleepiness
- การนอนกลางวันมากเกินไปนั้นส่งผลเสียมากกว่าที่คิด เพราะนอกจากทำให้ใช้ชีวิตตอนกลางวันแบบไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับจนเสียชีวิตอีกด้วย
- แม้ว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบได้มากในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ซึ่งเพศชายจะมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
ใครที่มีอาการง่วงนอนมากผิดปกติจนสามารถงีบหลับได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงกลางวัน ไม่ว่าจะเป็นขณะเรียนหนังสือ ตอนทำงาน ทานอาหาร เข้าห้องน้ำ หรือแม้แต่งีบหลับขณะประชุม จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะอาจเข้าข่ายอาการป่วยจากภาวะ “Excessive Daytime Sleepiness” (EDS) หรืออาการง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจทำให้เกิดปัญหา “หยุดหายใจขณะหลับ” หรือ Obstructive Sleep Apnea (OSA) ซึ่งพบเจอได้ง่ายในชายสูงอายุ
“การนอนหลับ” คือเรื่องจำเป็นของมนุษย์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่และมีการซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้พร้อมกับการใช้งานในวันต่อไป โดยเฉลี่ยแล้วการนอนจะกินเวลาประมาณ 1 ใน 3 ของชีวิตมนุษย์ ยกตัวอย่าง หากมีอายุ 80 ปี ก็จะใช้เวลาไปกับการนอนประมาณ 30 ปี แต่ถ้ามนุษย์เรานอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพ นอกจากจะทำให้ร่างกายไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่าแล้ว ยังส่งผลเสียต่อร่างกายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนอนน้อยเกินไปหรือนอนมากเกินไปก็ตาม
- แบบไหน? ที่เรียกว่าเป็น “การนอนหลับที่มีคุณภาพ”
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “การนอนหลับที่มีคุณภาพ” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชั่วโมงในการนอนแต่ละวันเท่านั้น เพราะถ้าหากนอนแล้วตื่นมาด้วยอาการไม่สดชื่นหรือมีอาการปวดศีรษะ ไปจนถึงนอนหลับๆ ตื่นๆ แขนขากระตุกขณะหลับ นอนกรน หรือความผิดปกติอื่นๆ ระหว่างนอน แม้ว่าจะนอนหลับได้หลายชั่วโมง แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพ และอาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงเป็นบ่อเกิดโรคร้ายโดยไม่รู้ตัว
หากใครรู้สึกว่า “การนอน” ของตัวเองยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร อาจปรับปรุงวิธีนอนใหม่ โดยเริ่มจากการกำหนดเวลานอนให้ตัวเอง พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน สำหรับชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมในแต่ละวัน สามารถแบ่งตามช่วงอายุได้ ดังนี้
- วัยประถมศึกษา อายุ 6-13 ปี อยู่ที่ 9-10 ชั่วโมง
- วัยวัยรุ่น อายุ 14-17 ปี อยู่ที่ 8-10 ชั่วโมง
- วัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุ 18-25 ปี อยู่ที่ 7-9 ชั่วโมง
- วัยผู้ใหญ่ อายุ 26-64 ปี อยู่ที่ 7-9 ชั่วโมง
- ผู้สูงอายุ มากกว่า 64 ปี อยู่ที่ 7-8 ชั่วโมง
เมื่อสามารถปรับการนอนให้เป็นระบบได้แล้ว ก็จะก่อให้เกิดการนอนที่มีคุณภาพตามมา ส่งผลให้มีความสดชื่นและตื่นตัวในช่วงเวลากลางวัน สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติโดยไม่เผลองีบหลับบ่อยๆ แต่ถ้าพยายามปรับเวลาแล้วยังรู้สึกง่วงนอนในเวลากลางวันเป็นประจำ จนต้องงีบหลับแม้ในระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ จนเริ่มผลเสียต่อการใช้ชีวิต อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจเข้าข่าย ภาวะ “Excessive Daytime Sleepiness” ทำให้ง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ และแย่ไปกว่านั้นอาจทำให้มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ
- งีบหลับตอนกลางวันบ่อย เสี่ยงใหลตายไม่รู้ตัว
การนอนกลางวันโดยทั่วไปถือว่าเป็นเรื่องปกติ หากงีบประมาณ 15-20 นาที เพราะถือว่าเป็นการพักผ่อนระยะสั้นๆ เพื่อให้ร่างกายตื่นมาใช้ชีวิตประจำวันต่อด้วยความสดชื่น และสามารถทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้านอนนานกว่านั้น หรือนอนกลางวันมากกว่า 1 ครั้ง ถือว่าผิดปกติและมีความเสี่ยง “หยุดหายใจขณะหลับ” ทำให้เสียชีวิตจากการใหลตายได้
มีรายงานหลายชิ้นจากทั่วโลกพบว่า ผู้มีปัญหานอนกลางวันมากเกินไปประมาณ 2.5-25% เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย (พบน้อยที่สุดในเด็ก) ส่วนมากจะพบในวัยทำงาน และที่มากที่สุดคือ “ผู้สูงอายุ” โดยเฉพาะเพศชายจะมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
สำหรับภาวะ Excessive Daytime Sleepiness นั้น เป็นหนึ่งในภาวะผิดปกติของการนอนหลับ หรือ Sleep Disorders ผู้ที่มีอาการนี้จะรู้สึกง่วงนอนตอนกลางวันมากกว่าปกติ โดยมีอาการมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ทำให้ประสิทธิภาพและสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันลดลง รวมถึงมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มึนงง เชื่องช้า ฉุนเฉียวง่าย ความจำแย่ลง มีอาการซึมเศร้า และที่อันตรายที่สุดคือ “หยุดหายใจขณะหลับ” ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยใหลตายหรือเสียชีวิตได้
ในส่วนของสาเหตุการเกิดภาวะนอนกลางวันมากเกินไปนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้
1. จำนวนชั่วโมงที่นอนไม่เพียงพอในตอนกลางคืน สามารถพบได้มากจากคนที่นอนดึกตื่นเช้า หรือต้องทำงานเป็นกะ
2. แม้ว่าจะนอนตามชั่วโมงที่เหมาะสม แต่คุณภาพการนอนไม่ดี ทำให้หลับๆ ตื่นๆ อาจเกิดจากภาวะนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ หรือ ภาวะขาอยู่ไม่สุขขณะหลับ
3. ปัจจัยอื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากยาบางตัวที่ทำให้ง่วง ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกาย อาการเจ็บป่วยทางจิต หรือ โรคจากการหลับที่ไม่มีคุณภาพ
หากใครที่รู้ตัวว่ามีอาการดังกล่าว หรือสังเกตเห็นความผิดปกติเหล่านี้จากคนใกล้ตัวนั้น ต้องไม่รอช้าและรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที เนื่องจากหากปล่อยไว้นานจะยิ่งมีความเสี่ยงเกิดภาวะออกซิเจนในเลือด สมอง และหัวใจต่ำลง เนื่องจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนถูกปิดกั้นจนหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาจทำให้เสียชีวิตได้
- ใครคือกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะงีบหลับกลางวันผิดปกติ? และคนรอบข้างจะมีวิธีป้องกันอย่างไร?
นอกจากความเสี่ยงภาวะ Excessive Daytime Sleepiness 3 สาเหตุหลัก ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันอีกด้วย เช่น
- โรคทางสมอง (พาร์กินสัน, เนื้องอกสมอง, มะเร็งสมอง, ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น)
- โรคอัมพาต
- ภาวะขาดไทรอยด์
- โรคเบาหวาน โรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน
- โรคตับ
- ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง จนทำให้ตื่นกลางดึก
- พันธุกรรม
- สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด
สำหรับการรักษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับเบื้องต้น แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติโดยเฉพาะเรื่องการนอน โรคประจำตัว และการใช้ยาต่างๆ ซึ่งในบางคนจะต้องทำประเมินแบบทดสอบอาการง่วงนอนเพิ่มเติม โดยเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยเวลาเพราะว่าต้องบันทึกเวลาเข้านอน ตื่นนอน ไปจนถึงช่วงที่ตื่นกลางดึก ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อนำไปวินิจฉัยหาความผิดปกติในการนอน นอกจากนั้นก็จะเป็นการพิจารณาเพื่อรักษาตามอาการ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และ การตรวจภาพสมองด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
หลังได้รับการวินิจฉัยแล้ว ขั้นแรกจะต้องรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการนอนและการตื่น รวมถึงตารางการทำงาน จำเป็นจะต้องรักษาและให้แพทย์ติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากไม่ดีขึ้นอาจจะต้องประเมินหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าปัญหาง่วงนอนตอนกลางวันบ่อยเกินไป ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่แค่ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคร้ายเท่านั้น แต่ยังอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต จึงไม่ควรปล่อยไว้ให้เป็นปัญหาเรื้อรัง
อ้างอิงข้อมูล : รพ.เปาโล, รพ.เมดพาร์ค, รพ.นนทเวช, ม.มหิดล, หาหมอ และ ไวทัล สลีป คลินิก