รู้หรือไม่? ใส่ 'เสื้อยืด' อันตรายต่อสุขภาพ แนะประกาศห้ามใช้สาร‘PFAS’
‘เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ อาหาร และน้ำ’ ที่ผู้คนใช้กิน ใช้ดื่ม ใช้ในชีวิตประจำวัน ล้วนมีสารเคมีปนเปื้อนไม่มากก็น้อย ซึ่งสารปนเปื้อน สารเคมีต่างส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน และสิ่งแวดล้อม
Keypoint:
- 'PFAS' เป็นสารเคมีตลอดกาล หรือสารเคมีอมตะที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์มากกว่า 4,700 รายการทั่วโลก และอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ่งทอ
- เสื้อยืดที่มีคุณสมบัติกันเลอะ สะท้อนหยดน้ำ มี ปริมาณ PFAS รวมสูงสุด แถมเป็นกลุ่มเสื้อที่ใส่ได้ทุกวัน มีการซักผ้าทุกวัน ทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำ และสิ่งแวดล้อมได้
- ภาครัฐต้องออกประกาศห้ามใช้สาร PFAS ขณะที่ผู้ประกอบการต้องใช้สารอื่นๆ แทนสาร PFAS รวมถึงควรมีการติดฉลากPFAS Free เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ หรือตัดสินใจ
วันนี้ (5 ก.พ.2567)มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ได้จัดงานแถลงข่าว ‘การปนเปื้อนของสารเคมีตลอดกาล (Forever chemical) PFAS ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ’ ซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน
เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่ประเทศไทยมีการลดใช้ หรือแบนสารเคมีในหลายๆ ชนิด ตามที่ได้ลงนามในอนุสัญญาสต็อกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน มาตั้งแต่ปี 2545 และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2548 แต่ยังมีสารเคมีบางชนิดที่ยังมีการใช้อยู่ในประเทศไทยจำนวนมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ส่งผลต่อการส่งออก การนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยไปสู่ตลาดโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไม่ได้รักษ์โลกอย่างที่คิด? วิจัยเผย พบ ‘สารเคมีอมตะ’ ในหลอด-แก้วกระดาษ
จะเป็นอย่างไร เมื่อสารตกค้างจาก ‘ครีมกันแดด’ ปนเปื้อน ‘หิมะขั้วโลก’ ?
เสื้อผ้า ทุกผลิตภัณฑ์มีสาร PFAS
‘ฐิติกร บุญทองใหม่’ ผู้จัดการแผนงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่าทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้มีการศึกษาร่วมระหว่างประเทศ นำโดยเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศหรือ IPEN และองค์กรสมาชิกจาก 4 ภูมิภาค รวม 13 ประเทศ(รวมถึงประเทศไทย) ได้จัดทำโครงการ PFAS IN SYNTHETIC OUTDOOR CLOTHES ซึ่งเป็นการศึกษาสารเคมี PFAS ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ หรือเสื้อผ้าว่ามีอันตรายอย่างไรบ้าง อันนำไปสู่การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเลิกใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS ในผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนให้ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมและห้ามใช้สาร PFAS ในผลิตภัณฑ์
ฐิติกร กล่าวต่อว่าการศึกษาสาร PFAS ในเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นสารที่อย่างแพร่หลายผลิตภัณฑ์ และไม่ได้ใช่เฉพาะในเสื้อผ้าเพียงอย่างเดียว แต่ในกลุ่มภาชนะใส่อาหารที่เป็นกระดาษมีลักษณะกันน้ำ และกันเปื้อนได้ดี รวมถึงโฟมดับเพลิง ซึ่งสาร PFAS ถูกคิดค้นมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1950 ถือว่าอยู่กับสังคมมนุษย์เป็นระยะเวลา 70 - 80 ปี ทุกคนใช้ชีวิตใกล้ชิดกับสาร PFAS มาโดยตลอดเพียงแต่ไม่ทราบ
“สาร PFAS ที่อยู่ในเครื่องแต่งกาย เสื้อผ้า มีโอกาสปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เพราะสัมผัสโดยตรงระหว่างผิวกับเสื้อผ้า หรือจากการซักล้างเสื้อผ้า จึงจำเป็นที่ต้องมีการออกกฎหมายออกมาเพื่อควบคุมการใช้ เนื่องจากจริงๆ แล้วมีสารอื่นๆ ทดแทนการใช้สาร PFAS ได้ โดยที่ไม่กระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม”ฐิติกร กล่าว
ปัจจุบันพบว่ามีการใช้สาร PFAS ในผลิตภัณฑ์ มากกว่า 4,700 รายการทั่วโลก และส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เรียกได้ว่า ครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
เสื้อผ้าไทยอันดับ2 มีสาร PFASสูง
ฐิติกร กล่าวต่อไปว่าการศึกษาในครั้งนี้ ได้มีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติ กันน้ำ กันละอองน้ำ โดยมีการวิเคราะห์ 73 ตัวอย่าง จาก 13 ประเทศใน 4 ทวีป ส่งไปห้องปฎิบัติการวิเคราะห์สารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ทั้งหมด โดยในส่วนของประเทศไทย จะมีการส่งตัวอย่างเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติ กันน้ำ ไป 6 ตัวอย่าง ทั้งเสื้อเชิ้ต เสื้อยืด เสื้อแจ็คเก็ต เสื้อกีฬา พบสาร PFAS หลายชนิด เช่น PFHxA (Perfluorohexanoic acid) ,PFOA (Perflourooctanic acid) , PFDA (Perfluorodecanoic acid) และ6:2 FTOH (Fluorotelomer alcohol)
โดยกลุ่มตัวอย่างที่พบปริมาณฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ (EOFหรือ Extractable Organic Fluorine ) สูงสุด คือ กลุ่มเสื้อแจ็คเก็ตที่มีคุณสมบัติกันละอองน้ำ ตัวอย่างที่พบปริมาณ PFASรวมสูงสุด คือ เสื้อยืดที่มีคุณสมบัติกันเลอะ สะท้อนหยดน้ำ ซึ่งเสื้อยืด เป็นกลุ่มเสื้อที่ใส่ได้ทุกวัน และจะมีการซักผ้าทุกวัน ทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำ และสิ่งแวดล้อมได้
“ตัวอย่างเสื้อผ้าที่มีสาร PFAS สูงสุดของไทย มีปริมาณสาร PFAS สูงเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย และมีปริมาณ PFAS สูงเป็นอันดับที่ 9 ของตัวอย่างจาก 13 ประเทศ 4 ภูมิภาค และจากการศึกษา สรุปได้ว่า มีการใช้หรือปนเปื้อนของสาร PFAS ในตัวอย่างเสื้อผ้ามากถึงร้อยละ 65 ของตัวอย่างทั้งหมด (จาก165 ตัวอย่างทั่วโลก) ผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย พบการปนเปื้อนของสารกลุ่ม PFAS และคาดว่าจะเป็นสาร PFASทุกตัวอย่าง หรือ 100% และการใช้ PFAS ไม่ใช่สิ่งจำเป็นและปัจจุบันมีทางเลือกอื่นแล้ว” ฐิติกร กล่าว
ห้ามใช้สาร PFAS ปลอดภัยต่อสุขภาพ
‘ทัศนีย์ แน่นอุดร’ บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่าสาร PFAS อยู่ในเกือบทุกเกือบทุกอุตสาหกรรม และถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนมาก โดยเฉพาะเสื้อผ้าซึ่งอยู่ติดตัวของทุกคน อย่ามองว่าไม่ได้กิน ไม่ได้ดื่มเข้าไปจะไม่อันตราย เพราะการระเหยของสารจากเสื้อผ้าและทุกคนสูดดมเข้าไปทุกวันๆ ส่งผลต่อสุขภาพอย่างแน่นอน ยิ่งจากการศึกษา พบว่า ในเสื้อยืดเจอปริมาณ สาร PFAS มาก และเวลาใส่เสื้อยืดจะต้องซักทุกวันส่งผลให้มีการปนเปื้อนในน้ำ ในสิ่งแวดล้อม
อันตรายของสาร PFAS ที่มีต่อร่างกายนั้น เสี่ยงทำให้เกิดโรคในหลายๆ โรค อาทิ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไทรอยด์ โรคมะเร็งที่ไต ความดันโลหิตสูงและครรภ์เป็นพิษ เกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความสามารถของร่างกายในการตอบสนองต่อวัคซีน ในผู้หญิงจะไม่สามารถเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้อย่างเต็มที่ และทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวลดลง/ไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน
เสนอภาครัฐ ประกาศห้ามใช้สาร PFAS
ทัศนีย์ กล่าวต่อว่า อยากเสนอแนะและเรียกร้องต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ดังนี้
- ให้มีการออกประกาศห้ามใช้สาร PFAS และกลุ่มPFOS PFOA PFHxS ในเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อลดการสัมผัสสาร PFAS ในสิ่งมีชีวิตและลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
- มีการบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลวัสดุและสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์
- วางแผนและส่งเสริมให้เกิดผลทางธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านไปใช้ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า PFAS
- เพิ่มศักยภาพของศุลกากรในการตรวจวิเคราะห์สินค้านำเข้าที่มีการใช้หรือปนเปื้อนสาร PFAS ควรให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร
- ควรมีการหารือร่วมกับฝ่ายผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ว่าลด ละ เลิก อย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ผลิตอาจจะล้ำหน้าไปกว่านโยบายของภาครัฐก็ได้
“ควรรณรงค์ให้ความรู้กับผู้บริโภค แล้วผู้ผลิตเองก็ควรจะมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ในการติดป้ายฉลากบอกว่าเป็น PFAS Free หมายถึงไม่มีการใช้สาร PFAS และมีลิงค์ให้สามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทมี PFAS หรือไม่อย่างไร รวมทั้งคำแนะนำสำหรับผลิตภัณฑ์พวกเสื้อผ้าที่มีปริมาณสาร PFAS ว่าจะซักอย่างไร เพื่อลดการปล่อยพวกสารเคมีอันตรายเข้าสู่แหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธิเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจะมีการจัดทำหนังสือจากการศึกษาในครั้งนี้ ส่งไปยังภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การดูแลด้านนโยบายสารเคมีให้มีความเข้มงวด และให้มีการห้ามใช้สาร PFAS ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม