ข้อแนะจากวิชา “ความสุข” | วรากรณ์ สามโกเศศ
เมื่อต้นปี 2018 ที่มหาวิทยาลัย Yale วิชา “ความสุข” (Psychology and the Good Life) เป็นที่นิยมของนักศึกษาเป็นอย่างมาก มีนักศึกษาลงเรียนถึง 1,200 คน ซึ่งเป็นประวัติการณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่มีอายุกว่า 320 ปี
ต่อมาก็มีการปรับปรุงวิชานี้ให้เรียนฟรีออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ Coursera โดยใช้ชื่อว่า “The Science of Well-Being” (วิทยาศาสตร์แห่งสุขภาวะ) และต่อมาเมื่อโควิด-19 ระบาด วิชานี้ก็เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ตามมา จนมีคนลงทะเบียนรวมทั้งสิ้นถึง 3.3 ล้านคน
ผู้เข้าเรียนส่วนใหญ่บอกตรงกันว่า วิชานี้ได้เปลี่ยนชีวิตอย่างสำคัญ ปัจจุบันวิชาลักษณะนี้ได้กระจายสู่มหาวิทยาลัยจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาและเป็นที่นิยมอย่างมากโดยใช้หลายชื่อ เช่น Psychology of Happiness / Positive Psychology
จุดเริ่มต้นของวิชามาจากแนวคิดของ Martin Seligman นักจิตวิทยาคนสำคัญในทศวรรษ 1990 ว่าวิชาจิตวิทยาควรเน้นมากขึ้นไปที่การพัฒนาสุขภาพจิตแทนการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตดังที่เป็นมาเนิ่นนาน สาขาของวิชาจิตวิทยาที่เรียกว่า Positive Psychology จึงเกิดขึ้น
แนวคิดนี้เน้นการใช้ความเข้มแข็งของบุคลิกภาพและพฤติกรรมในการทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถสร้างชีวิตที่มีความสุข มีความหมายและเป้าหมาย
ลองมาดูกันว่า 10 ข้อแนะจากวิชาที่ Yale ดังกล่าวแล้วซึ่งทำให้เกิดชีวิตที่มีความสุขนั้นมีอะไรบ้าง ผู้สอนเน้นว่าไม่ต้องทำทุกอย่างตามที่ระบุก็ได้ หากลงมือทำจริงและเลือกทำสัก 3 อย่าง ก็จะเห็นผล
ข้อแรก “ยิ้ม” เป็นสิ่งที่ง่ายและมีพลัง (การเป็น“The Land of Smiles” ของบ้านเรามีพลังเสน่ห์เสมอ) จงยิ้มเสมอถึงแม้บางครั้งจะไม่รู้สึกอยากก็ตาม
การยิ้มปลดปล่อยสาร serotonin (สารตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทกับสมองและส่วนอื่นของร่างกาย) และ dopamine (ฮอร์โมนที่ให้เกิดความรู้สึกที่ ดี ๆ เกิดความพึงพอใจ) ในสมองของเรา
ผู้สอนบอกว่าควรเริ่มต้นชีวิตทุกวันด้วยรอยยิ้ม มันดีต่อสุขภาพตนเองและเป็นการมอบความรู้สึกที่ดีให้แก่ผู้อื่นด้วย จงยิ้มให้ใครก็ได้ที่เดินผ่านมา มันเป็นสิ่งที่ช่วยปรับอารมณ์ของเราให้ดีขึ้นทันที
ข้อสอง “3 สิ่งสำคัญยิ่ง” จดบันทึกความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหนึ่งวันที่ผ่านมาก่อนนอน เลือกมาประมาณ 3-5 เรื่องทั้งเล็กและใหญ่
ถามตัวเองว่าทำไมสิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้น? เป็นเพราะโชค? บางคนเมตตาเรา? หรือเราเมตตาเขา? เพราะเราทำงานหนัก? หรือเป็นเพราะทัศนคติของเรา?
การสะท้อนคิดเช่นนี้จะช่วยให้เรามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทที่กว้างขวางและเกิดความรู้สึกในด้านบวก เช่น ได้ดื่มกาแฟเลิศรส ทำโครงการใหญ่จบลง ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้รับของขวัญ มีคนซาบซึ้งกับสิ่งที่เราทำ หกล้มหัวแตกเพียงเล็กน้อย ฯลฯ
การจดบันทึกจะทำให้สามารถกลับมารับรู้ความรู้สึกและความนึกคิดเก่า ๆ ได้เสมอ
ข้อสาม ในแต่ละวันจงกำหนดแผนกระทำสิ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อยที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม เช่น คุยกับเพื่อนถูกใจ ท่องโซเชียลมีเดีย ดูกีฬา ทีวีรายการโปรด อ่านหนังสือ ฟังเพลง กินอาหารจานโปรด ฯลฯ เลือกอะไรก็ได้ที่ทำให้มีความสุข
ข้อสี่ คุยกับเพื่อน คนรู้จัก หรือแม้แต่คนแปลกหน้า อย่าลืมว่าความพึงพอใจในชีวิตของมนุษย์มาจากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม”)
การกล่าวคำ “สวัสดี” “ขอบคุณ” พร้อมกับรอยยิ้ม นำความสุขใจให้ผู้รับและผู้กล่าวเสมอ
ข้อห้า รับฟังจากคนที่เห็นว่าสำคัญหนึ่งถึงห้านาทีในแต่ละวัน การมีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกับผู้อื่นคือแหล่งสำคัญของการเติมความสุขในชีวิต และการรับฟังอย่างตั้งใจคือเครื่องมือในการได้รับความสุขจากความสัมพันธ์ นิกายเซนสอนว่า “การให้ความสนใจคือพื้นฐานที่สุดของความรัก”
ข้อหก เดินท่ามกลางสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ มนุษย์เกิดมาเพื่อเดิน มิใช่เพื่อนั่ง การเดินไม่ว่าอย่างจริงจังหรือเคลื่อนไหวใช้ชีวิตที่ไม่เนือยนิ่งคือการออกกำลังกายในแต่ละวันที่สำคัญ ยิ่งถ้าเดินในป่าในเขาท่ามกลางธรรมชาติจะช่วยลดความเครียดและทำให้สภาพอารมณ์ดีขึ้นดังนั้นข้อนี้จึงได้สองเด้ง
ข้อเจ็ด กระทำสิ่งที่เป็นความเมตตาแก่ผู้อื่นอย่างวางแผนหรือมิได้วางแผนก็ได้ ไม่ต้องใหญ่โตอะไรก็ได้ เช่น เปิดประตูให้คนที่เดินตามมา กดลิฟต์ให้คนอื่น เขียนโน้ตขอบคุณ ให้ทางแก่รถคันอื่น พูดจาสุภาพให้เกียรติคนอื่น ฯลฯ คนเราจะรู้สึกดีๆกับตนเอง เคารพตนเอง ก็ต่อเมื่อได้ทำสิ่งที่ดีเท่านั้น
ข้อแปด นึกถึงความโชคดีของตนเองและรู้สึกขอบคุณเสมอ ลองจิตนาการว่าสิ่งที่ตนเองมีอยู่ในปัจจุบันเช่นมีอาหารกินครบมื้อ มีสุขภาพดี มีอาชีพและรายได้ ฯลฯ และในวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้หายไปทั้งหมด ตนเองจะรู้สึกอย่างไร
พลังของความรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้ง เป็นสิ่งสำคัญที่พบจากงานวิจัยจำนวนมากว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้บุคคลหนึ่งเกิดความสุข ซึ่งต่างจากการไม่รู้จักความรู้สึกขอบคุณซึ่งทำให้เกิดความร้อนรุ่มเพราะหาความสุขไม่พบ
ข้อเก้า ยกโทษให้ตัวเองเมื่อได้ทำสิ่งผิดพลาด หรือได้ทำบางสิ่งน้อยเกินไป เตือนใจตนเองว่าความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และการดำรงชีวิต จงมีความกล้าหาญที่จะยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตนเอง แล้วจะมีความเครียดน้อยลง
ข้อสิบ ความสุขความภาคภูมิใจส่วนหนึ่งมาจากการมีความคิดริเริ่ม ซึ่งการจดไอเดียใหม่ลงสมุดบันทึก ถ่ายรูป เขียนรูป ฝึกฝนแก้ไขปัญหา ประดิษฐ์ของเล่น มีงานอดิเรก ฯลฯ จะสามารถช่วยได้ในการจุดประกายและสานต่อ
ทั้ง 10 ข้อแนะที่นำมาจากวิชานี้เน้นการปฏิบัติเป็นใหญ่ โดยไม่มีเรื่องของศาสนาหรือความเชื่อเข้ามาปะปน ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องการปฏิบัติล้วน ๆ ที่จะก่อให้เกิดความสุข (ไม่ให้คำจำกัดความของความสุขด้วย เพราะตัวเองจะเป็นคนกำหนดเองในที่สุด)
โดยทั้งหมดอยู่ในขอบเขตที่บุคคลหนึ่งสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องใช้เงินและใช้เวลามาก และนี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดวิชานี้จึงประสบความสำเร็จ
เมื่อ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ข้อแนะเหล่านี้จะช่วยทำให้ “สุขภาวะ” ซึ่งครอบคลุมทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายดีขึ้น เพราะเมื่อเราทำให้ “นาย” มีความสุขและเป็นตัวนำแล้ว “บ่าว” ก็ต้องตามมาในที่สุดครับ.