จังหวัดน่าน เมืองคนช่างอวด (สุขภาวะ) ดี

จังหวัดน่าน เมืองคนช่างอวด (สุขภาวะ) ดี

"น่าน" ในอดีตเคยถูกตีตราว่าเป็นเมืองคนขี้เหล้า แต่ปัจจุบัน "คนน่าน" ลุกมาปฏิวัติตนเอง จัดทำศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ถือเป็นหนึ่งในศูนย์ต้นแบบที่มีเพียง 18 แห่งในประเทศไทย

ใครจะคาดคิดว่าเป็นไปได้ กับเมืองที่ห่างไกลจากรุงเทพฯ กว่า 668 กิโลเมตร จะเป็นต้นแบบการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทย เอ่ยถึงความท้าทายด้านสุขภาพ คนน่าน มีปัญหาเรื่องนี้ไม่ต่างกับคนในจังหวัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการบริโภคที่ไม่ถูกสุขภาวะ โรคเกี่ยวกับ NCDs อุบัติเหตุ รวมถึงโรคจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างการเผชิญฝุ่น pm 2.5 ก็ไม่น้อยหน้า แต่พอถึงวันที่ "คนน่าน" อยากปฏิวัติตนเอง เพราะเป้าหมายสำคัญที่ตั้งไว้คือ การทำให้คนน่านมีค่าเฉลี่ยอายุยาวนานขึ้น และที่สำคัญต้องมีสุขภาวะที่ดีใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ใช่ผู้ป่วยติดเตียงหรือโรคอื่นๆ ดังนั้น ก้าวแรกของการสร้างแรงบันดาลใจต้องเกิดจากสร้างเสริมความเข้าใจด้านสุขภาวะ 

น่าน ใช้จุดแข็งหรือทุนที่มีจากสององค์กรคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และองค์กรพันธมิตรเครือข่ายที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ ได้เสริมศักยภาพให้แก่กันและกัน เพื่อตอบสนองให้เกิดการเรียนรู้สู่กลุ่มเป้าหมายคือ "ประชาชน" ในทุกช่วงวัยให้เกิดการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวว่า สมัยก่อน สุรา และ แอลกอฮอล์ ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญทำให้เกิดอุบัติเหตุ และความสูญเสีย ไปจนเสียชีวิตของคนน่านมาช้านาน น่าน เคยถูกตีตราว่าคนขี้เหล้า เกิดจากพฤติกรรมเดิม อีกปัญหาของน่านคือ ความปลอดภัยที่เกิดอุบัติเหตุที่มีปัจจัยทั้งสภาพแวดล้อมและการดื่มสุรา เราจึงพยายามทำให้คนยอมรับว่าสุราเป็นปัญหาและเรื่องความปลอดภัย จนวันนี้สังคมน่านยอมรับมากกว่าเดิม จากเมื่อก่อนเขาใช้เหล้าเป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ สังคม แต่วันนี้เรามีวัฒนธรรมใหม่คือเลิกดื่ม แต่ใช้กีฬามาแทนที่ สามารถสร้างวัฒนธรรมพื้นฐานให้เลิกดื่มได้ ด้วยการใช้พลังเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้ามาเป็นแรงขับเคลื่อน

ต้นตำรับนวัตกรรมโรงเรียนอ่อนหวาน

"เราทำมาหลายรุ่นแล้วตั้งแต่ปี 2553-2554 ได้งบประมาณมาหนึ่งแสนบาท ครั้งแรกๆ ต่อมาก็ทำต่อ เริ่มทำในโรงเรียนก่อนจะต่อยอดมาชุมชน จนหลายภาคส่วนในพื้นที่เห็นรูปธรรม ผลักดันเป็นนโยบายระดับจังหวัด ยิ่งทำให้มีผู้ชำนาญต่างๆ เข้ามาช่วยและได้รับสนับสนุนจาก สสส. แม้จะได้งบประมาณมาไม่มาก อาจแค่หลักหมื่น หลักพัน แต่ไม่ว่าได้น้อยหรือมาก เราก็ทำต่อไปเรื่อยๆ"

จังหวัดน่าน เมืองคนช่างอวด (สุขภาวะ) ดี

โสภิดา เย็นทรวง ครูชำนาญการพิเศษหัวหน้าวิชาการ โรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล) เผยเส้นทางการขับเคลื่อนโรงเรียนอ่อนหวาน พร้อมเล่าถึงที่มาของการปลูกฝังให้เด็กน่านเซย์โนโซเดียม-น้ำตาล ที่สามารถบูรณาการงานสุขภาพเยาวชนในพื้นที่ และยกระดับสู่นวัตกรรมสุขภาวะ จนต่อยอดเป็นงานขับเคลื่อนสุขภาวะระดับจังหวัดว่าโรงเรียนฯ เป็นหนึ่งในเครือข่ายเด็กไทยแก้มใส ด้วยความอยากให้เด็กและผู้ปกครองตระหนักของการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมและน้ำตาลสูง จึงเริ่มคิดพัฒนาจัดทำคู่มือสื่อวิเคราะห์ สื่อนวัตกรรมลดอ้วนหวานมันเค็ม โดยมีโรงพยาบาลน่านเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงทำสื่อและให้ความรู้ด้านสุขภาพ 

จังหวัดน่าน เมืองคนช่างอวด (สุขภาวะ) ดี

โสภิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า คนที่นี่ส่วนใหญ่ เดิมจะกินอาหารรสจัด กะปิน้ำปลาสูง เราก็จะทำสื่อบอกปริมาณความเค็มให้เด็กๆ นำไปให้พ่อแม่ดู ต่อยอดให้เด็กกินกับข้าวเมืองกับพ่อแม่ โดยจะมีการวิเคราะห์แต่ละเมนูที่บริโภคนั้นมีโซเดียมสูงมากระดับใด โดยจะแบ่งเป็นระดับเขียว เหลือง แดง เพื่อฝึกนิสัยเริ่มไม่กินหวาน หันมากินผัก

"แต่ยอมรับว่ามีช่วงโควิด-19 เด็กหลายคนเรียนออนไลน์อยู่บ้านมีน้ำหนักขึ้นเยอะ ซึ่งตามมาตรฐานเด็กไทยต้องมีเด็กที่มีน้ำหนักเกินในโรงเรียนไม่เกิน 14% แต่เราสามารถทำให้ลดลงได้ที่ 7% เดิมในโรงเรียนมีเด็กประมาณ 200 คน จะมีเด็กอ้วน 20 คน หรือประมาณ 10% ส่วนใหญ่เด็กผู้ชาย เราจัดตั้งโครงการลูกดรุณฯ หุ่นสมาร์ท ให้กลุ่มที่มีน้ำหนักเกินมาเข้าคอร์สออกกำลังกาย ยกเครื่องออกกำลังกายไปให้ที่บ้านเลยก็มี ให้ส่งคลิปเต้นมาแข่งขันกัน เพราะรู้ว่าเด็กจะมีไอดอลของตนเอง พร้อมร่วมมือผู้ปกครองควบคุมอาหาร โรงเรียนยังเสริมเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักผลิตอาหารเองที่โรงเรียนและบ้าน" โสภิดา กล่าว

ปั้นนักปรุงสุขภาพรุ่นใหม่

หัวใจความสำเร็จโครงการนี้ "โสภิดา" กล่าวว่า คือความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งครู ผู้ปกครองหรือแม้แต่ผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่เคยทิ้งนโยบายส่งเสริมความต่อเนื่อง รวมไปถึงการมีเครือข่ายที่ดี เช่น เทศบาลท้องที่ท้องถิ่นให้การสนับสนุน มีการจัดจ้างนักโภชนาการประจำเทศบาล รวมถึงทางเทศบาลเห็นความสำคัญและจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันเพิ่มจาก 22 บาท ให้เป็น 25 บาท 

โดยโครงการต่อยอดสู่โครงการเด็กน่านไม่อ้วนมีการพัฒนาแกนนำรุ่นเยาว์ นั่นคือ "อย.น้อย" ที่จะอาสาลงพื้นที่ไปกับกองสาธารณสุขเทศบาลเมืองน่าน ช่วยสอนความรู้เด็กๆ ตรวจเช็กร้านอาหารหน้าโรงเรียนที่ไม่ใส่ผงชูรส ที่ได้ร่วมมือกับทางโรงเรียน และยังสั่งผลผลิตผักเกษตรอินทรีย์ของโรงเรียนไปด้วย ซึ่งการดำเนินการด้วยนวัตกรรมที่หลากหลายนี้ ยังทำให้โรงเรียนฯ ได้รับรางวัล อาทิ โรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพ ปี 2565-2568 จากกระทรวงสาธารณสุข ชนะเลิศ "สุดยอดโรงเรียนสุขภาพดี" ระดับประถมศึกษาปี 2566 จากบริษัท เอไอเอ ประเทศไทย จำกัด ได้เป็นตัวแทนคนไทย เข้าแข่งขันในระดับเอเชียแปซิฟิก ที่มาเลเซีย

สุขภาพคนน่านเกิดจากการสานพลัง

นพ.วสันต์ แก้ววี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน กล่าวว่า ทุกอย่างเริ่มจากการสานพลังของคนในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะของน่าน เรามองว่าเป็นการสานพลังของการนำจุดแข็งแต่ละฝ่ายทั้งสสส. โรงพยาบาลน่าน และชุมชน อีกจุดเด่นสำคัญที่สสส. สนับสนุนคืออุปกรณ์เป็นสื่อเข้าใจง่าย เรานำสื่อที่สสส. พัฒนาแล้วนำไปให้ความรู้กับประชาชน

นพ.วสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการนำสื่อต่างๆ ที่ สสส. พัฒนาแล้วไปให้ความรู้กับประชาชน โดยที่โรงพยาบาลน่านมีทีมสุขศึกษานำสื่อเหล่านี้ถ่ายทอดไปยัง คนไข้ ญาติคนไข้ และอสม. โดยเฉพาะอสม. มีบทบาทมาก องค์ความรู้เรายังถ่ายทอดไปสู่พื้นที่ต่างๆ ไม่เฉพาะในโรงพยาบาล แต่รวมถึงผู้นำชุมชน โรงเรียน และวัด มุ่งเน้นนำองค์ความรู้มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเขายังนำไปสร้างนวัตกรรม สร้างงานที่เห็นผลจริงประสบความสำเร็จ เช่น อสม. ชำนาญการด้านเบาหวาน ที่เป็นงานหลักของเรา ทำให้ควบคุมโรคได้ดี

ระพีพันธุ์ สริวัฒน์ ที่ปรึกษากรรมการกองทุน สสส. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. กล่าวว่า การดำเนินงาน "ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค" ระหว่างสสส. กับโรงพยาบาลน่านคือการทำงานแบบหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ในส่วนที่เป็นทุนและศักยภาพที่แต่ละหน่วยงานมี เช่น สสส. สนับสนุนเครื่องมือ ชุดความรู้สุขภาวะ แนวทางการสร้างการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ และการพัฒนาทักษะบุคลากร ในขณะที่พันธมิตรเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ สนับสนุนด้านบุคลากร งบประมาณ สถานที่ การบริหารจัดการ และบรรจุงานสุขภาวะเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของแผนดำเนินงานอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการลงทุนร่วม โดยที่สสส. ไม่ได้สนับสนุนทุนให้กับหน่วยงาน และเป็นการทำงานที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน

สสส. เริ่มพัฒนา "ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค" มาตั้งแต่ปี 2558 ถือเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้และส่งเสริมแนวทางการใช้ชีวิตที่มีสุขภาวะให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ จากการดำเนินงานมากกว่า 8 ปี ปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาคทั้งสิ้น 18 แห่ง ครอบคลุม 13 เขต บริการสุขภาพ ที่ร่วมขยายผลองค์ความรู้สุขภาวะผ่านกลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงาน/เครือข่ายในระดับพื้นที่ และมีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 7,000,000 คน และเกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือนักสร้างเสริมการเรียนรู้ด้านสุขภาวะกว่า 3,000 คน

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค

สำหรับน่าน สสส. ร่วมมือกับโรงพยาบาลน่าน พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาคตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งโรงพยาบาลน่านถือเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในด้านบุคลากรที่มีความรู้ด้านสุขภาพ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่ยังขาดนวัตกรรมชุดความรู้ เครื่องมือการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพให้กับประชาชน สสส. จึงได้สนับสนุนนวัตกรรมเครื่องมือสร้างการเรียนรู้สุขภาวะในประเด็นต่างๆ ทั้งในรูปแบบนิทรรศการ นิทรรศการเคลื่อนที่ (กระเป๋าสื่อการเรียนรู้) พัฒนาทักษะบุคลากรในการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสุขภาวะที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่

โดย สสส. เตรียมยกระดับให้ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะฯ โรงพยาบาลน่านเป็นต้นแบบ "โรงพยาบาลอ่อนหวาน" มุ่งให้ความรู้และการจัดการ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะประเด็นโรคเบาหวานและอาหารเพื่อสุขภาพ ให้สำเร็จภายในปี 2567 โดยมุ่งสร้างความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงพัฒนาศักยภาพอสม. หมอคนที่ 1 เขตเทศบาลเมืองน่าน และเขตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบุปผารามร่วม 100 คน ให้สามารถเป็นวิทยากรระดับตำบลได้กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงขยายผลองค์ความรู้สุขภาวะ สร้างความรอบรู้สุขภาพอย่างยั่งยืน

จังหวัดน่าน เมืองคนช่างอวด (สุขภาวะ) ดี

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ กล่าวว่า จากพันธกิจจุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลังบุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถ และสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี วันนี้สสส. จึงพยายามผลักดันการทำงานขับเคลื่อนงานปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพทุกระดับ ซึ่งเรามองว่าการทำงานที่ผ่านมาจากเริ่มต้นสู่การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ แต่หลังจากการทำงานตรงนี้ สสส. จะทำงานกับภาคีเครือข่ายขยายผลในพื้นที่โรงพยาบาลจังหวัดอื่น รวมถึงระดับชุมชน ซึ่งหลักสำคัญต้องมีนักสื่อสารสุขภาวะ น่าจะมีงานสุขศึกษาพัฒนาต้นแบบและทักษะการสื่อสารสุขภาพมายาวนาน ที่อื่นก็มีแต่อาจยังขาดอาวุธ

นพ.พงศ์เทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สื่อที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงประชาชนถือเป็นอีกอาวุธสำคัญที่จะทำให้งานขับเคลื่อนสุขภาวะเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ การสื่อสารรูปแบบเก่าๆ ชาวบ้านอาจเข้าใจได้ยาก การมีนวัตกรรมจะทำให้เข้าใจเรียนรู้ยาวนานขึ้น นำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น จึงเป็นบทบาท สสส. พัฒนาสื่อสุขภาพที่ให้อาวุธ อาทิ สื่อนวัตกรรมต่างๆ ตลอดจนการสร้างทักษะขีดความสามารถของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการสร้าเสริมความเข้าใจสุขภาวะแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจและทัศนคติในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาวะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)

หากถอดบทเรียนความสำเร็จพื้นที่สุขภาวะน่านจะพบว่า สิ่งที่เป็นใบเบิกทางสำคัญ และส่งผลต่อทิศทางการขับเคลื่อนงานในทุกระดับ ต้องเริ่มจากนโยบายของผู้บริหารที่เปิดกว้างต่อการการทำงานแบบบูรณาการเห็นประโยชน์ร่วมของการสร้างความร่วมมือในทุกระดับของการทำงาน