‘น้องแมวจร’ ผู้ช่วยสำคัญ บำบัดใจผู้ต้องขัง
การเลี้ยงสัตว์มีประโยชน์มากกว่าที่คิด เมื่อ “เรือนจำ” ในสหรัฐ มีโครงการให้ผู้ต้องขังเลี้ยง “แมว” เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความรับผิดชอบแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูจิตใจและพฤติกรรมอีกด้วย ในขณะเดียวกันแมวเองก็ได้รับความรักความอบอุ่น
Key Points:
- หลายคนอาจจะพอทราบกันอยู่แล้วว่าการเลี้ยงสัตว์ถือเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่ง ดังนั้นเรือนจำบางแห่งในสหรัฐจึงเกิดไอเดียให้ “ผู้ต้องขัง” เข้าโครงการเลี้ยงแมว
- “การเลี้ยงแมวในเรือนจำ” ไม่ได้เพียงแค่ช่วยให้ผู้ต้องขังมีความรับผิดชอบและมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ “แมวจร” ได้รับความรักความอบอุ่นจากผู้ดูแลด้วยเช่นกัน
- อีกปัจจัยสำคัญของโครงการเลี้ยงแมวในเรือนจำก็คือ การทำให้ผู้ต้องขังมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ดีขึ้น ทำให้เมื่อพ้นโทษออกไปแล้วสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมไปตามปกติ และยังลดการก่ออาชญากรรมซ้ำได้อีกด้วย
เพราะว่า “แมว” ไม่เคยตัดสินมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา ทรงผม รอยสัก หรือแม้แต่ “คดีอาชญากรรม” ที่ติดตัวคนเหล่านั้นอยู่ ดังนั้น “น้องแมว” จึงกลายมาเป็นผู้ช่วยสำคัญในการบำบัดสภาพจิตใจและลดการก่ออาชญากรรมซ้ำของ “ผู้ต้องขัง” ใน “เรือนจำ” ได้ ขณะเดียวกันผู้คนเหล่านั้นก็มีส่วนช่วยให้แมวจรที่อยู่ระหว่างหาบ้านหรือแมวที่ถูกทิ้ง เข้ากับคนได้ง่ายขึ้นและทำให้พวกมันรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เมื่ออยู่กับมนุษย์โดยการใช้เวลาร่วมกันในแต่ละวัน
“เรือนจำ” จำนวนไม่น้อยจึงเลือกที่จะใช้ “แมวจร” มาช่วยฟื้นฟูความรู้สึก ความรับผิดชอบ และพฤติกรรมของผู้ต้องขัง ส่วนแมวเองก็จะได้รับความรักและความสุขไปด้วย (ที่สำคัญพวกมันจะได้มีเพื่อนเล่น)
- 7 วันต่อสัปดาห์ กับภารกิจดูแล “น้องแมว”
ในเรือนจำ Pendleton ของสหรัฐ มีแมวมากกว่า 20 ตัวอาศัยอยู่ เนื่องจากพวกมันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ FORWARD ซึ่งเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพแมวและผู้ต้องขังไปพร้อมกัน
“ผู้ต้องขังได้ประโยชน์เยอะมากจริงๆ เพราะเมื่อมีความผูกพันกัน ไม่ใช่แค่พวกมันไม่ตัดสินพวกเขา แต่มันพึ่งพาพวกเขาด้วยเช่นกัน” มิเชล เรนส์ (Michelle Rains) ผู้ช่วยฝ่ายบริหารของเรือนจำกล่าว
โครงการนี้เริ่มในช่วงปี 2015 มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องขังดูแลแมวที่ถูกทอดทิ้งหรือถูกทำร้ายมา เพื่อให้พวกมันได้เตรียมความพร้อมก่อนจะได้รับการอุปการะไปโดยครอบครัวใหม่ ซึ่งผู้ต้องขังจะได้เงินเป็นค่าจ้างในการดูแลแมวชั่วโมงละ 20 เซนต์ (ข้อมูลค่าจ้างปี 2020) โดยจะได้ใช้เวลาอยู่กับแมววันละ 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วันต่อสัปดาห์
จากความร่วมมือของ Animal Protection League of Indiana โปรแกรมที่พา “แมว” ออกมาจากสถานสงเคราะห์ทั่วไปและนำมาอยู่ในเขตรักษาพันธุ์แมวของเรือนจำ ที่เป็นห้องกว้างเพื่อให้แมวได้วิ่งเล่นและไม่รู้สึกว่าถูกกักขัง ไม่ใช่แค่นั้นยังมีของเล่นของแมวหลายชนิด เช่น เสาสำหรับขูดเล็บ คอนโดแมวสำหรับปีนเล่น หรือบ้านแมวไว้สำหรับนอนซุกตัวเพิ่มความอบอุ่น แต่สิ่งสำคัญในการเพิ่มความสุขให้เจ้านายทั้งหลายก็คือทาสแมวที่ต้องมาคอยดูแลและอยู่เป็นเพื่อนเจ้าตัวเล็กสี่ขาเหล่านี้ โดย “ผู้ต้องขัง” ที่มีความประพฤติดีจะมารับหน้าที่นี้เอง
หน้าที่หลักๆ ของผู้ต้องขังที่ต้องดูแล “น้องแมว” ก็เหมือนหน้าที่หลักของทาสแมวทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น อาบน้ำ เช็ดตัว เช็ดหู ตัดเล็บ แปรงขน เปลี่ยนกระบะทราย ให้น้ำ อาหาร และขนม ไปจนถึงเล่นกับน้องแมว การใช้เวลาร่วมกันนั้นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ก็ไม่ใช่แค่แมวอย่างเดียว แต่ผู้ต้องขังเองก็ได้รับผลตอบแทนจากหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้เช่นกัน
- แมวจร บำบัดใจ เสริมสร้างวินัยให้ผู้ต้องขัง
แน่นอนว่า “การเลี้ยงสัตว์” ไม่ว่าประเภทไหน ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องมี “ความรับผิดชอบ” เป็นอย่างสูง เพราะสัตว์ก็ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิต มีจิตใจไม่ต่างจากคน จะเรียกว่าเป็น “หน้าที่” ก็ว่าได้
ดังนั้นเมื่อ “ผู้ต้องขัง” มีภารกิจต้องดูแล “น้องแมว” ก็เหมือนกับได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบหน้าที่ดังกล่าวไปในตัว
“มีหลักฐานจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ มีผลอย่างมากต่อความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นของผู้ต้องขัง” โมนิกา โซลินาส-ซอนเดอร์ส (Monica Solinas-Saunders) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอินเดียนากล่าว
นอกจากนี้งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการเลี้ยงแมวในเรือนจำทำให้เห็นถึงการปรับปรุงความประพฤติของผู้ต้องขังแต่ละคนที่จะส่งผลให้อัตราการกระทำผิดซ้ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงช่วยเพิ่มทักษะทางอารมณ์และบุคลิกภาพส่วนตัวอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เมื่อพวกเขาจะได้ออกไปใช้ชีวิตภายนอกเรือนจำอีกครั้ง
“มันช่วยเพิ่มความนับถือตนเองและได้มองเห็นความสามารถที่แท้จริงตนเอง นอกจากนี้ยังเพิ่มความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมจริงๆ โดยเฉพาะการเข้าใจความเจ็บปวดของกันและกัน” โมนิกา กล่าวเสริมถึงข้อดีที่ผู้ต้องขังได้รับจากการเลี้ยงแมว
ไม่ใช่แค่นั้นแต่การเลี้ยงสัตว์ในเรือนจำยังช่วยให้ความสัมพันธ์ในเรือนจำดีขึ้นอีกด้วย ทั้งในส่วนของผู้ต้องขังด้วยกันเอง หรือผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นอย่างมาก
ด้านผู้อำนวยการบริหารของ Animal Protection League ที่เป็นหน่วยงานพัฒนาโครงการ มาลีอาห์ สตริงเกอร์ (Maleah Stringer) ระบุว่าปัญหาสำคัญเกี่ยวกับสัตว์เร่ร่อนในสหรัฐก็คือประชาชนยังไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงข้อมูลที่แท้จริงว่าปัญหาสำคัญและความยากลำบากของสถานสงเคราะห์สัตว์คืออะไร
“ที่สถานสงเคราะห์มีสัตว์อยู่มากมาย การนำไปเลี้ยงในเรือนจำเป็นเพียงช่องทางหนึ่งในการดูแลพวกมันและป้องกันไม่ให้ถูกการุณยฆาตเท่านั้น นอกจากนี้สถานสงเคราะห์ส่วนใหญ่ก็มีเจ้าหน้าที่และเงินทุนไม่เพียงพอ” มาลีอาห์ ระบุ
แม้ว่าในช่วงแรกมาลีอาห์จะไม่เห็นด้วยกับการเลี้ยงสัตว์ในเรือนจำ เพราะมองว่าผู้ต้องขังอาจจะเลี้ยงสัตว์ได้ไม่ดีพอ แต่เมื่อถึงเวลานำผู้ต้องขังที่เป็นอาสาสมัคร 20 คน มาทดลองเลี้ยงแมวก็ทำให้เห็นว่าพวกเขามีความใส่ใจและตั้งใจเลี้ยงเจ้าเหมียวเหล่านั้นเป็นอย่างมาก และเมื่อเวลาผ่านไปความสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น มาลีอาห์จึงได้เห็นว่าการที่พวกเขาได้มีเวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงก็ช่วยทำให้พวกเขามีสุขภาพจิตและความรับผิดชอบที่ดีขึ้น
ผู้ต้องขังคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เลี้ยงแมวเล่าว่า หลังจากที่ถูกตัดสินจำคุกฐานสมรู้ร่วมคิดในการปล้นทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในห้องขัง แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการในปี 2017 เขาก็ต้องตกหลุมรักลูกแมวตัวหนึ่ง ซึ่งกิจวัตรในแต่ละวันของเขาส่วนใหญ่ก็หมดไปกับการเลี้ยงลูกแมวตัวนี้ โดยเขาต้องตื่นตั้งแต่เช้าเพื่อไปรายงานตัวที่ศูนย์อนุรักษ์แมว และเริ่มต้นดูแลมันไปจนหมดวัน ซึ่งเขาเองก็สังเกตเห็นว่าลูกแมวตัวนี้ก็รอให้เขาเปิดประตูเข้าไปหาเหมือนกัน และเมื่อพ้นโทษออกมาเขาและภรรยาก็ตัดสินใจรับลูกแมวตัวนี้กลับไปเลี้ยงต่อที่บ้านด้วย
ในปัจจุบันมี “เรือนจำ” หลายแห่งในสหรัฐที่มีโครงการให้ผู้ต้องขังเลี้ยงแมว ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้แมวจรจัดเหล่านั้นมีคนดูแล แต่เป้าหมายสำคัญในท้ายที่สุดก็คือ เมื่อผู้กระทำผิดพ้นโทษจากเรือนจำและกลับไปสู่สังคม พวกเขาจะเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าตอนที่เข้าไป เพราะการดูแลสัตว์นั้นช่วยปรับปรุงทัศนคติของมนุษย์ได้มากพอสมควร และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยไม่ให้ผู้คนเหล่านี้กระทำผิดซ้ำอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล : IndyStar