เสนอ'ชุดไทยพระราชนิยม' ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
'เสริมศักดิ์'ขานรับ นายกเศรษฐา เตรียมเสนอ 'ชุดไทยพระราชนิยม' ให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบก่อนส่งข้อมูลให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า เนื่องในปีมหามงคล ครบ ๖ รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้ทรงดีไซน์ลายผ้าวชิรภักดิ์ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายหัวใจ เป็นเสื้อผ้าให้ทางรัฐบาลช่วยกันนำไปโปรโมท และจะมีการตัดเสื้อผ้าใส่ นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้เร่งรัด กระทรวงวัฒนธรรม ทำเรื่องของ ชุดไทยพระราชนิยม เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อ UNESCO อีกด้วย
นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลชุดไทยฯ ที่เตรียมนำเสนอต่อยูเนสโก มีความพร้อมแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบก่อน และทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบงานมรดกภูมิปัญญาของชาติ จะดำเนินการส่งข้อมูลตามเอกสารที่ ยูเนสโก กำหนด ให้ทันภายในเดือนมีนาคม 2567 นี้ หลังจากนั้น ยูเนสโก จะนำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาฯ ที่ประเทศต่าง ๆ ที่นำเสนอ เข้าสู่วาระการพิจารณาตามลำดับต่อไป ซึ่งในขณะนี้ ในส่วนของประเทศไทย ในปลายปี 2567 จะมีรายการ ต้มยำกุ้ง กับ
เคบายา จะเข้ารับการพิจารณา และในลำดับถัดไปจะเป็นรายการ ชุดไทยพระราชนิยม มวยไทย และ ประเพณีลอยกระทง ตามลำดับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วธ. ดันเป้ามูลค่า “ซอฟต์พาวเวอร์” โตเท่าตัว สู่ 15% ของจีดีพีไทยในอีก 5 ปี
พลัง อว.'สืบสาน-รักษา-ต่อยอด' ภูมิปัญญาสู่ผลิตภัณฑ์ Soft Power ไทยไปทั่วโลก
เสนอ 'ชุดไทยพระราชนิยม' เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ประกาศขึ้นบัญชี ชุดไทยพระราชนิยม เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ระดับชาติ) เมื่อพุทธศักราช 2566 ในราชกิจจานุเบกษา แล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 โดยชุดไทยพระราชนิยม เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในลักษณะแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล มีสาระสำคัญแสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับงานช่างฝีมือ และการพิจารณานำชุดไทยไปใช้สวมใส่ตามโอกาส
ถือเป็นแนวปฏิบัติการแต่งกายของสตรีไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และได้จัดทำข้อมูลรองรับการเตรียมเสนอต่อยูเนสโกภายใต้ชื่อ ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ในครั้งต่อไป
4 คุณค่าชุดไทยในฐานะมรดกภูมิปัญญาทาง
ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ให้ข้อมูลถึงความสำคัญของ ชุดไทย ว่า เป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยมีปรากฏหลักฐานรูปแบบการนุ่งและการห่ม มากว่า 1,400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์
ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และสืบทอด ในปีพุทธศักราช 2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ เพื่อให้ประชาชนใช้ในโอกาสต่าง ๆ ปัจจุบัน คนไทยนิยมสวมใส่ชุดไทย ทั้ง 8 แบบ ในวิถีชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา งานพิธีการสำคัญในชีวิต
นายโกวิท ยังได้เผยถึง คุณค่าของชุดไทย ว่า การสวมใส่ชุดไทยของคนไทยแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการการนุ่งห่มของคนไทยในยุคสมัยต่าง ๆ และมีคุณค่าที่ควรตระหนักถึงความสำคัญในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ดังนี้
1. ในด้านงานช่างฝีมือ แสดงให้เห็นถึงฝีมือช่าง และหัตถศิลป์การทอผ้า การสร้างสรรค์ลวดลาย
การออกแบบและตัดเย็บ รวมถึงการปักประดับด้วยเทคนิคต่าง ๆ อันวิจิตรบรรจง ส่งต่อให้ผู้สวมใส่เกิดความภาคภูมิใจ
2. ในด้านแนวปฏิบัติทางสังคม และความรู้ความเข้าใจในการนำ ชุดไทย ไปสวมใส่ให้เหมาะสมกับโอกาส แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทย เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม
ที่สืบทอดกันมาช้านาน บ่งบอกถึงความผูกพันของครอบครัว ชุมชนและสังคม การสวมใส่ชุดไทยช่วยเสริมบุคลิกภาพของสตรีไทยให้ดูสง่างามในความเป็นไทย ใช้ในโอกาสที่เหมาะสมทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
3. ส่งเสริมกระบวนการทางความคิด มีการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งการให้ความเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และย้ำเตือนให้ผู้คนในปัจจุบัน ได้ตระหนักถึงรากเหง้าวัฒนธรรมคุณค่าฝีมือช่างคนไทยที่สืบทอดวิชาการออกแบบตัดเย็บสิ่งทอ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจสู่การเรียนรู้สร้างสรรค์แฟชั่นของคนรุ่นใหม่ โดยนำผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น มาออกแบบตัดเย็บเป็นชุดไทยทั้งแบบอนุรักษ์และสร้างสรรค์
4. ในด้านเศรษฐกิจ การสวมใส่ชุดไทยของผู้คนมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนให้หมุนเวียนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ชุดไทย สามารถสวมใส่และศึกษาเรียนรู้ได้ในคนทุกกลุ่ม ทั้งในครอบครัว ชุมชน การศึกษาในระบบ นอกระบบ รวมถึงการศึกษาตามอัธยาศัย และอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ เป็นซอฟท์พาวเวอร์ ที่สร้างงาน สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ