15 มีนาคม 'สิทธิผู้บริโภคสากล'เมื่อ AI อาจแปลงเป็นมิจ เสนอแก้กฎหมายคุ้มครอง

15 มีนาคม 'สิทธิผู้บริโภคสากล'เมื่อ AI อาจแปลงเป็นมิจ เสนอแก้กฎหมายคุ้มครอง

วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2502 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก

KEY

POINTS

  • 15 มีนาคม วันสิทธิผู้บริโภคสากล รณรงค์สร้างความตระหนักให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน มีความรับผิดชอบ และได้รับความเป็นธรรมในด้าน AI
  • เสนอแก้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มสิทธิคุ้มครองผู้บริโภคไทยให้เทียบเท่าสากล ครบทั้ง 8 ด้าน
  • กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทย ขาดการนำหลักการการบริโภคอย่างยั่งยืนและการผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  

วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2502 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ ‘Consumer Right Day’ โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่มีสมาชิกกว่า 200 องค์กร จาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ซึ่งขณะนั้นได้มีการบัญญัติสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานในเริ่มต้น ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร, สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย, สิทธิที่จะเลือกบริโภค และสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา

วันสิทธิผู้บริโภคสากล ปี 2567 สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ร่วมรณรงค์เรื่อง "เอไอ (AI) ที่มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมกับผู้บริโภค" ร่วมกันกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก ที่รวมตัวกันในนาม สหพันธ์องค์กรของผู้บริโภคสากล (Consumers International)ได้กำหนดธีมที่องค์กรผู้บริโภคทั่วโลกจะขับเคลื่อนร่วมกันในหัวข้อ 'AI ที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค' 

การรณรงค์เรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ปีนี้มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ถึงผลกระทบของผู้บริโภคที่เกิดจากแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยี AI ในปัจจุบันต่างพบว่า AI อาจมีการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ถูกต้อง ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ขยายความอคติและเลือกปฏิบัติ และอาจกลายเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีในการสร้างความสับสน ความขัดแย้ง หรือนำเอไอไปสร้างข้อมูลปลอมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็ก 3 อันดับ เรื่องที่ผู้บริโภคร้องทุกข์มากสุดในปี 2566

'สิทธิผู้บริโภค' ก้าวต่อไปของ 'สภาองค์กรผู้บริโภค'

ดันสิทธิผู้บริโภคไทย ครบ 8 ด้านเท่าสากล

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าวันที่ 15 มีนาคม วันสิทธิผู้บริโภคสากลปีนี้ จะเป็นการรณรงค์สร้างความตระหนักและความสำคัญของสิทธิผู้บริโภคด้าน AI หรือปัญญาประดิษฐ์ คือจะทำยังไงให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน มีความรับผิดชอบ และได้รับความเป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อสร้างความรับรู้ผลกระทบอันเกิดจากแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในประเทศไทยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการออกระเบียบมาปกป้องคุ้มครองเยาวชนไทย หรือผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องของ AI ฉะนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค จะผลักดันเรื่องนี้ เพราะเราเป็นเพื่อนของผู้บริโภคที่สามารถปรึกษา และเป็นองค์กรอิสระที่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้

“อยากเชิญชวนผู้บริโภคที่มีประเด็นผลกระทบจาก AI เสนอมายังสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง และเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2522 มีการคุ้มครองผู้บริโภคเพียง 5 ด้าน  วันนี้และวันที่ 15 มีนาคม จะมีการเสนอกฎหมายที่ภาครัฐควรมีการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครบทั้ง 8 ด้าน ตามสิทธิผู้บริโภคสากล ฉะนั้น ปีนี้ตั้งเป้าจะแก้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้ครบ 8 ด้าน เท่ากับผู้บริโภคสากลทั่วโลก” บุญยืน กล่าว

หน่วยงานรัฐเอาเปรียบผู้บริโภคมากที่สุด

สภาองค์กรของผู้บริโภค” เป็นเพียงเพื่อนของผู้บริโภคไม่พอ ต้องเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคร่วมด้วย และการมีสมาชิกมากชึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมี 314 สมาชิก เพื่อมีหน่วยงานที่ไปอยู่ใกล้ๆ เขาผู้บริโภค ให้สามารถเข้าถึงบริการของ สภาองค์กรผู้บริโภคได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ได้มีการจัดตั้งสายด่วน 1502 ร่วมด้วย เราพยายามที่จะอำนวยความสะดวกทุกด้านกับผู้บริโภค เพราะทุกข์ของคุณก็คือทุกข์ของเรา ฉะนั้นจะทำยังไงให้ไม่เกิดการเอาเปรียบ

“ตั้งแต่ทำงานมา 30 กว่าปี ส่วนใหญ่มักจะบอกว่าภาคเอกชนเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีใครเอาเปรียบผู้บริโภคได้ถ้าหน่วยงานรัฐไม่เอื้อ หรือออกระเบียบ หน่วยงานที่เอาเปรียบผู้บริโภคมากที่สุด ก็คือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเราอาจจะต้องพูดคุยกันแล้วก็แก้ปมปัญหานี้ไปด้วยกัน”บุญยืน กล่าว

อย่างไรก็ตาม การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการสร้างวัฒนธรรมผู้บริโภคเพื่อให้มีความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย  เกิดการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้เป็นผู้บริโภคที่มีสิทธิและการบริโภคของผู้บริโภคทุกระดับโดยให้เกิดความยั่งยืน

การคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้อย่างไร?"

ธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  กล่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีการทำงานร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน เกิดจากกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาครัฐ และภาคประชาชน  สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคในหน่วยงานภาครัฐนั้น มีหน้าที่ขับเคลื่อนการรับเรื่อง การคุ้มครองเรื่องร้องเรียน  ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ และมีการส่งเสริมภาคประชาชน ภาคเครือข่ายผ่านการทำงานร่วมกัน

“ทุกคนล้วนเป็นผู้บริโภคตั้งแต่เกิดไปจนถึงเสียชีวิต โดยกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทย มีการกำหนดเรื่องสิทธิผู้บริโภคไว้ 5 ด้าน ได้แก่ 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ (The right to information) อย่างเพียงพอ 2. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ (The right to choose) 3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ (The right to safety) 4.สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (The right to be heard) และ5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย (The right to redress) ซึ่งอยากให้ทุกคนรับทราบและรักษาสิทธิของตนเอง เพราะหากเรารับทราบและรักษาสิทธิโอกาสที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกหลอกลวงน้อยลง” ธสรณ์อัฑฒ์ กล่าว

ธสรณ์อัฑฒ์  กล่าวต่อว่าปัจจุบันรูปแบบการซื้อขายสินค้าและบริการเปลี่ยนไปจากเดิม ทุกอย่างเป็นดิจิตอลมาร์เก็ตติ่งมากขึ้น เป็นการค้าขายผ่านออนไลน์ ทุกคนต้องเรียนรู้สิทธิผู้บริโภค 5 ด้าน และต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปอ้างอิง เพราะที่ผ่านมามีการร้องเรียนแต่มักจะไม่มีข้อมูลเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบ เวลาเลือกซื้อสินค้าและบริการ ทุกคนต้องมีหลักคิดว่า สินค้าดีและถูกอาจจะไม่ได้มีในโลก เพื่อให้ทุกคนได้ตรวจสอบไปยังผู้ประกอบการ เช่น มีการจดทะเบียนบริษัทหรือไม่ มีอย.หรือไม่ และต้องดูรีวิว เพื่อเช็กข้อมูลให้ละเอียด เป็นต้น เป็นสิทธิของทุกคนก่อนจะซื้อ หากถูกละเมิดสิทธิ เราพร้อมจะดูแล พิทักษ์สิทธิ และคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน 1166

กม.ผู้บริโภคไทยขาดรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นลำดับที่ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น และมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่า 20 ฉบับ แต่ประเทศไทยยังคงปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคเหมือนเดิม และมีเรื่องร้องเรียนเป็น10,000 เรื่อง ทำให้ต้องกลับมาทบทวนแล้วว่าเมื่อไทยมีกฎหมายจำนวนมากนั้น มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือยัง  

จากการศึกษากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทย  หลักการของสิทธิผู้บริโภคสากล หลักการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และกฎหมายในต่างประเทศ พบว่าสิ่งที่พบเห็นน้อยมากในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทย คือ การนำหลักการการบริโภคอย่างยั่งยืนและการผลิตที่รับผิดชอบ โดยไม่มีการเชื่อมโยงกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งที่สิ่งนี้เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในหลักการผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  และทำให้ผู้ผลิตผลิตสินค้ามีความคงทน เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตซ้ำ หรือผลิตมากเกินไป  รวมถึงต้องเปิดเสรีในการซ่อมแซมสินค้า  

“การพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทย ควรมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งด้านการให้ข้อมูล การเข้าถึงสินค้าบริการ สัญญาการกระทำทางการค้า กลุ่มเปราะบาง การเงินการธนาคาร ความเป็นส่วนตัว การศึกษา E-Commerce  ความปลอดภัย ระงับข้อพิพาท และการรวมกลุ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น” ผศ.ดร.เอมผกา กล่าว

ความท้าทายในยุคAI ต่อคุณภาพชีวิตประชาชน

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 -13 มีนาคม 2567 ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งมีสมาชิก 319 องค์กร ใน 43 จังหวัด มี  17 หน่วยงานประจำจังหวัด และ 4 หน่วยงานเขตพื้นที่ พบว่า 43,446 เรื่อง มีโอกาสเข้าถึงความเป็นธรรม  ,75 คดี มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล และมีโอกาสได้รับการชดเชยเยียวยาหลังเรื่องร้องเรียนยุติ  358 ล้านบาท  ทั้งนี้ ขณะนี้มีการเสนอแก้กฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 โดนจะเพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจนและเป็นสากล มีอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภค ปกป้องผู้บริโภคมากขึ้น และสนับสนุนองค์กรฟ้องคดีแทน รวมทั้งผู้บริโภคมีตัวแทนในสัดส่วนที่ชัดเจน

"การคุ้มครองผู้บริโภคในยุค AI จะต้องได้รับสิทธิผู้บริโภคต้องได้รับการเคารพ โดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ต้องไม่เกิดผลกระทบ เช่น สิทธิในการรับข้อมูลและความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฎิบัติ เป็นต้อน นอกจากนั้นต้องมีสิทธิผู้บริโภคในการปฎิเสธและได้รับการอธิบาย ,สิทธิผู้บริโภคในการลืม เพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกลบออกจากโมเดล AI หรือเยียวยาความเสียหาย ,สิทธิผู้บริโภคในการสื่อสารกับมนุษย์แทนการใช้AI ,สิทธิผู้บริโภคในการร้องเรียนและได้รับการชดเชยความเสียหาย, สิทธิผู้บริโภคในการร้องเรียนร่วมกัน และสิทธิผู้บริโภคที่จะร้องเรียนกับหน่วยงานดูแล" สารี กล่าว

ความท้าทายในยุคAI ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มีดังนี้

  • ความปลอดภัย สร้างความมั่นใจว่าอาหารที่เรากิน สินค้าที่เราใช้ มีความปลอดภัยกับทุกคน 
  • คุณภาพชีวิต ทุกคนเข้าถึงบริการที่จำเป็น เช่น การศึกษา สาธารณสุข การเข้าถึงการเงินที่จำเป็น และมีบำนาญประชาชน 
  • สิทธิผู้บริโภคในโลกดิจิทัลและ AI  ความเท่าทันดิจิทัลและความปลอดภัยในโลกดิจิทัลและ AI 
  • การบริโภคที่ยั่งยืน ทำให้การบริโภคที่ยั่งยืนเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้บริโภค

จุดเริ่มต้นสภาองค์กรของผู้บริโภค

 สภาองค์กรของผู้บริโภค จะเกิดขึ้นไม่ได้สมาชิกผู้บริโภคที่ร่วมผลักดันจนทำให้เกิดเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อก่อนการต่อสู้ของผู้บริโภคจะเป็นเรื่องของภาคประชาชนที่ไม่มีหลังพิง แต่ตอนนี้มีกฎหมายเป็นที่พึ่งพิง วันที่ 15 มีนาคม เป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล  ส่วนวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย เป็นวันที่ 30 เมษายน ซึ่งคนไทยรู้จัก วันแห่งความรัก  วันฮาโลวีน แต่ไม่มีใครรู้จักวันคุ้มครองผู้บริโภคไทยทั้งที่เป็นวันแห่งสิทธิของทุกคน

สภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งจริงๆ มีการกำหนดไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนเรื่องอะไรได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ออกด้วยภาคประชาชน แต่ออกโดยผู้มีอำนาจในสภา สู้มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นจนเป็นผู้สูงอายุ แต่ถือว่าประสบความสำเร็จที่ยังมีชีวิตอยู่และมีการเกิดของสภาองค์กรของผู้บริโภค

ทั้งนี้ เริ่มก่อตั้งโดยมีกฎหมายจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อปี 2562 ขณะนั้นมีสมาชิกประมาณ 150 องค์กร ปัจจุบันมีสมาชิก 319 องค์กร โดยมีอำนาจเป็นผู้ตัวแทนของผู้บริโภคในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิในทุกด้าน รวมถึงการดำเนินการสามารถทำได้ทันที หากเห็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสภาองค์กรของผู้บริโภค อีกทั้ง ยังสามารถจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปถึงคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบว่าขณะนี้มีเรื่องอะไรที่เอาเปรียบผู้บริโภค และเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหา  เดิมการแจ้งว่าภาคส่วนใดเอาเปรียบผู้บริโภค จะเป็นการแจ้งประชาชนแบบกว้างๆ เช่น พบน้ำปลาที่มีสารปนเปื้อน ก็จะแจ้งประชาชนว่ามีน้ำปลาชนิดหนึ่งที่มีสารปนเปื้อน แต่ไม่บอกยี่ห้อ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ต้องบอกยี่ห้อ เพราะกฎหมายป้องกันไว้  ฉะนั้น แม้จะไม่มีอำนาจรัฐ แต่มีอำนาจของประชาชน

รู้จักสิทธิผู้บริโภคสากล 8 ด้าน

ทั้งนี้ สิทธิผู้บริโภคได้ถูกรณรงค์และเคลื่อนไหวอย่างจริงจังในปี 2525 และประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สหประชาชาติกำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคและได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปี 2528 อีกทั้งได้ร่วมกันรับรองสิทธิผู้บริโภคสากลไว้ 8 ประการ คือ

  1. สิทธิที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน (The right to basic need) เช่น ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล
  2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ (The right to safety)
  3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ (The right to information)
  4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ (The right to choose)
  5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (The right to be heard)
  6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย (The right to redress)
  7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค (The right to consumer education)
  8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย (The right to healthy environment)

ในแต่ละปีจะมีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้บริโภค โดยมีสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่มีสมาชิกกว่า 200 องค์กร จาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ร่วมกันกำหนดประเด็นการขับเคลื่อนร่วมกันและเป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกร่วมมือกันสะท้อนปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ควรได้รับการปกป้องและคุ้มครอง

รัฐบาลพร้อมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

กฤช เอื้อวงศ์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาล ตระหนักถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ และได้กำหนดนโยบายสำคัญในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในทุกด้าน เพื่อสรรค์สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้บริโภคทุกคน โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในหลากหลายรูปแบบ และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่สิทธิคุ้มครองผู้บริโภคระดับสากล และสภาองค์กรของผู้บริโภคในไทย ร่วมจัดงานขึ้นเพื่อรณรงค์เรียกร้อง ให้การใช้เทคโนโลยี AI ที่มีความเป็นธรรม และมีความรับผิดชอบของผู้บริโภค รัฐบาลตระหนักดีว่า การเข้ามาของ AI มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันอาจจะสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เกิดเป็นภัยคุ้มครองของผู้บริโภคในโลกไซเบอร์ที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น

“จากลักษณะปัญหาดังกล่าว รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เป็นคำมั่นสัญญาว่า รัฐบาลจะเป็น รัฐบาลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยข้อมูลที่แม่นยำ และทันสมัย เป็นรัฐบาลที่นำเอาเทคโนโลยี และระบบดิจิทัลเพื่อประเทศ และประชาชน มีการศึกษาข้อมูลเทคโนโลยีจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และป้องกันภัยคุ้มครองข้ามชาติจากโลกไซเบอร์ และการให้ความรู้เท่าทันสื่อ และทักษะดิจิทัลต่อประชาชน  พร้อมทั้งทำงานร่วมกับประชาชนในการสร้างความเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิของประชาชน และผู้บริโภค”กฤช กล่าว