ปั้น 'นักบริบาล – คุ้มครองสิทธิสูงวัย' เพิ่มโอกาสติดสังคม ลดติดบ้านติดเตียง
กระทรวง พม. เปิด “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” พัฒนาศักยภาพผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน พร้อมสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติในระดับพื้นที่ นำร่อง 19 พื้นที่ 12 จังหวัด
KEY
POINTS
- ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุ และอีกไม่นานจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด โดยมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน จากการที่เด็กเกิดน้อย ผู้สูงวัย อายุยืนมากขึ้น จากการสำรวจครั้งล่าสุด อายุเฉลี่ยของคนไทย 76 ปี
- วิกฤติทางด้านโครงสร้างประชากรดังกล่าว นำมาซึ่ง “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” นวัตกรรมทางนโยบาย กระทรวง พม. เพื่อสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติในระดับพื้นที่
- ภายใต้แนวคิดให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างหลักประกันการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชีวิตผู้สูงอายุ กำหนดพื้นที่เป้าหมายนำร่อง 19 พื้นที่ 12 จังหวัด
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง สวนทางกับสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจาก กรมการปกครอง พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ20.08 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีอยู่ 65 ล้านคน ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีเพียง 5.18 แสนคน เสียชีวิต 5.6 แสนคน
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คาดการณ์ว่าในปี 2585 ประชากรไทยจะลดลงเหลือจำนวน 60 ล้านคน โดยประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) จะมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 16.27 เหลือร้อยละ 10.36 ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) ลดลงจากร้อยละ 64.87 เหลือร้อยละ 58.20 ในขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.86 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 31.44 ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 12.5 ล้านคน เป็น 18.9 ล้านคน
วิกฤติทางด้านโครงสร้างประชากรดังกล่าว นำมาซึ่ง “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” นวัตกรรมทางนโยบาย ของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ และพัฒนาศักยภาพผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน พร้อมสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติในระดับพื้นที่
โดยมีแนวคิดให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างหลักประกันการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว โดยชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาชีวิตผู้สูงอายุ กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการนำร่อง 19 พื้นที่ 12 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ สกลนคร อุบลราชธานี พิษณุโลก สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุทธยา ลพบุรี สิงห์บุรี นครปฐม สงขลา และปัตตานี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดหลักเกณฑ์ขอรับเงินผู้สูงอายุ เงินคนแก่ 3,000 บาท เช็กช่องทางรับเงินเลย
- พม. เร่งแก้วิกฤติ เด็กเกิดน้อย เตรียมรับ 'สังคมสูงวัย' 5 มิติ
สร้างกลไก ดูแลสูงวัยระยะยาว
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวในงานแถลงข่าว “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุ และอีกไม่นานหากไม่วางแผนให้ดีจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด โดยมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน ในอีกไม่เกิน 1 ทศวรรษ จากการที่เด็กเกิดน้อย ผู้สูงวัย อายุยืนมากขึ้น จากการสำรวจครั้งล่าสุด อายุเฉลี่ยของคนไทย 76 ปี
“การดูแลผู้สูงอายุของไทย จะทำอย่างไรให้องค์ประกอบของสังคมไทยเป็นสังคมน่าอยู่ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีคุณค่า และแน่นอนว่าทุกคนมีลูกหลาน และลูกหลานมีความกังวลว่าใครจะดูแลพ่อแม่ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ประชากรเกิดใหม่น้อยลง เพราะหากต้องดูทั้งลูกและพ่อแม่ ขอดูพ่อแม่ก่อน ลูกยังไม่มีไม่เป็นไร”
โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เด็กเกิดใหม่ เพราะผู้บริบาลฯ ทุกคนเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ รู้สึกว่ามีคนช่วยดูแลพ่อแม่ นำไปสู่การคิดจะมีครอบครัวมีลูก โดย 12 จังหวัดนำร่อง ถือเป็นจุดเริ่มต้น และท้ายที่สุด จะต้องมีครบ 76 จังหวัดในประเทศไทย เพื่อดูแลผู้สูงอายุในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรม
สร้างรายได้ในชุมชน
วราวุธ กล่าวต่อไปว่า การที่ กระทรวง พม. เริ่มโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อให้ทุกคนเห็นว่า การดูแลผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งในอาชีพ ที่สร้างรายได้ให้กับคนทั่วไปได้ เป็นอาชีพที่สำคัญ ทำให้คนไม่ต้องจากถิ่น สร้างงานขึ้นในชุมชน และสร้างความอุ่นใจให้กับผู้สูงอายุ
“ปัญหาโครงสร้างประชากร ทุกคนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างพลังให้กับผู้สูงอายุ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ที่สมบูรณ์ในระยะยาว การทำงานเรื่องบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความอดทน เข้าใจ และต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเอง สุขภาพกาย สุขภาพจิต ของคนทำงานมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน” รมว.พม. กล่าว
เสริมทักษะ “ผู้บริบาล” นำร่อง35คน
สำหรับประเด็นด้านผู้สูงอายุในปัจจุบัน เผชิญกับความท้าทายทั้ง 5 มิติ ได้แก่
- ด้านสังคม ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว เพิ่มขึ้นจำนวนกว่า 1.3 ล้านคน
- ด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุต้องการคนดูแลเพิ่มมากขึ้นกว่า 741,766 คน
- ด้านเศรษฐกิจ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ได้รับบัตรสวัสดิการแหงรัฐกว่า 5.4 ล้านคน
- ด้านที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุอาศัยในบ้าน และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม บาดเจ็บ เฉลี่ยวันละ 3 คน โดยเกิดเหตุภายในบ้านถึง ร้อยละ 69.41
- ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม ผู้สูงอายุถูกหลอกผ่านสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6
“แรมรุ้ง วรวัธ” อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) เผยว่า “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” มีกระบวนการทำงาน คือ สร้างผู้บริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน จำนวน 35 คน อบรมหลักสูตร ผู้บริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ที่รับรองโดย กรมกิจการผู้สูงอายุ ดังนี้
“ช่วงแรก” ระหว่างวันที่ 4-12 มีนาคม 2567 เตรียมความพร้อมการอบรม ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ จ.พระนครศรีอยุทธยา
“ช่วงที่ 2” ระหว่างวันที่ 14 มีนานาคม - 10 เมษายน 2567 อบรมการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีและนวัตกรรม ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา จังหวัดขอนแก่น สังกัดกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
“ช่วงที่ 3” ระหว่างวันที่ 17 เมษายน – 7 พฤษภาคม 2567 ฝึกปฏิบัติการในพื้นที่ กับศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยวิทยากรประกอบด้วย นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา แพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรม จากทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน
ซึ่งผู้บริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ จะได้รับความรู้ ทักษะ จิตวิญญาณ อุดมการณ์ ในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งกลุ่มที่ติดบ้าน ติดสังคม ติดเตียง แบบมีค่าตอบแทนเป็นรายเดือน แสดงถึงพลังการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน และทุกภาคส่วน เพื่อดูแล คุ้มครอง พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เป็นผลิตภาพ รองรับสูงวัยในชุมชน เพื่อให้เป็นสังคมผู้สูงอายุที่ติดสังคมยาวนานที่สุด ติดบ้านและติดเตียงสั้นที่สุด