จะดีแค่ไหนถ้าสามารถเลือกที่จะเกษียณเองได้
ท่านผู้อ่านเคยคิดไหมว่าอยากจะเกษียณจากงานประจำที่ทำอยู่เมื่ออายุเท่าไร? ในปัจจุบันแนวคิดเรื่องของการเกษียณอายุจากงานประจำ ได้มีการเปลี่ยนไปจากในอดีต ทั้งในด้านของการขยายเวลาออกไป และ การเกษียณที่เร็วขึ้น
ในด้านของการขยายออกนั้น เกิดจากเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ทั้งโครงสร้างประชากร การดูแลสุขภาพ และคนเกิดน้อยลง ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มที่จะขยายอายุเกษียณ (อย่างเป็นทางการ) ออกไปจากเดิม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดี และใช้ระบบของการหมุนเข้าออกของเงินบำนาญ โดยคนรุ่นใหม่ทำงานเพื่อเกื้อหนุนระบบบำนาญของผู้สูงอายุ และหมุนเป็นรอบไปเรื่อยๆ
ประเทศอย่างเยอรมันหรือญี่ปุ่น เริ่มขยายอายุเกษียณออกไปเรื่อยๆ และมีเป้าหมายในปัจจุบันอยู่ที่อายุ 67 ปี นั้นหมายความว่าต่อไปคนในประเทศเหล่านี้จะต้องทำงานจนถึงอายุ 67 ถึงจะได้รับบำนาญที่สะสมมา
สาเหตุหลักก็คือ คนอายุยืนขึ้น ทำให้ได้รับบำนาญมากและนานขึ้น ขณะเดียวกันอัตราการเกิดที่น้อยลง ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่การทำงานน้อยลง และไม่สามารถสร้างรายได้ ที่เพียงพอที่จะมาเป็นบำนาญให้กับผู้สูงอายุได้
สำหรับในไทยที่อายุเกษียณอย่างเป็นทางการคือ 60 ปี ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอายุเกษียณที่น้อยมาก อย่างไรก็ดีเนื่องจากเนื่องจากระบบประกันสังคมและระบบบำนาญของไทยไม่ได้เข้มแข็งเหมือนอีกหลายๆ ประเทศ จึงทำให้ผู้ที่ถึงวัยเกษียณจำนวนไม่น้อยที่เลือกทำงานต่อไป เป็นการขยายเวลาเกษียณออกไปอย่างไม่เป็นทางการ
ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกที่จะเกษียณจากงานประจำเร็วขึ้น หรือ เกษียณก่อนอายุ โดยข้อดีของการเกษียณจากงานประจำเร็วกว่าเกณฑ์ปกติ ก็ทำให้ทั้งไม่ต้องเครียดกับงาน มีเวลาและอิสระในการเลือกที่จะทำสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้น มีเวลาในการดูแลสุขภาพมากขึ้น
พบว่าในคนทำงานวัยตั้งแต่ 40-60 ที่เลือกที่จะเกษียณอายุจากงานประจำเร็วกว่าปกตินั้น มักจะมาจากสาเหตุหลักๆ สี่ประการด้วยกัน ประกอบด้วย
1. การจัดลำดับของสิ่งที่มีความสำคัญในชีวิตได้เปลี่ยนไป - จากในอดีตที่การทำงาน การสร้างรายได้ หรือ ความก้าวหน้า ความสำเร็จในการทำงาน เป็นหมุดหมายที่สำคัญในชีวิต เมื่ออายุมากขึ้นก็จะพบว่าเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการนั้นเปลี่ยนไป จากความสำเร็จในการทำงาน สู่ การดูแลตนเองมากขึ้น การให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น หรือ การท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นต้น
ในต่างประเทศมีการจัดกลุ่มบุคคลที่เกษียณจากงานประจำกลุ่มหนึ่งว่า ไม่ใช่ผู้ที่เกษียณหรือ Retirement แต่เป็น Post-Achievement โดยคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ผ่านพ้นความสำเร็จในการทำงานมาแล้วในระดับหนึ่ง ได้บรรลุเป้าหมายในการทำงานตามที่ตั้งไว้ ไม่จำเป็นจะต้องพิสูจน์ความสามารถของตนเองให้คนอื่นเห็นอีกต่อไป
ดังนั้น ความสนใจของคนกลุ่ม Post-Achievement จึงไม่ได้อยู่ที่ความก้าวหน้าในการทำงานอีกต่อไป และเลือกที่จะยุติ หรือ ลดบทบาทจากงานประจำลง
2. มีความมั่นคงทางการเงินในระดับหนึ่ง - ทั้งจากเงินที่สะสมไว้หรือได้รับมรดกมาหรือที่คาดว่าจะได้รับต่อไปในอนาคต ทำให้เรื่องของการแสวงหารายได้ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบสำคัญในชีวิต
3. ความไม่พอใจในการทำงาน - ซึ่งอาจจะมาจากการ Burnout ที่ทำงานที่เครียดและหนักมาเป็นระยะเวลาหนึ่งและเริ่มส่งผลต่อสุขภาพ หรือ ความเบื่อหน่ายในการทำงาน หรือ ความเป็นพิษในที่ทำงานทั้งวัฒนธรรมในการทำงานหรือเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่เป็นพิษ คนกลุ่มนี้จะพบว่าชีวิตยังมีคุณค่าและทางเลือกอื่นมากกว่าการทนกับงานและบุคคลในที่ทำงาน
4. เหตุผลส่วนตัว - ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการออกมาดูแลผู้สูงอายุ หรือ ดูแลครอบครัว หรือ ดูแลสุขภาพตนเอง
การที่เกษียณจากงานประจำก่อนเกณฑ์จริงๆ อาจจะเกิดจากข้อใดข้อหนึ่งเป็นหลัก หรือ อาจจะมาจากหลายๆ ข้อผสมผสานกันก็ได้ อย่างไรก็ดีใช่ว่าทุกคนจะสามารถเลือกที่จะเกษียณก่อนกำหนดได้
ผู้ที่สามารถเลือกที่จะเกษียณอายุตนเองจากงานประจำได้นั้นจะเป็นผู้ที่โชคดีที่สุด เพราะสามารถเลือกที่จะยุติการทำงานประจำก่อนอายุเกษียณ หรือ ยังคงทำงานประจำอยู่แม้จะเลยวัยเกษียณไปแล้ว.