คุยกับ ‘เล้ง - ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร’ ในวันที่ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่มีแนวคิดแบบ ‘มาม่า มายด์เซ็ต’
ส่องบทเรียนความเป็นผู้นำ การใช้ชีวิต รวมถึงคำแนะนำถึง "คนรุ่นใหม่" จาก "ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร" CEO บริษัท MFEC ผู้ให้คำปรึกษาไอทีชั้นนำของไทยผ่านคอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด
หลังจาก “พี่เล้ง - ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัทเอ็ม เอ็ฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) ขึ้นพูดบนเวทีเสวนาด้านเอไอซึ่งจัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจเมื่อช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา คอลัมน์ “The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ก็ไม่พลาดที่จะชวนพี่เล้งมาพูดคุยเกี่ยวกับวิธีคิดเรื่องการใช้ชีวิตและการทำงาน
เราทราบมาว่า ก่อนที่พี่เล้งจะเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีของตัวเองในวัยเพียง 28 ปี เขาเปลี่ยนงานเพียง 2-3 ครั้งหลังจากเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้มูลค่าบริษัทฯ ของเขาก็พุ่งสูงขึ้นแตะ 4,000 ล้านบาท
เราจึงถามพี่เล้งว่า ปัจจัยอะไร ทำให้เขาในวัยยี่สิบปลาย กล้าที่จะออกจากงานประจำและสร้างอาณาจักรเทคโนโลยีของตัวเอง เขานิ่งคิดสักพักก่อนจะตอบว่า ณ จังหวะนั้นทุกอย่างมันเหมาะสม เขามั่นใจว่าทำได้ จึงตัดสินใจออกมา
“มันอยู่ที่ความพร้อม อยู่ที่ความเหมาะสม เหมือนกับการที่คุณจะเล่นเซิร์ฟ คุณต้องมีความสามารถ มีอุปกรณ์ ที่สำคัญลมต้องมี คลื่นต้องมา มันถึงจะเล่นได้ ถ้าคุณมีเซิร์ฟ แต่มันไม่มีคลื่นลมเลย ออกไปมันจะเล่นยังไงล่ะ ทั้งหมดแปลว่า โอกาส ความเหมาะสม เวลา เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งก่อนที่จะออกมาเปิดธุรกิจผมมั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมแล้ว”
เราทราบดีว่าการเปลี่ยนบทบาทพนักงานบริษัทธรรมดาสู่การสวมหมวกผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเทคฯ มูลค่าหลายพันล้านบาทไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากความพร้อมที่พี่เล้งเล่าให้ฟังแล้ว “ความอุตสาหะ” คือหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญ เราจึงถามความคิดเห็นเขาถึงแนวคิด “การประสบความสำเร็จแบบข้ามคืน” (Overnight Success) ผู้บริหารผู้นี้ตอบทันทีว่า “ไม่มีจริง”
“อันนี้เป็นสิ่งที่มันเกินไป ผมเรียกว่าเป็น มาม่ามายด์เซ็ต คือต้องการอะไรที่สำเร็จรูป อยากรู้อะไรถาม ต้องการให้บอกเลย ทำยังไงถึงจะสำเร็จ พี่บอกมาเลย 3 ข้อจะได้ทำตาม ไอ้พวกนี้เชื่อปะ มีที่ไหนละ”
“หลายคนคาดว่าทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตต้องเป็นแบบมาม่าสำเร็จรูป อ่านหนังสือ มี 10 เล่ม เอาที่ขายดีที่สุด ผมอ่านเฉพาะเล่มที่มีคนซื้อเยอะสุด แล้วผมจะเก่ง บอกเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะกว่าจะประสบความสำเร็จหรือเก่งในเรื่องใดได้เราต้องย่อย เราต้องกลั่นกรอง เราต้องพัฒนาด้วยตัวเอง”
หนึ่งในแนวคิดที่พี่เล้งมักให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งคือการผสมผสานการทำงานเข้ากับองค์ความรู้จากตะวันออกอย่าง “ปรัชญาหยินหยาง” หรือการหาสมดุลระหว่างของสองสิ่ง เราจึงถามต่อว่าเขาปรับใช้แนวคิดดังกล่าวกับการทำงานอย่างไร
เขาเล่าให้ฟังว่า “มันคือการหาสมดุลระหว่างเวลาพักผ่อนกับเวลางานของแต่ละคนซึ่งลอกกันไม่ได้ ยกตัวอย่างอาหารบางอย่างบางคนกินแล้วแข็งแรง แต่พอเรากินกลับเป็นเบาหวาน หรือการเล่นกีฬา บางคนบอกวิ่งมาราธอนได้ดีมาก แต่ถ้าร่างกายเราไม่ได้ถูกกับมาราธอน เราไปวิ่งตามเขาร่างกายก็พัง การทำงานก็เหมือนกัน มันอยู่ที่สมดุลใครสมดุลมัน”
“งานที่สบายเกินไป เราทำแป๊บเดียวก็ไม่ท้าทายแล้ว ถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น เราก็อาจจะไม่ได้พัฒนาเลย เราก็อาจจะเป็นเดดวูด (Deadwood) ตั้งแต่อายุยังน้อย หรืองานบางอย่าง เครียดเกินไป รับไม่ไหว เราเสียสมดุล กลายเป็นโรคซึมเศร้าอีก ดังนั้นเราต้องรู้และเข้าใจตัวเรา อย่าผลักภาระการเป็นตัวเรา ให้กับหัวหน้างาน เพราะเราเป็นคนที่รู้เกี่ยวกับตัวเรามากที่สุด”
ส่วนแนวคิดเรื่อง “เวิร์คไลฟ์บาลานซ์” ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน เมื่อถูกถาม เขาตอบทันทีว่า “ไม่เชื่อ” แนวคิดดังกล่าว
“ผมไม่เชื่อครับ มันอยู่ที่แต่ละคน เพราะฉะนั้นเราต้องหาสิ่งที่สมดุลของตัวเอง บางคนสร้างสภาวะแวดล้อม (Environment) ที่ไม่ท้าทาย (Challenge) เลย เราไม่ต้องการความเครียดเลย เราไม่ต้องการแรงกดดันเลย ผลก็คือซีรีบรัม (Cerebrum) คุณจะเรียบ แต่สมองจะทำงานได้ดี เราต้องมีแรงกดดันที่พอเหมาะ มีความเครียดที่พอเหมาะ เราถึงฉลาดขึ้น เราถึงเก่งขึ้น”
“คุณเล่นไม่เอาความเครียดเลย มันก็จะเหมือนคุณอยากให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กล้ามเนื้อเติบโตขึ้น คุณไม่ยกเวท หรือยกเวทน้ำหนักเท่าเดิม กล้ามเนื้อมันก็ไม่ขึ้น คุณต้องผลักดัน (Push) ตัวเอง ยกน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น จำนวนครั้งที่เพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อคุณถึงจะเพิ่มขึ้น”
หลังจากบทสนทนาผ่านไปหลายสิบนาที เราก็ไม่พลาดที่จะถามคำถามสำคัญของ “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ที่ว่าหากย้อนกลับไปในช่วงหนึ่งของชีวิตได้อยากกลับไปบอกอะไรกับตัวเอง เขาตอบว่า
“หัดเป็นซีพียู ไม่ใช่ฮาร์ดดิสก์”
“พวกนี้มันคือค่อยๆ พัฒนา (Evolve) ความรู้ในการบริหารงานผมไม่ได้รู้ตอนเด็กๆ มันก็พัฒนามาจนถึงตอนนี้ ค่อยตกผลึก ค่อยรู้ แต่ก่อนผมก็เหมือนกัน คือเราอยู่ในสังคมที่สอนให้เราเป็นฮาร์ดดิสก์ อ่านแล้วจำ อ่านแล้วจำ อ่านแล้วทำตาม โดยไม่เคยประมวลผล แต่พอเราเอาตัวเองออกจากการเป็นฮาร์ดดิสก์ มาเป็นซีพียู เริ่มคิดได้ เริ่มวิเคราะห์ได้ เราเริ่มจะเข้าใจเรื่องการหาสมดุลของตัวเอง”
ก่อนบทสนทนาจะจบลง เราไม่ลืมที่จะขอให้ผู้บริหารท่านนี้แนะนำหนังสือที่เขาอ่านเป็นประจำ เขาตอบกลับมาทันทีว่า “ไม่ได้ครับ แนะนำไม่ได้ หนังสือมันเหมือนกับอาหาร มีทั้งอาหารดี และอาหารขยะ (Junk Food) คุณรู้ได้ไงว่าหนังสือที่คุณอ่านมันถูก หนังสือครึ่งหนึ่งที่มีอยู่ในท้องตลาด เผื่อมันจังก์ขึ้นมาจะทำยังไง ต้องเลือกอ่าน เพราะถ้ากินอาหารขยะทุกวันก็เป็นมะเร็ง ใช่ไหม…”
แต่เหมือนรู้ว่าเราผิดหวังที่ไม่ได้ชื่อหนังสือมาเขียนในคอลัมน์ พี่เล้งยิ้มแล้วตอบเราก่อนที่จะขอตัวกลับว่า “ถ้าต้องแนะนำจริงๆ ก็ ‘เต้าเต๋อจิง’ ครับ”