ปรับ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" เปิดข้อเสนอ 3 ทางเลือก
เปิดข้อเสนอ 3 ทางเลือก ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก่อนพม.เคาะ "1,000 บาทถ้วนหน้า" 60 ปีขึ้นไปได้เท่ากันหมด แทนแบบขั้นบันได ชงเข้าครม. ภายในมิ.ย.2567
KEY
POINTS
- แม้ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือนับจากนี้ตั้งแต่ปี 2566 เพราะจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “สึนามิผู้สูงอายุ” ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปีราว 1 ล้านคน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโจทย์ใหญ่
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได คาดอีก 5 ปีข้างหน้า ต้องใช้งบประมาณ 1.26 แสนล้านบาท ได้มีข้อเสนอ 3 ทางเลือกในการปรับ ล่าสุดพม.เคาะ 1,000 บาทถ้วนหน้าและเตรียมเสนอครม.ภายในมิ.ย.2567
- สมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย ของพม. มีการระบุถึงมาตรการเร่งด่วนส่วนของผู้สูงอายุไว้ 5 ข้อ ไม่ได้มุ่งแค่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
สึนามิผู้สูงอายุ ส่งผลไปอีก 20 ปี
สังคมไทยเป็น สังคมผู้สูงอายุ แล้วก็จริงอยู่ แต่นับจากนี้จะเป็น สังคมสูงวัยแบบสุดยอด (Super Aged Society) รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องด้วยจํานวนและสัดส่วนของประชากรในวัยเด็กและวัยทํางาน ลดลงมาก ในขณะที่กลุ่มประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กําลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก
เนื่องจากในช่วงปี 2506 – 2526 ประชากรไทยมีอัตราการเกิดปีละราว 1 ล้านคน เพราะฉะนั้นแล้ว นับตั้งแต่ปี 2566 ประชากรที่เกิดในปี 2506 จะมีอายุ 60 ปี กลายเป็น ผู้สูงอายุ และหลังจากนั้นจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1 ล้านคน
ทั้งนี้ ประชากรวัยทํางานที่มีอายุตั้งแต่ 41 - 59 ปีขึ้นไปซึ่งเกิดในปีพ.ศ.ดังกล่าว มีจํานวนรวมทั้งหมดกว่า 19.25 ล้านคน ที่กําลังเข้ามาสมทบกลุ่มประชากรวัยสูงอายุที่มีจํานวนและสัดส่วนมากอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้น ประหนึ่งเป็นสึนามิผู้สูงอายุที่กำลังจะซัดเข้าสู่สังคมไทย
จึงเห็นได้ชัดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้าผู้ที่จะมีอายุ 60 ปี จะมีประมาณเกือบ 1 ล้านคนต่อปีและจะคงอยู่ในปริมาณนี้ไปอีกราว 20 ปี และมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาว จึงส่งผลให้อัตราการเป็นสังคมสูงวัยสุดยอดเร่งเร็วขึ้น ทั้งยังจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ งบฯที่ต้องใช้
การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในปัจจุบันเป็นแบบขั้นบันได คือ ได้เพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- อายุ 60 – 69 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 600 บาท/คน/เดือน
- อายุ 70 – 79 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 700 บาท/คน/เดือน
- อายุ 80 – 89 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 800 บาท/คน/เดือน
- อายุ 90 ปี ขึ้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 1,000 บาท/คน/เดือน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รัฐใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาทสําหรับผู้สูงอายุจํานวน 10.3 ล้านคน
หากมี การจ่ายเงินแบบขั้นบันได ไปตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าและจ่ายให้ผู้สูงอายุทุกคนตามแนวคิดที่ต้องการให้เปลี่ยนเป็นสวัสดิการพื้นฐานหรือหลักประกันรายได้เบื้องต้น จะพบว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 1.26 แสนล้านบาท และจะเพิ่มเป็น1.4 แสนล้านบาท ในพ.ศ. 2577
หากปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 1,000 บาท และจ่ายให้ผู้สูงอายุทุกคน คาดว่าภายใน 5 ปี ข้างหน้าต้องใช้งบประมาณถึง 1.89 แสนล้านบาท
หากเพิ่มเป็น 3,000 บาท ใน 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 5.68 แสนล้านบาท
3 ทางเลือกปรับ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ในเวทีเสวนาวิชาการ “ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2567 ณ ห้องประชาบดี ชั้น 19A อาคารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มีการนําเสนอประเด็น “นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบใหม่”
ศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาฝ่ายหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อเสนอ จํานวน 3 ทางเลือกสําหรับการปรับเบี้ยยังชีพผ็สูงอายุให้เป็นบํานาญพื้นฐานโดยยึดหลักการในการเสนอทางเลือก คือ เป็นธรรม ถ้วนหน้า และเพียงพอต่อการดํารงชีพ
1. จ่ายเบี้ยยังชีพตามอัตราขั้นบันไดและคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเหมือนปัจจุบัน
แต่หากมียอดเงินฝากต่ำกว่าเกณฑ์ให้เพิ่มจนเท่ากับ 1,700 บาท จํานวนเงินที่ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับมีดังนี้
- อายุ60-69 ปีจะได้รับเงินบํานาญพื้นฐาน 600 บาท และหากมีเงินฝากต่ำกว่า220,000บาท จะมีสิทธิได้รับบํานาญเพิ่มเติม สูงสุดไม่เกิน 1,100 บาท
- อายุ70-79 ปีจะได้รับเงินบํานาญพื้นฐาน 700 บาท และหากมีเงินฝากต่ำกว่า 200,000บาท จะมีสิทธิได้รับเพิ่มเติม สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
- อายุ80-89 ปีจะได้รับเงินบํานาญพื้นฐาน 800 บาท และหากมีเงินฝากต่ำกว่า180,000บาท จะมีสิทธิได้รับเพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 900 บาท
- อายุ90 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินบํานาญพื้นฐาน 1,000 บาท และหากมีเงินฝากต่ำกว่า 140,000 บาท จะมีสิทธิด้รับเพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 700 บาท
ทางเลือกนี้หากดําเนินการในปี2568 จะต้องใช้งบประมาณ 260,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ1.38ของ GDP
2. บํานาญพื้นฐาน 1,700 บาท ดูเกณฑ์เงินฝากและบํานาญจากแหล่งอื่น
ผู้มีสิทธิได้รับบํานาญพื้นฐาน จะต้องมีเงินฝากต่ำกว่า 340,000 บาท หรือได้บํานาญจากแหล่งต่าง ๆ รวมกันต่ำกว่าเดือนละ 1,700 บาท ดังนั้น
- ผู้ที่ไม่มีรายได้เลย จะได้รับ 1,700 บาทต่อเดือน
- ผู้ที่มีรายได้ แต่ยังไม่ถึง 1,700 บาท จะถูกเติมให้ครบ 1,700 บาท
- ผู้ที่มีรายได้หรือบํานาญจากแหล่งอื่น มากกว่า 1,700 บาท จะไม่ได้รับ
หากดําเนินการในปี 2568 จะต้องใช้งบประมาณ 270,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 ของ GDP
3. บํานาญพื้นฐานครอบคลุมผู้สูงอายุทุกคน
วิธีการ ผู้สูงอายุทุกคน จะได้รับเดือนละ1,700 บาทเท่ากันทั้งหมด หากดําเนินการในปี2568 จะต้องใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.58ของ GDP
พม.ชงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทถ้วนหน้า
จะเห็นได้ว่าจากการคาดการณ์ใช้งบประมาณหากจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได เช่นเดิม หรือการปรับเป็น 1,000บาท ทุกคน และข้อเสนอ 3 ทางเลือกนั้น
การจ่ายแบบเดิมใช้งบประมาณน้อยที่สุด แต่จะไม่มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเลยก็คงจะไม่ได้ จึงอาจเป็นเหตุหลักที่ทำให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เคาะเลือกที่จะปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแบบ 1,000 บาทถ้วนหน้า ได้เท่ากันทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะคาดว่าใน 5 ปี ข้างหน้าต้องใช้งบประมาณถึง 1.89 แสนล้านบาท ต่ำกว่าอีก 3 ทางเลือกที่ใช้งบประมาณต่างกันถึงราว 1 แสนล้านบาท
นางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ที่มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. เป็นประธานเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 มีมติให้ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถ้วนหน้า 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น
“เรื่องสิทธิสวัสดิการสังคมต่างๆเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งเรื่องงบประมาณและนโยบาย ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งจัดทำข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายในเดือนมิ.ย.2567”นางพรนิภากล่าว
ผู้สูงอายุ 5 มาตรการเร่งด่วน
ทั้งนี้ ในสมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโยบาย วิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย ของพม. ในส่วนผู้สูงอายุ สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส มีการระบุถึงมาตรการเร่งด่วน 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. มุ่งการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค เสริมการมีพฤติกรรมที่ พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ
2. ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ ขยายอายุเกษียณส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะที่จําเป็น ส่งเสริมความรอบรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ให้ผู้สูงอายุและลดข้อจํากัดที่เป็นอุปสรรคต่อการทํางานของผู้สูงอายุ
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เช่น จัดระบบบริบาลผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาระบบคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนโดยชุมชน ส่งเสริมให้มีการเกื้อหนุนและสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัวและชุมชน
4. ส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อม ทั้งภายในบ้าน รอบบ้าน และในชุมชนที่เอื้อต่อการทํากิจวัตรประจําวัน การสัญจรและการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุ
5. ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติเพื่อให้เกิดการทํางานแบบบูรณาการอย่างครบวงจรกับผู้สูงอายุ
อ้างอิง : สมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย พม.