“ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ” ให้เดือนละ 3,000 บาท เริ่มพ.ค.2567
พม.มุ่งสร้างสังคมเป็นมิตร ดีต่อใจผู้สูงอายุ ปี 2567 เดินหน้า “ครอบครัวอุปถัมภ์” มอบ 3,000 บาทให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุเปราะบาง ปีแรกตั้งงบประมาณรองรับ 1,100 ราย พร้อมสนับสนุนให้เกิด “เดย์แคร์สูงวัย”ในสถานประกอบการ
KEY
POINTS
- สถานการณ์ผู้สูงอายุของประเทศไทย มี 1 จังหวัดที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดแล้ว โดยมีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็น 28 % ของประชากรจังหวัด
- มอบเงิน 3,000 บาทต่อเดือน ในโครงการ “ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ” ให้ลูกหลาน ญาติ คนในชุมชนที่ดูแลผู้สูงอายุเปราะบางแต่อยู่คนเดียว เริ่ม พ.ค.2567 ปีแรกตั้งงบฯรองรับ 1,100 ราย
- แนวทางสร้างสังคมเป็นมิตรดีต่อใจผู้สูงอายุ ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ขับเคลื่อน เตรียมผลักดันเรื่อง “เดย์แคร์สูงวัยในสถานประกอบการ”
ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสมบูรณ์ โดยจำนวนประชากรไทย ณ 31 ธ.ค.2566มีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20 % ในจำนวนนี้ 97 %เป็นกลุ่ม Active Aging ดูแลตัวเองได้ดี ,กลุ่มติดบ้าน 2.5 % และกลุ่มติดเตียง 0.5 % ทั้งนี้ ปี 2576 คาดว่า ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้น 3.5 %ต่อปีและมีจำนวนสูงขึ้นถึง 28 % และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด
น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติโครงสร้างประชากรมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง วัยแรงงานน้อย ถ้าให้วัยแรงงานมาดูแลผู้สูงอายุ โดยที่ผู้สูงอายุไม่เตรียมพร้อมตัวเอง หรือกลไกลของรัฐและชุมชนไม่ยกระดับ ก็มีโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นสังคมเปราะบาง
4 มิติเตรียมตัวก่อนสูงอายุ
แนวทางที่จะทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จะต้องเตรียมตั้งแต่ก่อนถึงวัยอายุ 60 ปีให้ครบถ้วนใน 4 มิติ คือ
1.สุขภาพ ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง รู้วิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัย
2.เศรษฐกิจ อาชีพ รายได้ คนที่มีศักยภาพทำอาชีพได้ก็ดำเนินการต่อ เตรียมเงินออม ไม่ให้แบกภาระหนี้ ส่วนภาครัฐให้การสนับสนุนเบี้ยยังชีพเป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ
3.สังคม ครอบครัว ชุมชน เรื่องที่อยู่อาศัยควรสร้างครั้งเดียวให้รองรับช่วงวัยชรา ต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์ให้ทำกิจกรรม ทำประโยชน์เพื่อสังคม มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ให้เหงา ว้าเหว่ ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาสุขภาพจิต รวมถึง มีสิทธิประโยชน์มากมายตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2564 เช่น ลดค่าโดยสาร เว้นค่าเข้าสถานที่ของรัฐ การช่วยเหลือกรณีถูกทารุณกรรม เป็นต้น
และ4.เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีนวัตกรรมมากมายที่สนับสนุนการใช้ชีวิตในเรื่องการกิน เดิน เคลื่อนไหว นอน อาบน้ำ และต้องรู้เท่าทันการใช้งานในโลกออนไลน์เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน
ไม่เพียงเท่านี้ ในปี 2567 จะดำเนินการโครงการใหม่ “ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ”โดยจะสนับสนุนงบประมาณเดือนละ 3,000 บาทให้ลูกหลานที่ต้องลาออกมาดูแล เครือญาติ หรือคนในชุมชน ที่ดูแลผู้สูงอายุเปราะบางแล้วไม่มีใครดูแล เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์พัฒนาการและสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
จะให้การสนับสนุนจนกว่าผู้สูงอายุจะเข้มแข็งขึ้นหรือเสียชีวิต โดยในปีนี้ตั้งงบประมาณรองรับ 1,100 รายเป็นการตั้งจากยอดจำนวนผู้สูงอายุที่จองคิวเข้าอยู่ในศูนย์ฯ จากนั้นจะประเมินผลและตั้งงบฯรองรับเพิ่มเติมต่อไป
ส่งเสริมสูงวัยเป็นพลังชุมชน
การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของพลังสังคม โดยเฉพาะกลุ่ม Active Aging น.ส.แรมรุ้ง กล่าวว่า กรมมีการสำรวจคลังปัญญาผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในแต่ละจังหวัด เมื่อมีกิจกรรมงานต่างๆก็จะเชิญมาร่วมเพื่อพัฒนาสังคม มีชมรมผู้สูงอายุในชุมชนกว่า 20,000 ชมรมทั่วประเทศ มีโรงเรียนผู้สูงอายุราว 3,000 แห่ง มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุให้พัฒนาตัวเอง
ผู้ที่ยังทำอาชีพหารายได้ด้วยตัวเอง หากมีกลุ่มอาชีพอยู่แล้ว ภาครัฐจะจัดส่งนักวิชาการเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ กรณีที่ไม่มีทุนประกอบอาชีพ สามารถกู้โดยไม่มีดอกเบี้ยได้จากกองทุนผู้สูงอายุ
งบฯซ่อมบ้านผู้สูงอายุ
สำหรับการสร้างสิ่งแวดล้อมและเมืองที่เป็นมิตรกับคนวัยเกษียณจะเกิดขึ้นได้ จะแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1.สภาพแวดล้อมในบ้านผู้สูงอายุ หากเป็นบ้านเก่าจะต้องสำรวจแต่ละส่วนว่ามีความเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยหรือไม่
ถ้ามีจุดต้องปรับปรุงหากเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างราวจับ หลังคา ผนัง ก็จะมีช่างชุมชนที่มีความรู้เรื่องการออกแบบอารยสถาปัตย์เพื่อผู้สูงอายุให้บริการ ทั้งนี้ กรมมีงบประมาณสนับสนุนในการปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุ หลังละไม่เกิน 40,000 บาท
ทว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม.ให้แนวคิดในการบูรณาการงบประมาณซ่อมแซมบ้านกรณีที่บ้านหลังนั้นมีเด็กและผู้พิการอยู่ร่วมกัน เนื่องจากงบฯเพื่อผู้พิการก็อยู่ที่ 40,000 บาทต่อหลังเช่นกัน ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีงบฯจากการทำCSRของภาคส่วนต่างๆเข้ามาร่วมสมทบด้วย
และ2.สภาพแวดล้อมในสังคม มีกฎหมายเกี่ยวกับการกําหนดสิ่งอํานวยความสะดวกในอาคาร ที่แต่ละอาคารสถานที่จะต้องมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่จอดรถ ทางลาด ราวจับ เมื่อมีกฎหมายกำหนดและทุกภาคส่วนร่วมกันปฏิบัติ ก็เป็นการร่วมกันดูแลสังคม
เดย์แคร์สูงวัยในสถานประกอบการ
นอกจากนี้ การจะสร้างสังคมไทยเป็นเมืองที่ดีต่อใจวัยเกษียณนั้นต้องสร้างทั้ง 2 ส่วน คือ 1.ผู้สูงอายุและครอบครัว ต้องเตรียมตัวเองพร้อมทั้ง 4 มิติ และ2.ชุมชนและสังคม ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุและเตรียมการครอบคลุมให้รองรับทั้ง 4 มิติเช่นเดียวกัน อาทิ มีช่องฟาสต์แทร็คให้ผู้สูงอายุในการรับบริการ มีจิตอาสาพาผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวไปรพ. มีผู้บริบาลดูแลต่อเนื่องระยะยาว สร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัย
“สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่และอยากขอสนับสนุนจากสถานประกอบการ ด้วยการจัดสวัสดิการ เปิดพื้นที่จัดตั้งเดย์แคร์ผู้สูงวัย เหมือนกรณีเดย์แคร์เด็กเล็ก รองรับพ่อแม่พนักงาน เพื่อให้มาทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน ไม่ให้ลูกเป็นกังวลหากพ่อแม่อยู่คนเดียว ไม่ต้องจ้างคนดูแลราคาแพงหรือไม่ต้องลาออกจากงานไปดุแลพ่อแม่”น.ส.แรมรุ้งกล่าว
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมาย แต่อยากเชิญชวนผู้ประกอบการมาร่วมกันคิด ทั้งนี้ จะมีการนำร่องก่อนที่กระทรวงพม. เพื่อให้การดูแลพ่อแม่ของเจ้าหน้าที่ และเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานต่างๆ
สังคมต้องตระหนักคุณค่าสูงวัย
ท้ายที่สุด น.ส.แรมรุ้ง กล่าวว่า สังคมต้องตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ต้องเข้าใจถึงการเป็น “ศูนย์รวมใจของครอบครัว” ที่ผ่านมากรมได้เสนอครม.ให้เรื่องการดูแลและการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงวัยเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งในส่วนการอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ กรมดำเนินการให้ความรู้และสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างวัยในครอบครัว และสังคม เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยให้ได้มากที่สุด
“ไม่ใช่บอกแต่คนรุ่นใหม่ให้เข้าใจผู้สูงอายุ เคารพท่าน แต่ต้องแนะนำผู้สูงอายุด้วยว่าต้องเปิดใจและเข้มแข็งมากขึ้น ส่วนเด็กรุ่นใหม่ต้องเอื้ออาทรมากขึ้น เพื่อจะอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุได้อย่างดีที่สุด”น.ส.แรมรุ้งกล่าว
กรมกิจการผู้สูงอายุมีการรณรงค์ล่าสุดเรื่องการสื่อสารด้วยความรักที่สามารถทำได้ทุกวัน โดยก้ม กราบ กอดผู้สูงอายุในบ้านทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่น แทนที่เด็กจะก้มแต่จิ้มหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์อย่างเดียว
นอกจากนี้ มีหลักสูตรการเตรียมความพร้อมก่อนเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการพูดถึงเรื่องการสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ลดช่องว่างระหว่าง ในการสร้างสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ