กรมอุตุ เผย ไทยเข้าสู่ ‘ลานีญา’ แล้ว ครึ่งปีหลังฝนตกหนัก ฤดูหนาวอุณหภูมิลดลง
กรมอุตุนิยมวิทยา เผยอากาศวันนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” แล้ว ในช่วง ก.ค.- ก.ย. 67 ต่อเนื่องไปจนถึง ธ.ค. 67 ถึง ก.พ. 68 ทำให้ครึ่งปีหลังมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ฤดูหนาวปีนี้อุณหภูมิจะลดต่ำลงกว่าปีที่แล้ว พร้อมไขข้อสงสัยลานีญา คืออะไร ผลกระทบของต่อปริมาณฝนในไทย
กรมอุตุนิยมวิทยา เผยอากาศวันนึ้ ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” แล้ว ในช่วง เดือน ก.ค.- ก.ย.67 ต่อเนื่องไปจนถึง ธ.ค. 67 ถึง ก.พ. 68 ทำให้ครึ่งปีหลังมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับฤดูหนาวปีนี้อุณหภูมิจะลดต่ำลงกว่าปีที่แล้ว
นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า "ปรากฏการณ์เอนโซ"อยู่ในสภาวะปกติ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรในเดือนที่ผ่านมาเย็นลงเกือบทั่วทั้งบริเวณ สำหรับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาต่างจากค่าปกติประมาณ -0.9 ถึง 0.5 องศาเซลเซียส
คาดว่า ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกตินี้จะเปลี่ยนเข้าสู่สถาวะ “ลานีญา” ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงพฤศจิกายน 2567 ถึงมกราคม 2568
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบริเวณประเทศไทยตอนบนในเดือน กรกฎาคม สิงหาคม และตุลาคม จะมีฝนมากกว่าปกติบางพื้นที่ ส่วนเดือนอื่นๆจะใกล้เคียงค่าปกติ สำหรับภาคใต้จะมีฝนต่ำกว่าค่าปกติในช่วงเดือนสิงหาคม ส่วนเดือนอื่นๆจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย
สำหรับอุณหภูมิในช่วง กรกฎาคม สิงหาคม และตุลาคมคาดว่า ทั้งอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดจะสูงกว่า ค่าปกติ 0.2-1.0 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วง 3 เดือนหลัง คาดว่า ทั้งอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย
ทั้งนี้ เปรียบเทียบกับปี 2566 ปริมาณฝนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปีนี้คาดว่า จะมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนในเดือนกันยายนและพฤศจิกายน คาดว่า จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนในเดือนตุลาคมและธันวาคม คาดว่า จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
สำหรับอุณหภูมิเมื่อเทียบกับปี 2566 คาดว่า ทั้งอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย
ลานีญา คืออะไร
ลานีญา มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันหลายชื่อ เช่น น้องของเอลนีโญ (El Niño’s sister) สภาวะตรงข้ามเอลนีโญ (anti–El Niño หรือ the opposite of El Niño) สภาวะที่ไม่ใช่เอลนีโญ (non El Niño) และฤดูกาลที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเย็น (season with cold SSTs) เป็นต้น (Glantz, 2001) แต่ทั้งหมดไม่ว่าชื่อใดจะมีความหมายเดียวกัน คือ
ปรากฏการณ์ที่กลับกันกับเอลนีโญ กล่าวคือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าต่ำกว่าปกติ เนื่องจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวซึ่งเดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้วยิ่งมีอุณหภูมิและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก ปรากฏการณ์ลานีญาเกิดขึ้นได้ทุก 2 – 3 ปี และปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9 – 12 เดือน แต่บางครั้งอาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี
ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากลานีญา
ผลกระทบของลานีญาต่อปริมาณฝนและอุณหภูมิในประเทศไทย
จากการศึกษาสภาวะฝนและอุณหภูมิของประเทศไทยในปีเอลนีโญ โดยใช้วิธีวิเคราะห์ค่า composite percentile ของปริมาณฝน และ composite standardized ของอุณหภูมิในปีเอลนีโญ จากข้อมูลปริมาณฝนและอุณหภูมิรายเดือน ในช่วงเวลา 50 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ถึง 2543 พบว่า ในปีลานีญาปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่สูงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝนเป็นระยะที่ลานีญามีผลกระทบต่อสภาวะฝนของประเทศไทยชัดเจนกว่าช่วงอื่น และพบว่าในช่วงกลางและปลายฤดูฝนลานีญามีผลกระทบต่อสภาวะฝนของประเทศไทยไม่ชัดเจน
สำหรับอุณหภูมิปรากฏว่าลานีญามีผลกระทบต่ออุณหภูมิในประเทศไทยชัดเจนกว่าฝน โดยทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทุกฤดู และพบว่าลานีญาที่มีขนาดปานกลางถึงรุนแรงส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยสูงกว่าปกติมากขึ้น ขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติมากขึ้น
อ้างอิง : กรมอุตุนิยมวิทยา