ทำธุรกิจแฟชั่นให้ยั่งยืน เป้าหมาย'บูติคนิวซิตี้’
เราอยากให้คนที่ใส่เสื้อผ้าของเราใส่แล้วมั่นใจใส่แล้วมีความสุข เสื้อผ้าเราไม่มีเจน แต่ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ไปคือกาลเทศะใส่แล้วมั่นใจมีความสุข
KEY
POINTS
- เราอยากให้คนที่ใส่เสื้อผ้าของเราใส่แล้วมั่นใจใส่แล้วมีความสุข เสื้อผ้าเราไม่มีเจน แต่ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ไปคือกาละเทศะใส่แล้วมั่นใจมีความสุข
- การบริหารธุรกิจแฟชั่นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เดินไปในแนวทางการทำธุรกิจแฟชั่นบนความยั่งยืน
- สิ่งที่บูติคนิวซิตี้ต้องการมากๆ คือ เด็กรุ่นใหม่ๆที่มี growth mindset ไม่จำกัดอายุ เพศ ขอเพียงสิ่งเดียวที่ต้องมีคือ “ทัศนคติ” ที่จูนกันได้
กว่า 5 ทศวรรษที่“บูติคนิวซิตี้”ธุรกิจเสื้อผ้าในเครือสหพัฒน์ ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสตรีสำเร็จรูปรายแรกๆของไทย
ปัจจุบันผลิตยูนิฟอร์มมากกว่า 100 บริษัท ผู้สวมใส่ 1 แสนคนต่อปี เสื้อผ้ากว่า 30 ล้านชิ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “THE FUTURE OF SUSTAINABLE FASHION” ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ Green Industry ตั้งแต่กระบวนการผลิต และนำส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การมีผู้บริหารที่เริ่มต้นมาจากฝ่ายการผลิตสินค้า ทำให้รู้จักเนื้อผ้า ขนวนการผลิต รวมทั้งดีไซเนอร์ เมื่อผสมผสานกับการถูกปลูกฝังว่า การทำเสื้อผ้า ต้องทำให้ผู้สวมใส่ ดูดี มีความสุขสร้างความมั่นใจให้กับผู้สวมใส่ จากคุณแม่ (ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการ บูติคนิวซิตี้) เป็นเบ้าหลอมทำให้ “บูติคนิวซิตี้”อยู่รอดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมาย
ผลของการเข้ามาเรียนรู้งานด้านธุรกิจเสื้อผ้าตั้งแต่ปี 2540 หลังจากจบการศึกษา ทำให้่ได้ฝึกฝนและเข้าใจ วันนี้ “ประวรา เอครพานิช” นั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร นำพา เจน X กับ Y กว่า 500 ชีวิต ในองค์กรก้าวเดินไปพร้อมกัน โดยยึด Customer First ต้องตอบสนองลูกค้า, Timless Design ต้องเน้นคุณภาพ ใช้งานได้นาน, Circular Economy ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และ Keep Learning เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ หาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘บูติคนิวซิตี้’ปรับทัพธุรกิจแฟชั่น ตั้งรับทุกปัจจัยโตแกร่งอย่างยั่งยืน
บูติคนิวซิตี้ ขยายปีกสาขา รุกทำเล กทม. ชูกรีนสโตร์ เคลื่อนทัพอาณาจักรแฟชั่น
เสื้อผ้าไม่มี“เจน”เน้นใช้สอย
“กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงหลักการบริหาร ที่ “ประวรา" จะนำพาองค์กรไปสู่ธุรกิจแห่งความยั่งยืน คือการพูดคุยสื่อสารเรื่องสำคัญมากๆ ทีมงานต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายที่จะเดินไปสู่ Green Industry ตั้งแต่กระบวนการผลิต และนำส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอีกเรื่องที่ต้องทำ คือการฟัง เพราะแม้ว่าจะเป็นผู้บริหารแต่บางครั้งบางเรื่องเราอาจจะไม่ได้รู้รายละเอียดไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นการฟังก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจ
พนักงานส่วนใหญ่เป็นเจน X และเจน Y เพราะช่วงโควิด-19 ช่วย Lean องค์กรไปได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะพนักงานขายส่วนออฟไลน์ในช่วงที่ห้างปิดทำการ พนักงานที่เหลืออยู่จึงล้วนเป็นพลังขับเคลื่อนให้ "บูติคนิวซิตี้" เดินต่อไปอย่างมั่นคง โดยยึดหลักการทำงานที่สำคัญที่สุดคือพนักงานทุกคนต้องทำให้ดีและมีความสุข เมื่อคนทำงานมีความสุข เขาจะส่งต่อความสุขนั้นไปให้ลูกค้าได้ในที่สุด
“เราอยากให้คนที่ใส่เสื้อผ้าของเราใส่แล้วมั่นใจใส่แล้วมีความสุข เสื้อผ้าเราไม่มีเจน แต่ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ไปคือกาละเทศะใส่แล้วมั่นใจมีความสุข ดังนั้นการออกแบบในการสวมใส่ จึงเน้นทำสินค้าให้คุณภาพ มีความหลากหลายทำให้ทุกคนใส่แล้วดูดีในทุกวาระโอกาสและอายุ ตอบสนองความต้องการของคนได้ทุกเพศทุกวัย และทุกไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและใช้ได้นาน”
ปรับเปลี่ยน ทำธุรกิจแฟชั่นบนความยั่งยืน
“ประวรา" กล่าวว่าการปรับเปลี่ยนและ Lean องค์กรที่ผ่านมาทำให้ “บูติคนิวซิตี้” สามารถประหยัดเวลาได้มากขึ้น ต้นทุนไม่เพิ่ม ประกอบกันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการประชุม Discord อยู่บน Canva ช่วยลดค่ากระดาษ และปรับกระบวนการทำงานลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เป็นการประหยัดพลังงาน ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย จากการจัดเซ็กเม้นท์ไม่ให้ทับซ้อน และปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เดินไปในแนวทางการทำธุรกิจแฟชั่นบนความยั่งยืน
รวมทั้งกระบวนการผลิต ฝ่ายดีไซเนอร์ต้องออกแบบให้ใช้สอยอย่างคุ้มค่า ถ้าเหลือผ้าแล้วนำไปต่อยอดได้ทุกอย่างต้องทำออกแล้วสวยงาม เพราะคือสิ่งสำคัญที่ผู้สวมใส่ต้องการและไม่เหลือทิ้งไว้ในโลกนี้ เป็นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเน้นการเติมความสุขให้กับผู้สวมใส่โดยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย
ยอมรับว่า“บูติคนิวซิตี้” ก็ต้องเดินไปในอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งปลายทางคือ “ผู้บริโภค” จึงต้องสร้างความเข้าใจทั้งออฟไลน์และออนไลน์ว่า เรากำลังสร้างชิ้นงานที่ดีให้กับพวกเขา และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม รักษ์โลกของเราได้อีกด้วยเชื่อว่า เมื่อผู้บริโภคเข้าใจ เขาก็จะซื้อสินค้าของเรา ในวางอนาคตยังวางแผนว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEsให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อีกด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะ 3-5 ปี
ประธานกรรมการบริหาร'บูติคนิวซิตี้’ อธิบายว่าการบริหารธุรกิจแฟชั่นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะแฟชั่นเป็นเรื่องของศิลปะ ซึ่งคนในองค์กรมีความจำเป็นต้องใช้ศิลปะในการทำให้คนอื่นมีความสุข โดยที่คนทำก็ต้องมีความสุขไปด้วย พร้อมๆกันคัดเลือกพาร์ทเนอร์ที่มีแนวคิดตรงกัน มาร่วมกันเปลี่ยน Fashion is Waste มาสู่ความยั่งยืนตั้งแต่จุดเริ่มต้น ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำทรัพยากรส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้ง Upcycle และ Recycle ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายลดขยะเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเป็นศูนย์ ด้วยระบบ Zero Waste Process
เริ่มจากการเลือกซื้อผ้า การตัดเย็บผ้า 100 % เป็นเสื้อผ้าได้ 80 % และที่เหลือนำไป อัพไซเคิล 15 % ขณะเดียวกัน การรีไซเคิล 5 % คือ แปรรูปสิ่งที่เหลืออยู่ เพื่อกลับมาใช้ใหม่ เกิดโครงการ Re-Loop Collection โดยการใช้ผ้า Recycle ที่ร่วมมือกับ SC GRAND
ผู้ผลิตผ้ารีไซเคิลแบบไม่ฟอกย้อมที่ลดการใช้สารเคมีและลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม นำผ้า 5 % ที่เหลือจากการผลิตในรอบแรกมาสร้างเป็นผ้าผืนใหม่ที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ อีกทั้งยังส่งเสริมเรื่องของความเท่าเทียมกับโปรเจกต์ GSP X Alex ที่ได้ร่วมออกแบบกับศิลปินเด็กพิเศษ
เน้นส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ในรูปแบบ Sustainability Fashion ตั้งแต่เลือกวัตถุดิบ การใช้เครื่องจักร รูปแบบการตัดเย็บ การย้อม การพิมพ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะจากขั้นตอนการผลิต พร้อมทั้งควบคุมต้นทุน เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีในรูปแบบ สวยงามและใช้ได้ยาวนาน
คุณลักษณะ“พนักงาน”ที่ต้องการ
แม้ว่าพนักงานส่วนใหญ่จะเป็นเจน X และ Y แต่ 'บูติคนิวซิตี้’ ก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจธุรกิจ “แฟชั่น”เข้าร่วมงาน โดยไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัด เพศ ขอเพียงสิ่งเดี่ยวที่ต้องมีคือ “ทัศนคติ” ที่จูนกันได้ เบื้องต้นจะเลือกพนักงานเจนใหม่จากเรซูเม่ที่ส่งมาสมัครงาน เมื่อผ่านการคัดเลือก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแล้ว ก็จะเปิดโอกาสให้ทำงาน พร้อมบอกว่า ให้ทำตัวกลม ๆที่สามารถ “คลิ๊ก”ไปทำงานสายงานอื่นๆไปตามความเหมาะสมของโลกที่เปลี่ยนไป
“ที่ต้องการมากๆเลยคือ เด็กรุ่นใหม่ๆที่มี growth mindset ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นในการทำงานของโลกสมัยใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ challenge สำหรับผู้บริหารอย่างเรา ที่จะทำอย่างไรที่จะทำให้คนรุ่นใหม่รักเรา และอยู่กับเรานานๆ เพราะเรื่องคนก็เป็นความเสี่ยงขององค์กรเช่นกัน อยากให้ทุกคนกล้าลองทำในสิ่งที่อยากทำเลย ไม่ต้องกลัวว่าจะผิด ถ้าผิดก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ส่วนพนักงานเจน X และเจน Y ก็สนับสนุนให้เติมทักษะด้าน AI และทักษะการคำนวณ"