แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน

รัฐพล ทองดี ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ครามพล (Kram Phon) ผู้พาแฟชั่นผ้าไทยกลิ่นไอทุนวัฒนธรรมอีสานไปไกลถึงเวียนนาแฟชั่นวีค 3 ปีซ้อน เผยเหตุใดออกแบบคอลเลคชั่น ‘หมอลำ’ เข้าร่วมแสดงใน ‘เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567’ ทั้งที ทำไมไม่ระยิบระยับ สีสันไม่ฉูดฉาด

เสื้อผ้าแฟชั่นคอลเลคชั่นนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า หมอลำ (Morlam) จัดแสดงอยู่ในพื้นที่ อีสานโชว์เคส (Isan Showcase) ของ “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567” หรือ Isan Creative Festival 2024 (ISANCF2024)

อีสานโชว์เคส คือพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่สะท้อนพลัง ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ผสมผสาน ‘ภูมิปัญญาอีสาน’ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยผลงานสร้างสรรค์จากดีไซเนอร์กว่า 40 ผลงานทั่วภาคอีสาน

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน เสื้อผ้าอันสวยงามของศิลปินวงหมอลำ

หากกล่าวถึง ‘หมอลำ’ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงเครื่องแต่งกายของหมอลำที่มีสีสันฉูดฉาดและความระยิบระยับเป็นประกายแวววาวของวัสดุตกแต่ง กลายเป็นภาพจำของ ‘หมอลำ’ 

แต่เสื้อผ้าใน ‘คอลเลคชั่น หมอลำ’ คือการนำเสนออีกหนึ่งแนวคิดของดีไซเนอร์

“ผมย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นของหมอลำ ซึ่งเป็นหมอลำพื้นบ้าน เขาสวมใส่เสื้อผ้าอย่างไรกันบ้าง” รัฐพล ทองดี ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ ครามพล ( Kram Phon ) ผู้ออกแบบคอลเลคชั่น ‘หมอลำ’ ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’

รัฐพล กล่าวว่า เครื่องแต่งกายดั้งเดิมของหมอลำพื้นบ้านคือ ผ้าซิ่น และ ผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นผ้าทอจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน จึงนำผ้าดังกล่าวมาเป็นวัสดุหลักของคอลเลคชั่น ‘หมอลำ’

“ปัจจุบันเมื่อพูดถึงหมอลำ เราจะคิดถึงความสนุกสนาน ผมก็เลยทำชุดออกมาให้มีความสนุกสนาน แต่แฝงไปด้วยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของหมอลำ”

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน รัฐพล ทองดี กับเสื้อคลุมคอลเลคชั่น หมอลำ

คอลเลคชั่น ‘หมอลำ’ ที่นำมาจัดแสดงมีด้วย 4 ชุด ชุดแรกเป็นเสื้อคลุมแขนยาวตกแต่งให้สนุกด้วยนำ ผ้าขาวม้า ซึ่งสมัยก่อนสตรีนิยมใช้พาดบ่า ผู้ชายไว้มัดเอว มาแยกส่วนแล้วถักเป็นเปียเส้นเล็กๆ

จากนั้นเย็บขดเป็นลวดลายบนตัวเสื้อที่ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้าย แซมด้วยเส้นใยที่ใช้ทอผ้าขาวม้าปล่อยทิ้งตัวเป็นเส้นยาวกรุยกรายให้เสื้อดูสนุกมากขึ้น ได้แรงบันดาลใจจากเสื้อผ้าหางเครื่องหมอลำที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า แดนเซอร์

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน คอลเลคชั่นหมอลำ ไอเดีย zero waste

ชุดที่สองเป็นเสื้อกับกางเกงเน้นสีดำและสีน้ำเงิน สะท้อนถึง ‘กลางคืน’ ช่วงเวลาที่หมอลำส่วนใหญ่เปิดการแสดง แต่เพิ่มสีสันรูปทรงดอกไม้ที่มักปรากฏบนเวทีหมอลำ ตกแต่งเพิ่มให้ชุดดูเด่นขึ้น

เสื้อผ้าชุดที่สองมีความน่าสนใจตรงตัดเย็บด้วยผ้าไหมทั้งเสื้อและกางเกง แต่เป็น เศษผ้าไหม ที่เหลือจากการแปรรูป ตัวเสื้อและกางเกงมีลักษณะคล้ายการอัดพลีต แต่ไม่ใช่

“ชุมชนในขอนแก่นแปรรูปผ้าไหมกันเยอะ เราไปขอซื้อเศษผ้าไหม แล้วนำมาเย็บเป็นเกล็ด ถ้าเราเย็บเกล็ดเอง ก็สามารถกำหนดระยะความถี่ห่างของเกล็ดแต่ละเส้นตามต้องการได้ ซึ่งต่างจากการอัดพลีตที่เท่ากัน เด็กน้อย(วัยรุ่น)ไม่ใส่ชุดผ้าไหมเพราะขี้เกียจรีด เราก็เลยทำเสื้อให้มีลักษณะยับๆ แบบนี้ไปเลย” รัฐพล กล่าว

ส่วนที่ตกแต่งเป็น ‘ดอกไม้’ ตัดเย็บด้วย เศษผ้าฝ้ายเหลือทิ้ง จากการตัดเย็บเสื้อผ้าของร้านตัดเสื้อใกล้บ้านดีไซเนอร์ รับซื้อมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานใหม่ ดีกว่าปล่อยให้ร้านตัดเสื้อกวาดทิ้งไปเปล่าๆ 

ชุดนี้เปรียบเสมือนการร่วมสนับสนุน Zero waste แนวคิดมุ่งเน้นไปที่การลดปริมาณขยะที่สังคมสร้างขึ้น นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อทำให้ของเหลือใช้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนกลายเป็นขยะที่ต้องนำไปกำจัด

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน เสื้อคลุมย้อมสีครามอ่อน

เสื้อผ้าชุดที่สามเป็นเสื้อคลุมสีครามอ่อนทรงเท่ ตกแต่งให้สนุกขึ้นด้วยการปักประดับเป็นลายเส้นรูปดอกไม้และดอกหญ้า

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน เชิดชูงานปะชุนผ้า

ชุดที่สี่เป็นเสื้อแจ๊กเก็ตและกางเกงขายาวทรงหลวม เชิดชูศิลปะงานฝีมือการ ปะชุนผ้า ของคนรุ่นปู่ย่าตายาย หากผ้าซิ่นชำรุดเป็นรู ก็จะนำมาเศษผ้ามาเย็บปะชุน เพื่อสวมใส่ได้ต่อไป

คอลเลคชั่น หมอลำ ของแบรนด์ ‘ครามพล’ ซึ่งจัดแสดงในพื้นที่ อีสานโชว์เคส (Isan Showcase) ของเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567 เพียงเปิดให้เข้าชมวันแรก มีผู้จองซื้อเสื้อคลุมที่ตกแต่งด้วยผ้าขาวม้าถักเปียไปแล้ว

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน หมอลำพื้น ใช้ผ้าขาวม้าเป็นอุปกรณ์การแสดง มีแคนและกลองเป็นเครื่องดนตรี ต้นกำเนิดหมอลำปัจจุบัน

ศิลปะการแสดง หมอลำ เป็นมากกว่าการแสดงพื้นบ้าน แต่เป็นดั่งวิถีชีวิตและมรดกอันล้ำค่าของชาวอีสานที่มีรากเหง้ามาช้านาน

หมอลำ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการร่ายลำ ใช้ศิลปะการขับร้องผสมท่วงทำนอง เปรียบเสมือนผู้คนและเสียงเพลงที่สืบทอดแนวคิด ประเพณีวัฒนธรรม ผ่านการบรรเลงขับขานเรื่องราวมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน

‘คอลเลคชั่น หมอลำ’ จึงได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่คุณค่าเหล่านั้น โดยร้อยเรียงเป็นเรื่องราวใหม่ในบทเพลงยุคสมัยนี้ และหลอมรวมเข้ากับการออกแบบแฟชั่นย้อมครามร่วมสมัย เพื่อสะท้อนแนวคิดของคน 2 รุ่นที่เติบโตแตกต่างกัน แต่เชื่อมโยงกันด้วยบทเพลงแห่งภูมิปัญญา

 

ครามพล (Kram Phon)

ครามพล (Kram Phon) เป็นแบรนด์แฟชั่นไทยที่ได้รับเลือกให้ไปเปิดการแสดงแฟชั่นโชว์ในงาน MQ Vienna Fashion Week ประเทศออสเตรีย 3 ปีติดต่อกัน

MQ Vienna Fashion Week (เอ็มคิว เวียนนา แฟชั่น วีค) เป็นเวทีในอุดมคติและเป็นศูนย์กลางระดับนานาชาติสำหรับนักออกแบบและผู้แสดงสินค้า ครีเอทีฟ บล็อกเกอร์ แฟชั่นโชว์ กิจกรรมเสริม และนิทรรศการแฟชั่น ซึ่งจัดขึ้นภายในเต็นท์หน้า Museums Quartier ในกรุงเวียนนา 

ผลงานแฟชั่นที่รัฐพลนำไปแสดงในงาน MQ Vienna Fashion Week ครั้งแรก สร้างสรรค์โดยมีแรงบันดาลใจจาก สัตว์มงคลประจำทิศของภาคอีสาน 

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน

Kram Phon คอลเลคชั่น ฮูปแต้ม วัดไชยศรี แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน Kram Phon คอลเลคชั่น ฮูปแต้ม วัดไชยศรี (credit: FB/ผ้าย้อมคราม. By KRAM PHON)

ครั้งที่สอง เป็นคอลเลคชั่นที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ฮูปแต้ม หรือจิตรกรรมฝาผนังภายใน ‘สิม’ (พระอุโบสถในภาษาพื้นถิ่นของชาวอีสาน) ของ วัดไชยศรี ตำบลสาวะถี อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

จิตรกรรมฝาผนังภายในสิมของวัดไชยศรี ได้รับการกล่าวขานว่าสวยงามแปลกตา เขียนด้วย สีฝุ่นโทนคราม ซึ่งเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ มองสบายตา ลักษณะการเขียนภาพเน้นสัดส่วนเกินจริง อารมณ์ภาพดูสนุกสนาน 

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน

ครามพล (Kram Phon) คอลเลคชั่นผีขนน้ำ แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน ครามพล (Kram Phon) คอลเลคชั่นผีขนน้ำ (credit: FB/ผ้าย้อมคราม. By KRAM PHON)

ครั้งที่สาม พ.ศ.2566 รัฐพลนำคอลเลคชั่นที่สร้างสรรค์ขึ้นจากประเพณีท้องถิ่นในจังหวัด ‘เลย’ ซึ่งอยู่ในภาคอีสานตอนบน นั่นก็คือ ผีขนน้ำ เข้าร่วมแสดงในงาน MQ Vienna Fashion Week

ผีขนน้ำ หรือ ‘แมงหน้างาม’ เป็นประเพณีท้องถิ่นของบ้านนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมไทพวนที่สืบทอดมาจากอาณาจักรล้านช้าง

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเพณีการละเล่นแมงหน้างาม คือผู้เล่นจะสวมหน้ากากรูปหน้าควายที่มีรอยยิ้ม

รัฐพลให้สัมภาษณ์ว่า คอลเลคชั่นผีขนน้ำได้รับความสนใจมากภายในงาน MQ Vienna Fashion Week 2023 เสื้อผ้าทุกชุดที่นำไปแสดง ขายหมดภายในงาน

เสื้อผ้าแบรนด์ ครามพล คอลเลคชั่นที่ผ่านๆ มา วางจำหน่ายในราคาระหว่าง 1,200 - 9,500 บาท/ชิ้น

เป็นเครื่องแสดงได้ว่าแฟชั่นที่ต่อยอดจากศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทย สร้างมูลค่าและผลสำเร็จได้ในระดับสากล ตอกย้ำความเป็น Soft Power ไทย

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน รัฐพล ทองดี ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ ครามพล (Kram Phon)

รัฐพล ทองดี เกิดที่อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น เมื่อสำเร็จการศึกษาสาขาออกแบบแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้เข้าทำงานสายการตลาดในบริษัทเอกชน 2-3 ปี

ด้วยใจรักในงานออกแบบแฟชั่น จึงออกแบบเครื่องแต่งกายส่งเข้าร่วมประกวดตามเวทีต่างๆ อาทิ เคยได้ร้บ รางวัลชนะเลิศออกแบบผ้าไหม 2 ปีติดต่อกันของกรมหม่อนไหม ได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ในงานผ้าไทยใส่สบาย ของกระทรวงวัฒนธรรม กระทั่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใหญ่หลายท่านไว้วางใจให้ตัดเสื้อผ้าให้

ในที่สุด รัฐพลจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำกลับบ้านเกิดมาทำงานดีไซเนอร์เต็มตัว ก่อตั้งแบรนด์เป็นของตนเองชื่อ ครามพล (Kram Phon) เมื่อปีพ.ศ.2562 เน้นคอนเซปต์ใช้ ‘ผ้าไทย’ กับการออกแบบตัดเย็บให้เป็นวัยรุ่นมากขึ้น 

แฟชั่นเชิดชูจุดเริ่มต้น ‘หมอลำ’ ครามพล (Kram Phon) จัดเต็มทุนวัฒนธรรมอีสาน ทางเข้าพื้นที่นิทรรศการ อีสานโชว์เคส 2024

ผู้สนใจสามารถเข้าชม คอลเลคชั่นหมอลำ ของ รัฐพล ทองดี และผลงานของนักออกแบบทั่วภูมิภาคอีสานท่านอื่นๆ ในนิทรรศการ อีสานโชว์เคส (Isan Showcase) ของ “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2567” ได้ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.00 – 21.00 น. ณ ชั้น 2 TCDC ขอนแก่น

 

หมายเหตุ: อาทิตย์ กระจ่างศรี อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญซึ่งศึกษาประวัติความเป็นมาของศิลปวัฒนธรรมการแสดงหมอลำของภาคอีสาน  กล่าวถึงคำว่า หมอลำ ไว้ว่า หมายถึงผู้ร้องเพลงและมีการร่ายรำ 

แต่ใช้พยัญชนะ ล.ลิง ในคำว่า “ลำ” แทนที่จะเป็น “รำ” ร.เรือ  เนื่องจากคำว่า “ลำ” ในภาษาถิ่นอีสานแปลว่า “การร้อง”  

หมอลำ จึงหมายถึง ผู้มีความเชี่ยวชาญในการร้อง ขณะที่การร่ายรำเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การร้องมีความสุนทรีย์ในการรับฟังรับชมยิ่งขึ้น ถ้าสังเกตให้ดีในการแสดงหมอลำนั้น จุดเด่นอยู่ที่เสียงร้องที่ต้องน่าฟังและเล่าเรื่องได้น่าติดตาม