เช็กให้ชัวร์!ความต่างระหว่าง "ธุรกิจขายตรง" VS "แชร์ลูกโซ่"
สคช. วอนอย่ามองขายตรง เป็นแชร์ลูกโซ่! เตือนผู้บริโภคให้รู้เท่าทันใช้มาตรฐานอาชีพในการคัดกรอง พร้อมแยกแยะธุรกิจที่ถูกกฎหมาย และธุรกิจที่แอบแฝงเข้าข่ายผิดกฎหมายได้
น.ส.จุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงกรณีพบผู้เสียหายจำนวนมากจากการเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ จนเกิดกระแสกระทบกับอาชีพธุรกิจขายตรงว่า ที่ผ่านมาสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ สมาคม สมาพันธ์ คนในอาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมาตรฐานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรง
จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภคแยกแยะธุรกิจที่ถูกกฎหมาย และธุรกิจที่แอบแฝงเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ โดยผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นกับนักขายที่ได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ยอมรับว่าพฤติกรรมการฉ้อโกงเป็นพฤติกรรม และจิตสำนึกส่วนบุคคลและเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สคช.ย้ำผู้ขับขี่ต้องมีมาตรฐานอาชีพด้านความปลอดภัยในการทำงาน
ดิไอคอน กรุ๊ป จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง 'สมาคมการขายตรงไทย' แนะข้อตรวจสอบ
ธุรกิจแบบไหน? คือ "ขายตรง หรือ แชร์ลูกโซ่"
“ลักษณะการฉ้อโกงปัจจุบันมีหลากหลายแบบ เปลี่ยนเร็วจนบางครั้งประชาชนตามไม่ทัน สคช. เองในฐานะเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองคุณภาพการทำงานของคน ก็จัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจขายตรง เป็นเสมือนคัมภีร์จรรยาบรรณ กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการและนักขายที่ประกอบอาชีพสุจริต ซึ่งมีทั้ง อาชีพนักขาย อาชีพผู้สนับสนุนงานขาย อาชีพวิทยากร อาชีพผู้ประกอบการ ซึ่งคนในอาชีพนี้ต้องผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐาน ผ่านการประเมินตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อให้ได้รับการรับรอง จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคัดกรองให้กับผู้บริโภคได้อีกทางป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อคนโกง” น.ส.จุลลดา กล่าว
ด้าน ดร.สมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงและการค้าไทย ในฐานะคณะทำงานมาตรฐานอาชีพสาขาธุรกิจขายตรง วอนสังคมอย่ามองธุรกิจขายตรงในแง่ลบ หรือมองว่าเป็นธุรกิจแอบแฝง หรือแชร์ลูกโซ่ เพราะธุรกิจขายตรงเป็นการจำหน่ายสินค้าผ่านเครือข่ายที่ชัดเจนและได้รับการควบคุมตามกฎหมาย รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนก็มาจากการขายสินค้าผลิตภัณฑ์คุณภาพเท่านั้น ไม่เน้นรับผลตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่
โดยมาตรฐานการจ่ายค่าตอบแทนสูงสุดไม่เกิน 50% ของยอดขายสินค้า ซึ่งชัดเจน โปร่งใสเป็นไปตามกฎหมายกำหนด หากมีธุรกิจใดที่ชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมโดยมุ่งเน้นการหาสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า เป็นสัญญาณเตือนว่าธุรกิจนั้นอาจเข้าข่ายธุรกิจผิดกฎหมายหรือแชร์ลูกโซ่
เตือนผู้บริโภคตรวจสอบใบอนุญาต "ธุรกิจขายตรง"
ดร.สมชาย ยังแนะนำผู้บริโภคให้ระวังป้องกันตนเองจากธุรกิจแอบแฝง โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบใบอนุญาต “ธุรกิจขายตรง” ซึ่งต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ในเบื้องต้นก่อนตรวจสอบรูปแบบการจ่ายผลตอบแทน เงื่อนไขการซื้อสินค้าที่ต้องไม่บังคับให้ซื้อมากเกินจำเป็น สินค้าต้องมีคุณภาพ ไม่เน้นสร้างรายได้จากการหาสมาชิกเข้าร่วมธุรกิจ หากมีข้อแตกต่างไปจากนี้อาจเข้าข่ายเป็นธุรกิจแอบแฝง หรือแชร์ลูกโซ่ได้ จึงควรตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนร่วมลงทุนและเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อนั่นเอง