DSI บุกค้นบริษัทเซิร์ฟเวอร์ 'บอสแล็ป' คาดเป็นระบบหลังบ้าน ดิไอคอน
เจ้าหน้าที่ DSI บุกค้น บริษัทเซิร์ฟเวอร์ ของ “บอสแล็ป” คาดเป็นระบบหลังบ้าน “ดิไอคอน กรุ๊ป” เร่งตรวจสอบข้อมูลเซิร์ฟเวอร์
วันนี้ (17 ต.ค. 67) ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ได้เข้าทำการตรวจค้น บริษัท เซิร์ฟริชจำกัด ภายในซอยรังสิต-นครายก 34/1 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
ซึ่งหลังจากได้รับแจ้งว่า เป็นบริษัทเครือข่ายของ ดิไอคอน กรุ๊ป ซึ่งมีบอสแล็ปเป็นเจ้าของ ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นอาคารสูง 3 ชั้น โดยจากการตรวจค้นภายใน พบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายเครื่อง แต่ไม่พบผู้ดูแล
ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวว่า วันนี้มาตรวจค้นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งได้มีผู้ให้เบาะแสมาว่า ในระบบหลังบ้านของ ดิไอคอน กรุ๊ป มีโปรแกรมเมอร์ ที่ทำหลังบ้านให้ โดยตอนนี้เราทราบว่าบอสแล็ป ถูกจับกุมแล้วตั้งแต่เมื่อวาน (16 ต.ค.2567) ถือว่าเป็น 1 ใน 18 ผู้ต้องหา แต่สิ่งสำคัญที่สุด เราต้องการหาข้อมูลระบบหลังบ้านของตัวบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จึงเป็นที่มาของการขอหมายศาล ขอหมายค้นที่จะเข้าตรวจค้นบริษัทที่ทางบอสแล็ป เป็นเจ้าของแล้วก็เป็นโปรแกรมเมอร์ด้วย
ซึ่งจากที่เราได้ร่วมตรวจค้นกับ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เห็นการวางของเซิร์ฟเวอร์ เห็นการวางแบบของพนักงานที่ทำไอที ตรงนี้มีรายชื่อ มีโคดต่างๆ ที่เข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งในขณะนี้เราได้พยายามตรวจยึดสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ที่จะนำไปใช้ในการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ในเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งทางบอสแล็ปได้ถูกจับกุมตัวเมื่อวานเราต้องการระบบหลังบ้านเขาด้วย จึงได้มาที่นี่
เราเห็นเลยว่า เป็นการทำงานของโปรแกรมเมอร์ แล้วก็มีทีมงานที่ใช้สถานที่นี้อยู่ ตอนที่เราเข้ามาตรงนี้ไม่มีใครอยู่ เราจึงได้ขอความร่วมมือจากผู้จัดการนิติบุคคล ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีที่นำตรวจค้น แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ที่มาให้เห็นด้วยว่าเราตรวจสอบด้วยความโปร่งใส และก็ให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำวันนี้ ต้องการให้เห็นว่ามันมีแผน มีการตลาดยังไง มีลักษณะที่เราต้องการที่สุด ความจริงว่าตรงนี้มันเข้าข่ายความผิดอย่างไร?
ส่วนกรณีที่นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมา เปิดเผยข้อมูลว่า หากดีเอสไอเข้ามาทำคดีนี้จะมีบุคคลคนหนึ่งในดีเอสไอ เข้ามาช่วยดูแลคดีเพื่อให้รับผิดทางกฎหมายน้อยลงนั้น
ร.ต.อ.วิษณุ ยืนยันว่า ปีที่ปรากฏเป็นข่าวคือปี 2563 ตอนนั้นตนเองเป็นผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกองคดีแชร์ลูกโซ่อยู่แล้ว ข้อมูลบางอย่างถูกจินตนาการต่างๆ นานา และตนเองยังได้ร่วมสอบปากคำพยานปากสำคัญ สิ่งสำคัญคือบางเรื่องเป็นเรื่องของบุคคลแต่ขออย่าให้เกิดผลกระทบต่อองค์กร บุคคลกับองค์กรต่างกัน ตนเองรักองค์กร หากมีข้อเท็จจริงที่บอกว่ามีข้าราชการของดีเอสไอเข้าไปเกี่ยวข้อง กับเรื่องที่ฟังแล้วไม่สบายใจ ก็สามารถเข้ามาให้ข้อมูลได้
ทางเรายินดีและมีทีมงานที่จะสืบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง หากเป็นบุคคลที่ทำให้องค์กรเสียหาย เราก็ไม่ยอมเช่นกัน พร้อมยืนยันว่าในปี 2563 ตนเองไม่ได้ดูหน้างานในส่วนของแชร์ลูกโซ่ แต่ดูคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงคดีนอมินี ส่วนที่ผ่านมาก็ไม่เคยระแคะระคายเรื่องเครือข่ายของ ดิไอคอน ตนเองเข้ามาในช่วงคดีแชร์ลูกโซ่คอนเซป์ซีรีส์ และแชร์ลูกโซ่ฟอเร็กกซ์ ทำให้ตระหนักรู้ว่าคดีแชร์ลูกโซ่อย่างไรก็ไม่หมดไป
การหาวิธีปราบปรามอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องป้องกัน ตั้งระบบเช็กลิสต์เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อ ซึ่งตนพยายามหาวิธีการไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ แต่เมื่อเกิดเรื่องแล้วนอกจากบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด ยังเน้นเรื่องการนำทรัพย์สินมาคืนผู้เสียหาย เช่นที่ผ่านมา ในคดีฟอเร็กซ์ได้ประสานงานกับ ปปง.อายัดทรัพย์สินคืนผู้เสียหายกว่า 600 ล้านบาท นับเป็นวงเงินที่สูงและเกิดความพอใจกับผู้เสียหาย ซึ่งการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเดียว ไม่เพียงพอแต่ต้องนำทรัพย์สินคืนผู้เสียหายด้วย
นอกจากนี้ตนเองก็อยากรู้ว่า บุคคลในดีเอสไอที่ถูกพาดพิงคือใคร ซึ่งได้พยายามพูดคุยกับสายลับ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นใครเช่นกัน เพียงแต่บอกว่าได้ยินมา แต่เมื่อมีคนพูดถึงเราก็ต้องตระหนักและหาข้อเท็จจริงให้ได้ ว่าเป็นใครมีตัวบุคคลตัวละครนั้นจริงหรือไม่?
เพราะไม่อยากให้องค์กร ได้รับผลกระทบเพราะเป็นเรื่องบุคคล และต้องหาคนที่ถูกกล่าวถึงมารับผิดชอบให้ได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธาในองค์กร ดีเอสไอสามารถพึ่งได้รวมถึงมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้