'คำวิจารณ์' เลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องฟังให้เป็น โดย อนิรุทธ์ ตุลสุข

“สองสิ่งที่คนหนีไม่พ้น คือ ความตายกับภาษี”
ถึงตอนนี้ สิ่งแรกยังคงเป็นความจริงอยู่ ส่วนสิ่งหลังนั้น หลายคนอาจชักลังเลว่า ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ไหม? (ฮา)
ก่อนจะชวนให้คิดไปไกล ขอพากลับมายังเรื่องหลักของคนทำงานกันก่อนดีกว่าครับว่า
จริงๆ แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนมิอาจเลี่ยงได้ นั่นคือ การโดนวิพากษ์วิจารณ์
คำวิจารณ์นั้นมีรูปแบบหลากหลาย คล้ายอวตารมาในคำแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นการวิจารณ์แบบซึ่งหน้า อย่าง การตำหนิ ติชม ฟีดแบค คหสต. (ความเห็นส่วนตัว) จนถึงการนินทาที่เป็นการวิจารณ์แบบลับหลัง กระทั่งการแซะ ฯลฯ
จริงๆ แล้ว ก็อาจจะมีคำเชิงบวกอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้ว คำวิจารณ์เหมือนดั่งยาขม ต่างจากคำชมที่ฟังแล้วหวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า คนทำงานหลายคนจึงสะดุ้งโหยง รู้สึกแหยง ทุกครั้งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามหลังจากการทำงานใดๆ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติครับ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว สมองของมนุษย์จะมีส่วนที่คอยระวังภัยที่จะเกิดกับร่างกายและจิตใจของเรา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทำงานยุค AI แล้วทำไมต้องฝึก “คิด” ? โดย อนิรุทธ์ ตุลสุข
แตกต่างอย่างเข้าใจ เมื่อใช้ Empathy ในการทำงาน โดย อนิรุทธ์ ตุลสุข
คำวิจารณ์ ถือเป็น “ภัยคุกคาม” แบบหนึ่ง แม้ไม่ทำอันตรายทางกายภาพตรงๆ แต่มันเฮิร์ตๆและเจ็บแปลบ เหมือนถูกมีดกรีดจิตใจกันทีเดียว
เช่น ในบางครั้งที่เราเชื่อมั่นว่าทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่ถ้ามีคนบอกว่า “คุณทำงานช้าไปนะ” หรือ “ดูเหมือนคุณนั่งเฉยๆ ไม่ขยันทำงานเลย” อาจถูกแปลความได้ว่า “คุณไม่มีความสามารถ” จนเสียความภาคภูมิใจในตนเอง และทำให้เรารู้สึกว่าต้องปกป้องตัวเอง เพราะคำวิจารณ์นั้นกระทบกับ ความเชื่อที่เรามีเกี่ยวกับตัวเอง (Self-Concept หรือ Ego)
นอกจากนี้ สมองของคนเรามีระบบที่คอยประเมิน สถานะ (Status) ในกลุ่ม หากเรารู้สึกว่าคำวิจารณ์ด้อยค่า จนดูแย่ในสายตาผู้อื่น สมองจะตอบสนองโดยการพยายามปกป้องศักดิ์ศรีของตนเอง เช่น ถ้าคุณถูกตำหนิต่อหน้าทีมงาน หรือ ต่อหน้าประชาชีในที่สาธารณะ จึงรู้สึกโกรธหรืออับอาย
ด้วยเหตุนี้ สมองจึงพยายามปกป้องตัวตนของเรา จึงกระตุ้นให้เกิดภาวะ สู้หรือหนี (Flight or Flight) ตามมา ไม่ว่าจะ ตั้งการ์ด รอซัด รอแซะกัน ทำไม่ทราบ เซื่องซึม ซมซาน หรือ ท้อถอยกับงานตรงหน้ากันไป
ดังนั้น หลายคนที่พูดว่า คนทำงานควรรับคำวิจารณ์ให้ได้ พอถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานกลับบ้างจนเสียอาการ ก็มีให้เห็นเยอะ
ถึงกระนั้น แม้รสชาติของมันจะขื่นขมเพียงใด แต่เราจะเพิกเฉย ไม่รับคำวิจารณ์เลยก็ไม่ได้อีกครับ
เพราะทุกคำวิจารณ์ล้วนเป็นฟีดแบ็ก เป็นข้อมูล ที่หลั่งไหลมาพร้อมกับโอกาสที่ทำให้เราได้เห็นจุดบอดของตัวเอง หากเรามองไม่เห็นจุดอ่อนนี้ และไม่พยายามปรับปรุง เราจะติดอยู่ในกับดักของ “Fixed Mindset” (ความคิดแบบตายตัว) จนทำให้คิดว่าตัวเองนั้นทำงานดีแล้ว และไม่อาจเติบโตไปข้างหน้าได้อีกเลย
หากเราเป็นพนักงานไม่รับฟีดแบ็กจากหัวหน้า งานก็จะไม่มีคุณภาพ และอาจส่งผลให้โอกาสก้าวหน้าหายไ
หากเราเป็นหัวหน้า ไม่รับฟีดแบ็กจากลูกน้อง หรือ คนอื่นที่ทำงานร่วมกัน โอกาสในการเป็นเติบโตเป็นผู้นำที่ดี ก็จะริบหรี่ไปเช่นกัน
ถ้างั้น เราต้องทำตามวิจารณ์ทุกเรื่องเลยหรือ? คำตอบ คือ “ไม่จำเป็น” ครับ เพราะไม่เช่นนั้น เราคงมีตอนจบไม่ต่างอะไรกับ “นิทานพ่อลูกจูงลา” แน่ แต่ควรพิจารณาและกลั่นกรอง ตามแนวทางนี้ครับ
1. ตั้งสติก่อน
นี่เป็นจุดแรกที่หลายคนจะพลาดและตกหลุมพรางทางอารมณ์ไปก่อน เพราะกลไกทางสมองที่ว่ามา จะทำให้เกิดป้องกันตัวทางจิตใจ (Defence mechanism) จนหาทางโต้ตอบผู้พูดกลับ ทำหูดับ หรือ หมดกำลังใจในการทำงาน
2. พยายามทำความเข้าใจ
ว่าตรงนี้ต้องมีทักษะการฟังอย่างตั้งใจ เพื่อแยก “น้ำ” ออกจาก “เนื้อ” ผู้พูดต้องการสื่ออะไร อะไรที่เป็นปัญหา และ “การถามเพื่อเข้าใจ” เพิ่มด้วย จึงจะช่วยให้ได้ข้อมูลหรือ เข้าใจตรงกันมากขึ้น
3. พิจารณาคำวิจารณ์นั้นเป็นจริงหรือไม่ และให้ประโยชน์อะไรบ้าง
ไม่ใช่ทุกคำวิจารณ์จะเป็นข้อเท็จจริง (fact) หรือมีประโยชน์ แต่ถึงอย่างนั้นยังไง ก็ควรขอบคุณผู้ให้ตามมารยาทแต่หากดูแล้วเป็นจริง และควรหาแนวทางการแก้ไข ถ้ามีผลกระทบตามมา
4. คิดวิธีการปรับปรุง
พยายามหาสาเหตุที่เป็นรากปัญหา หาข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม หรือระดมสมอง เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ติดตามผลการเปลี่ยนแปลง
โดยอาจจะสังเกตผลลัพธ์ หรือ ลองสอบถามเพื่อดูว่าปัญหาเหล่านั้น มีการพัฒนาแค่ไหน ปัญหาต่างๆ ลดลงไหม?
หากจะสรุปแบบง่ายๆ ก็เป็นดั่งคำของพระพุทธองค์ที่ว่า “ให้พิจารณาว่าที่เขาพูดเป็นจริงไหม ถ้าไม่จริงก็เป็นความไม่จริง ถ้าจริงก็ให้แก้ไข” เท่านั้นเองครับ
ชีวิตคนเราไม่อาจเลี่ยงคำวิจารณ์ไม่ได้หรอกครับ แม้ว่าจะทำงานดีเลิศ หรือ ไม่ทำงานอะไรเลยก็ตาม
ถึงอย่างนั้น เราก็ยังสามารถลดอาการดิ้นพล่านเดือดดาลกับคำวิจารณ์ทั้งหลายได้ แถมเอาข้อมูลที่มีประโยชน์มาใช้เพิ่มขึ้น แบบนี้ก็น่าจะคุ้มอยู่นะครับ?