หลงลืมแบบไหน...“อัลไซเมอร์” สมองเสื่อมป้องกันได้ไหม

หลงลืมแบบไหน...“อัลไซเมอร์”  สมองเสื่อมป้องกันได้ไหม

ลืมตามวัยกับลืมแบบ“อัลไซเมอร์”ต่างกันอย่างไร ป้องกันไม่ให้“สมองเสื่อม”ได้ไหม  และสัญญาณเตือนอัลไซเมอร์  คุณหมอมีคำอธิบายที่เข้าใจง่ายๆ  

บางคนลืมกุญแจ ลืมนั่นนี่โน้น พอค่อยๆ ไล่เรียง เมื่อคิดออกก็หาเจอ แบบนี้เรียกว่าหลงลืมตามวัย ถ้าหลงลืมแบบอัลไซเมอร์ จะลืมแบบคิดไม่ออกเลย  ยกตัวอย่างเอากุญแจไปใส่ตู้เย็นหรือทิ้งถังขยะ

“ดังนั้นคำว่าลืมง่าย อาจไม่ได้นำไปสู่โรคอัลไซเมอร์”  รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแพทย์ประจำศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าในกิจกรรมภาคประชาชนเรื่อง “ทำไมเมื่อสูงวัยเราจึงลืมง่าย”

 

 

 

อัลไซเมอร์ เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ

ถ้าอย่างนั้น...ลองเช็คดูว่า หลงลืมธรรมดากับหลงลืมสมองเสื่อมต่างกันอย่างไร

หลงลืมธรรมดา

-จำไม่ได้ว่าเอาปากกา กุญแจ สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันไปวางไว้ที่ไหน

-มีปัญหาเรื่องความจำเรื่องทั่วๆไป อาทิ ลืมชื่อคนที่นานๆ เจอกัน และลืมรายละเอียด

-มีปัญหาเรื่องความจำ แต่ความสามารถอื่นๆ ของสมองปกติ

 

 

หลงลืมแบบไหน...“อัลไซเมอร์”  สมองเสื่อมป้องกันได้ไหม

หลงลืมสมองเสื่อม

- จำไม่ได้ว่าเคยหยิบปากกาด้านนั้นมาก่อน ไม่ทันคิดว่าตนเองลืม

-เรื่องที่ไม่น่าลืม ก็จำไม่ได้ เช่น กินข้าวมาแล้ว ไปเที่ยวต่างจังหวัด งานแต่งงานลูกหลาน

-ความเสื่อมของสมอง ทำให้ความรอบรู้ความสามารถเรื่องอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไป

โปรตีนในสมองผิดปกติ

ปัจจุบันผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และสังคมก็ไม่ได้เตรียมพร้อมรองรับเรื่องเหล่านี้ 

อีก 20 ปีข้างหน้า คุณหมอโสฬพัทธ์ มองว่า ภาระการดูแลคนป่วยสมองเสื่อมต้องใช้คนดูแลเยอะและใช้เงินจำนวนมาก เรื่องนี้มีปัญหาเยอะ 

"อัลไซเมอร์ไม่น่ากลัว ถ้ามีคนดูแล แต่ใครจะรู้ได้ว่าเราจะมีคนดูแลหรือเปล่า จึงต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อมเพื่อป้องกัน แต่ใช่ว่าทำตามนั้นแล้วไม่เป็นอัลไซเมอร์  

อะไรที่ทำแล้ว ดีที่สุดก็ทำไปก่อน ถ้าคิดว่ามีอาการแล้วค่อยเปลี่ยนตัวเอง คงสายไปแล้ว เหมือนคนที่มาออกกำลังกายเมื่อรู้ว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ ไม่ทันแล้ว สมองก็เช่นกัน

การป่วยเป็นอัลไซเมอร์ บางทีก็เหมือนเบาหวาน อาการรุนแรงต่างกัน บางคนดูแลตัวเองดี ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เครียด ตั้งแต่อายุ 40 สุดท้ายอัลไซเมอร์อายุ 60 ไม่รู้ว่าพันธุกรรมหรือปัญหาอะไร บางคนสามารถดูแลตัวเองยืดการเป็นสมองเสื่อมไปที่อายุ 80-90 เราไม่รู้ว่าเราจะเป็นคนกลุ่มไหน"

อีกกรณีถ้าสูงวัยและมีภาวะซึมเศร้า เนื่องจากสารเคมีในสมอง จะทำให้สมองฝ่อได้เร็วขึ้น ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์ คุณหมอบอกว่า ทั้งเรื่องเครียด จิตตก ความผิดปกติของวงจรการนอน สิ่งที่เรารักษาไม่ได้คือความจำ 

ปัจจัยที่เลี่ยงได้และเลี่ยงไม่ได้

ปัจจัยเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้คือ อายุเยอะ พันธุกรรม และประวัติครอบครัว ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ปรับได้ คือโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ความดัน ไขมัน เบาหวาน คุณหมอโสฬพัทธ์ บอกว่าต้องดูแลให้ดี ถ้าเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง สมองส่วนฮิปโปแคมปัส(สมองกลีบขมับ ส่วนใกล้กลาง (medial temporal lobe) ของสมอง )ตายได้ กระตุ้นให้เกิดอัลไซเมอร์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม ศรีษะกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ และปัญหาไตตับเรื้อรัง

“บางคนเป็นอัลไซเมอร์เพราะกรรมพันธุ์ และการป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับความดัน เบาหวาน ความอ้วน กระตุ้นให้เกิดอัลไซเมอร์ได้

ยารักษาอัลไซเมอร์ ก็แค่ชะลอสมองเสื่อมได้ปีสองปี บางคนกินยาก็ไม่ได้ผล ยารักษาอัลไซเมอร์ที่กำลังจะมีมาใหม่ น่าจะคอร์สละสามล้าน รักษาได้เฉพาะคนอาการน้อย ยังมีผลข้างเคียง จึงยังไม่เป็นทางเลือก"

คุณหมอโสฬพัทธ์ บอกว่า พันธุกรรมที่สืบทอดมีผลต่อการเป็นอัลไซเมอร์ แต่ไม่รู้ว่ามีผลกระทบกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสิ่งที่ช่วยได้คือ การกินอยู่ใช้ชีวิตและใช้สมอง ถ้าฝึกสมองได้ก็ควรทำ

" มีนักวิจัยสวีเดนทำการศึกษาเรื่องนี้ 20-30 ปี อะไรเป็นปัจจัยป้องกันสมองเสื่อม ตอนเด็กๆ ให้เรียนเยอะๆ แต่สิ่งที่เรียนคือ ศิลปะ ดนตรี กีฬา เพื่อสร้างข่ายใยสมองเยอะๆ  หรือทำงานที่ใช้ความคิดซับซ้อน จะทำให้สมองแข็งแรง อายุ 60 ต้องนอนให้พอ นอนให้ดี การนอนให้ดีไม่มีตัวเลขระบุชั่วโมงการนอน ให้เข้านอนด้วยความสดชื่น 

มีการศึกษามากมายพิสูจน์ว่า การเข้ากลุ่มปฎิสัมพันธ์ต่างๆ ป้องกันสมองเสื่อมได้ ลดอาการและชะลอการเสื่อมได และเชื่อว่าช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของสมอง เพิ่มการทำงานในทุกส่วน

“ความสุขที่เกิดจากปฎิสัมพันธ์ เพิ่มสารเคมีดีๆ ในสมอง มีแม่ชีที่มีพี่น้องเป็นอัลไซเมอร์ แม่ชีไม่เคยนั่งนิ่งๆ คิดโน้นนี่ ทุกเวลาทำกิจกรรมการให้ จึงมีความปีติ ดีต่อสมอง หรือกิจกรรมที่ทำให้สมองเสื่อมช้า แปรงฟันข้างด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด ไปแคมป์ กินแซลมอน ปลาทู ดื่มกาแฟดำ ผักผลไม้จะกินระวังยาฆ่าแมลง มีความสุขทุกวัน คนอายุเยอะๆ การออกกำลังยังมีส่วนสำคัญ ช่วยได้

ถ้าบ้านไหนมีคนไข้อัลไซเมอร์กินข้าวไม่ตรงปาก เลอะเทอะ แต่งตัวช้า อย่าได้ถือสา เราไม่รู้ว่าวันหนึ่งเราจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่"

ในฐานะที่เป็นหมออัลไซเมอร์ อยากบอกว่า อัลไซเมอร์ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เป็นโรคที่ป้องกัน ได้ ถ้าเกิดขึ้นแล้วในครอบครัว เราสามารถอยู่กับคนที่เรารักและมีความสุขได้

หลงลืมแบบไหน...“อัลไซเมอร์”  สมองเสื่อมป้องกันได้ไหม 10 สัญญาณเตือนอัลไซเมอร์

 1. ลืมสิ่งที่เพิ่งพยายามจะทำ หรือเพิ่งเรียนรู้

แม้จะตั้งใจจำ แต่ลืม ใส่ใจแต่จำไม่ได้ ยกตัวอย่าง ถ้าจำไม่ได้ว่าจอดรถชั้นไหน อันนี้ไม่ใช่อัลไซเมอร์ เป็นเรื่องความไม่ใส่ใจ ถ้าเป็นอัลไซเมอร์ ทั้งๆ ที่พยายามใส่ใจ แต่จำไม่ได้

2. สิ่งที่เคยจัดการได้ ก็ทำไม่ได้เหมือนเดิม

เคยวางแผนจัดการแก้ปัญหาได้ดี ความสามารถการทำจะลดลง บางคนเคยทำอาหารได้ดี แต่ลืมใส่โน้นนี่ คุณหมอยกตัวอย่างคนไข้คนหนึ่งเป็นวิศวกร ลูกสังเกตว่า รื้อพัดลมแต่ประกอบไม่ได้ ทั้งๆที่ง่ายมาก หรือคนขายของมาทั้งชีวิต ทอนเงินไม่ถูกแล้ว 

3. ทำกิจวัตรเดิมไม่ได้ดี ทั้งเรื่องทำงาน งานอดิเรก

ยกตัวอย่าง เคยเปิดไมโครเวฟ หรือกดโทรศัพท์ได้ แต่ทำไม่ได้แล้ว

4.สับสนวันเวลา สถานที่

จำวันเวลาสถานที่ไม่ได้ บางคนขับรถเก่งมาก อยู่ๆ งงไปอีกซอย คุณหมอยกตัวอย่าง มีคนไข้อัลไซเมอร์ ยิ่งเดินยิ่งหลงทาง จำทางกลับไม่ได้ เดินไปเรื่อยๆ เป็นสาเหตุให้คนไข้อัลไซเมอร์หายจากบ้านเยอะมาก

5. ไม่เข้าใจสิ่งที่มองเห็น

อ่านเนื้อหาในหนังสือไม่เข้าใจ ประเมินระยะห่างสีแสงที่เห็นผิด กะระยะมิติความสัมพันธ์ไม่ได้ หลงทิศ

6. ภาษาการพูด เคยพูดเก่งก็พูดน้อยลง

นึกคำพูดไม่ออก สำนวนโวหารที่เคยพูดลดลง คนที่พูดภาษาที่สองได้ จะพูดไม่ได้ ทั้งๆ ที่เคยพูดคล่อง เพราะนึกคำไม่ออก

7.ความจำในการมองเห็นหายไป

ถ้าสูงวัยหลงลืมปกติ วางสิ่งของไว้ตรงไหน ลองค่อยๆ นึกก็จำได้ แต่อัลไซเมอร์ วางสิ่งของไว้ในที่แปลกๆ และนึกไม่ออก บางทีเอาแว่นไปอยู่ในตู้เย็น ปัญหาที่เจอมากที่สุด คุณหมอยกตัวอย่างของมีค่า คนเป็นอัลไซเมอร์จะมีความรู้สึกลึกๆ ว่าจะมีคนขโมย จึงเอาไปซ่อน แล้วลืม สุดท้ายหายจริงๆ

8. การตัดสินใจแปลกๆ แก้ปัญหาได้ไม่ดี

 บางคนเล่นหุ้น ลงทุนการเงิน แต่ทำไม่ได้แล้ว เลือกเสื้อผ้าแต่งตัวไม่เข้ากันอย่างประหลาด บุคลิกเปลี่ยน

9. หลีกหนีสังคม

ทำตัวออกห่างจากกลุ่มเพื่อนจากกิจกรรมที่เคยชอบ อย่างไม่มีเหตุ ไม่อยากออกจากบ้าน ลึกๆ กังวลไม่รู้จะทำตัวอย่างไร

10. บุคลิกเปลี่ยน จากใจดีกลายเป็นคนเกรี้ยวกราด เสียงดัง ใจน้อย จากสะอาดเป็นสกปรก