รู้ทัน "โรคหัวใจ" ไม่ให้เสี่ยง เนื่องในวันหัวใจโลก 2022
"โรคหัวใจ และหลอดเลือด" เป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 1 ของคนทั่วโลก ในแต่ละปีจะมีคนเสียชีวิตประมาณ 18.6 ล้านคน โดยคนไทยป่วยเป็น "โรคหัวใจ และหลอดเลือด" ประมาณ 430,000 คนต่อปี และเสียชีวิตมากกว่า 20,000 คนต่อปี
เนื่องใน วันหัวใจโลก (World Heart Day 2022) 29 กันยายน 2565 สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) ได้กำหนด Theme รณรงค์คือ Use Heart for Every Heart ดูแลหัวใจทุกดวง ด้วยสุขภาพใจที่แข็งแรง เพราะ โรคหัวใจ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และทั่วโลก ดังนั้นการดูแลหัวใจของทุกคนให้แข็งแรง และคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์ จะทำให้หัวใจแข็งแรง นำมาซึ่งสุขภาพที่ดี และอายุที่ยืนยาว
วันนี้ (29 ก.ย.65) นพ. เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวในงานแถลงข่าว “วันหัวใจโลก” ณ ห้องประชุม 7R-1 โรงพยาบาลกรุงเทพ (สำนักงานใหญ่) โดยระบุว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคยอดฮิตของคนไทย เป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 1 ของคนทั่วโลก ในแต่ละปีจะมีคนเสียชีวิตประมาณ 18.6 ล้านคน โดยคนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดประมาณ 430,000 คนต่อปี และเสียชีวิตมากกว่า 20,000 คนต่อปี
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มาเฉียบพลัน ด้วยอาการหลอดเลือดหัวใจ จะมาด้วยอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก บางคนเหนื่อยง่าย ขณะที่ ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะมาด้วยอาการเป็นลม ใจสั่น หน้ามืด โดยโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มีผู้ป่วยนอก (OPD) เฉลี่ย 300-400 คนต่อวัน
สาเหตุการเกิดโรคหัวใจ
ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสาเหตุการเกิดโรคหัวใจว่า เกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน ที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการเกิด โรคหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจ คือ
- อายุ
- เพศ
- ประวัติครอบครัว
- ระดับความดันโลหิต
- ระดับน้ำตาลในเลือด
- ระดับไขมันในเลือด
- ภาวะอ้วน
โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความเครียดหรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือระดับความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์
รู้ทัน "หัวใจวาย"
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เผยว่า ภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวเกิดจากการที่หัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงได้เพียงพอ ซึ่งความรุนแรงของโรคมีทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง ดังนั้นการสังเกตอาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากรู้เร็วย่อมดูแลตัวเองได้ถูกวิธี และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากหัวใจวายได้
สาเหตุหัวใจวาย
- เส้นเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตันเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง
- ลิ้นหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบรุนแรง ทำให้การสูบฉีดเลือดลดลง หรือลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน ทำให้ปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลง
- กลุ่มโรคต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ
- ผู้หญิงครรภ์เป็นพิษ
อาการต้องสังเกตก่อนหัวใจวาย
ทั้งนี้ 3 อาการต่อไปนี้อาจกำลังบ่งบอกว่าหัวใจกำลังจะวายหรือล้มเหลว จึงควรสังเกตอย่างใกล้ชิด ได้แก่
1. เหนื่อยง่าย อาการเหนื่อยอาจบ่งบอกว่าหัวใจมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งความรุนแรงของโรคมักจะสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำ หากมีอาการเหนื่อยอยู่ตลอดเวลามักจะสื่อถึงความผิดปกติที่รุนแรง
2. แสบแน่นหน้าอก จุกแน่นลิ้นปีอาการแสบแน่นหน้าอกที่บ่งบอกว่าหัวใจขาดเลือด ส่วนใหญ่จะแน่นบริเวณกลางหน้าอก อาจมีปวดร้าวจากคอขึ้นไปกราม มีอาการตึงๆ ชาๆ ที่หัวไหล่ไปถึงช่วงแขน รู้สึกเหมือนมีของหนักทับ หากมีอาการเหล่านี้นานเกิน 20 นาที อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง
3. อึดอัดเวลานอนราบ อาการอึดอัดเวลานอนราบอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าปริมาณน้ำในหัวใจเพิ่มขึ้นจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติค่อนข้างรุนแรง
ตรวจเช็กหัวใจเรื่องสำคัญ
สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มที่เส้นเลือดหัวใจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบกับสุขภาพในอนาคตได้ จึงแนะนำให้ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากรู้ถึงความเสี่ยงโรคหัวใจโดยเร็ว ย่อมสามารถปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม พบแพทย์เพื่อตรวจเช็กหัวใจเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้หัวใจแข็งแรงได้ในระยะยาว
กัญชากับโรคหัวใจ
ขณะเดียวกัน ในด้านกัญชา แม้จะมีการใช้ทางการแพทย์ในส่วนของผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะระยะสุดท้าย เพื่อลดอาการเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม กัญชากับโรคหัวใจนั้น นพ.เกรียงไกร อธิบายว่า กัญชามีผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะทำให้เสียชีวิตได้หากใช้ในปริมาณที่สูง ส่วนใหญ่พบว่า จะมีการใช้กัญชาร่วมกับแอลกอฮอล์ และใช้ขนาดสูงเกินไปกลุ่มที่กังวลมากคือ กลุ่มผู้ที่อายุยังน้อย น่าห่วงในระยะยาว
ผลข้างเคียงของการใช้กัญชาคือ หากใช้ปริมาณมากเกินไปจะทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นเร็วผิดจังหวะรุนแรงได้โดยเฉพาะในผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ก่อนแล้วสารในกัญชาจะกระตุ้นให้เกิดหลอดเลือดหัวใจหดตัวรุนแรง ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
นอกจากนี้ ในผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องระมัดระวัง และปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กัญชาเพราะโรคประจำตัวในแต่ละบุคคลมีความซับซ้อน และอาจต้องใช้ยาหลายชนิดในเวลาเดียวกันหากใช้กัญชาอาจมีผลกับยาอื่นที่กำลังใช้อยู่ได้
ดูข้อมูลเพิ่มเติ่ม : กัญชา กาเฟอีน ทำเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
รู้เลขเสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ
กรมควบคุมโรค เน้นย้ำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง รู้เลขเสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ (Know Your Numbers & Know Your Risks)
- รู้ค่าน้ำหนัก
- ส่วนสูง
- ระดับความดันโลหิต
- ระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด
ไม่สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการดูแลสุขภาพ
นอกจากนี้ ประชาชนควรเลือกรับประทานอาหารลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีวิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม และควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีทุกๆ ปีเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อในระยะต้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์